Open house Open world EP.01 ทำไมประเทศแถบสแกนดิเนเวียดีที่สุดต่อการเติบโตของเด็ก

01 เมษายน 2021 193 ครั้ง

Open house Open world EP.01 ทำไมประเทศแถบสแกนดิเนเวียดีที่สุดต่อการเติบโตของเด็ก

ทำไมประเทศแถบสแกนดิเนเวียดีที่สุดต่อการเติบโตของเด็ก

ทีมวิจัยจากนิตยสาร CEOWORLD ร่วมกับ Global Business Policy Institute จัดอันดับประเทศที่ดีที่สุดในโลกต่อการเติบโตของเด็ก จาก 159 ประเทศทั่วโลก (เอเชีย, ยุโรป, อเมริกา, โอเชียเนีย, ตะวันออกกลาง และแอฟริกา) โดยมีประเทศจากสแกนดิเนเวียติดโผเข้ามา 5 ประเทศ และครองพื้นที่ใน 3 อันดับแรก

 

1.สวีเดน 2.เดนมาร์ก 3.นอร์เวย์ 4.เนเธอร์แลนด์ 5.สวิตเซอร์แลนด์ 6. ฟินแลนด์ 7.สวิตเซอร์แลนด์ 8.ไอซ์แลนด์ 9.ออสเตรเลีย 10.สหราชอาณาจักร

 

ส่วนญี่ปุ่น ซึ่งเป็นชาติในเอเชียที่มีอันดับสูงสุด อยู่ในอันดับ 13 เหนือกว่าเยอรมนีที่อยู่อันดับ 14 และสหรัฐอเมริกาในอันดับ 15  ขณะที่ไทยเป็นชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีอันดับสูงสุด (อันดับที่ 40) และถ้าเทียบเฉพาะชาติในเอเชียด้วยกัน เป็นรองแค่ ญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ และเกาหลีใต้เท่านั้น

 

การจัดอันดับครั้งนี้มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณา 12 อย่าง ประกอบด้วย ระบบการศึกษา ความปลอดภัย ความเท่าเทียมทางเพศ สภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ ความสุข ค่าใช้จ่าย การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพสุขอนามัยและสุขาภิบาล กฎหมายที่เหมาะกับครอบครัว  สวัสดิการที่เอื้อต่อการลางานของคุณพ่อคุณแม่  สภาพคล่องทางการเงิน เสรีภาพในการเลือกคู่ครอง และสิทธิมนุษยชน

 

ปีนี้ สวีเดนซึ่งมีประชากรแค่ 10 ล้านกว่าคน ครองอันดับ 1 เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ด้วยคะแนน 98.6 จาก 100 คะแนน โดยหมวดสิทธิมนุษยชน และสภาพแวดล้อม ได้คะแนนเต็ม ขณะที่ค่า GDP ต่อหัวก็สูงถึงเกือบ 53,000 ดอลลาร์สหรัฐ (1.59 ล้านบาท)  ทำให้สวีเดนมีมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยเด็กสูงมาก และยังมีโครงสร้างพื้นฐานด้านการศึกษาและสาธารณสุขที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งด้วย

 

 

เหตุที่ประเทศในแถบสแกนดิเนเวียติดอันดับอยู่หัวแถวตลอด

 

●      ระบบประกันสังคม ฟินแลนด์มีการมอบกล่อง Baby Box เป็นของขวัญให้กับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์  ซึ่งมีเสื้อผ้า ของใช้จำเป็นสำหรับเด็กแรกเกิด รวมถึงหนังสือนิทานเด็กด้วย  รวมแล้วมีข้าวของเครื่องใช้มากถึง 64 ชิ้น โดยสวัสดิการแบบนี้มีมาตั้งแต่ยุคทศวรรษที่ 1930 รวมถึงมีนโยบายให้บริการรับดูแลเด็ก ๆ ในช่วงที่คุณพ่อคุณแม่ทำงานโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ตั้งแต่อายุ 8 เดือนไปจนถึงอายุ 7 ขวบ

 

 

●      สวัสดิการเรื่องวันลา สวีเดนให้สิทธิ์ลาคลอดนานถึง 16 เดือน ทั้งพ่อและแม่ และเป็นการลาที่มีสิทธิ์ได้รับเงินเดือน โดยช่วงปีแรกจะได้รับเงิน 80 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน และยังได้รับเงินค่าเลี้ยงดูบุตรอีกเดือนละ 113 ดอลลาร์สหรัฐ (3,400 บาท) รวมถึงมีสิทธิ์ได้เงินเพิ่มด้วยถ้าต้องลาเพื่อมาดูแลลูกที่ป่วย โดยยังได้รับค่าจ้างในเรต 80 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน

 

 

●      ไอซ์แลนด์มีการจ่ายเงินสงเคราะห์บุตรให้เหมาะสมกับรายได้ที่แท้จริงของพ่อและแม่ โดยจะมีการประเมินรายได้ปีละ 2 ครั้ง เพื่อพิจารณาค่าสงเคราะห์บุตรให้เป็นไปตามจริง  ซึ่งพ่อแม่เด็กมีสิทธิลาเพื่อเลี้ยงลูกได้ คนละ 3 เดือน และลาร่วมกันได้อีก 3 เดือน

 

 

●      ค่าใช้จ่ายในการฝากลูกที่เนิร์สเซอรี, โรงเรียนอนุบาล รัฐบาลเดนมาร์กมีการกำหนดไว้ชัดเจนว่า ให้จ่ายเพียงแค่ 30 เปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่ายจริง  ซึ่งค่าธรรมเนียมที่จ่ายกันจะไม่เกิน 590 ดอลลาร์ (17,700 บาท)

 

 

●      ในนอร์เวย์ พ่อแม่มีสิทธิ์รับเงินสงเคราะห์บุตร 123 ดอลลาร์ (3,700 บาท) ต่อเดือน แต่ถ้าเป็นคุณพ่อคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว จะได้เงินในส่วนนี้เป็นสองเท่า หรือถ้าต้องลางานเพื่อเลี้ยงลูก จะได้รับเงินเดือนแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย ในช่วง 44 สัปดาห์แรก หรือจะเลือกรับเงินเดือน 80 เปอร์เซ็นต์ เพื่อขอลายาว 54 สัปดาห์ ก็ได้เช่นกัน

 

 

การเรียนการสอนของประเทศในสแกนดิเนเวีย เดนมาร์กถือเป็นประเทศแรกที่บุกเบิกการสอนนอกห้องเรียนที่เรียกว่า Forest School หรือโรงเรียนในป่า ซึ่งเป็นโรงเรียนทางเลือกที่ส่งเสริมให้เด็ก ๆ ได้ใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติ ป่าเขา และกิจกรรมกลางแจ้ง นอกจากนี้ ยังเน้นให้เรียนรู้การเล่นกับสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในธรรมชาติมากกว่าจะไปเล่นของเล่นที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ

 

 

ขณะที่สวีเดนเป็นประเทศต้นแบบของหลายประเทศ จากที่ไม่เร่งรัดให้เด็กเรียนหนังสือเร็วจนเกินไป เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาในการเรียนรู้ในภายหลัง โดยจะให้เด็กได้มีประสบการณ์เรียนรู้ผ่านการเล่นก่อน และจะเริ่มเรียนตอนอายุ 7 ขวบ

 

 

นอกจากนี้ จะไม่มีการลงโทษเด็กด้วยการตีด้วย โดยสวีเดนเป็นชาติแรกในโลกที่บังคับใช้กฎหมายนี้ ในปี 1979 หรือเมื่อ 42 ปีที่แล้ว ซึ่งตอนนี้มี 65 ประเทศทั่วโลกที่ตามรอยสวีเดน โดยมีกินีเป็นประเทศล่าสุดที่เพิ่งบังคับใช้กฎหมายนี้ ขณะที่เวลส์ผ่านร่างกฎหมายแล้ว และน่าจะมีผลบังคับใช้ในปีหน้า

 

 

การลงโทษเด็กด้วยการตี ไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้อง ซึ่งมีผลการศึกษาพบว่าเด็กที่โดนตีหรือถูกลงโทษบ่อย ๆ นอกจากจะแสดงอาการต่อต้านพ่อแม่ ครูอาจารย์ ยังมีปัญหาด้านสุขภาพจิต รวมถึงมีพฤติกรรมต่อต้านสังคมตามมาด้วย

 

 

ขณะที่เรื่องของความเท่าเทียมกันทางเพศเป็นสิ่งที่สวีเดนให้ความสำคัญด้วย โดยจะปฏิบัติกับเด็กผู้ชายและผู้หญิงอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งเนิร์สเซอร์รี่หลายแห่งก็มีนโยบายแบบ Gender Neutral คือไม่ระบุว่าเด็กเป็นเพศใดเพศหนึ่ง เพื่อไม่เป็นการแบ่งแยกทางเพศ

 

 

เมื่อเด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดี สุขภาพจิตดี ได้เรียนในระบบการเรียนการสอนที่ดี มีสวัสดิการรัฐที่ดี ก็ย่อมเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ เวลามีการจัดอันดับประเทศที่มีความสุขมากที่สุดในโลก ประเทศในสแกนดิเนเวียมักติดอันดับท็อปอยู่เสมอ นับตั้งแต่มีการจัดอันดับกันในปี 2012

 

 

ล่าสุดในปี 2020 จากการจัดอันดับของ Gallup บริษัททำโพลชื่อดัง ฟินแลนด์คว้าอันดับ 1 เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ส่วนอันดับ 2 เดนมาร์ก 3. สวิตเซอร์แลนด์ 4. ไอซ์แลนด์ 5. นอร์เวย์ 6. เนเธอร์แลนด์ 7. สวีเดน ซึ่งมีประเทศในสแกนดิเนียติดอันดับท็อปถึง 5 ประเทศ

 

 

ที่น่าสังเกตคือประเทศเหล่านี้มีประชากรน้อยทั้งสิ้น โดยไอซ์แลนด์มีประชากรน้อยที่สุดแค่ 343,353 คน ขณะที่ประเทศอื่น ๆ มีประชากรอยู่ในหลักล้านแบบเลขตัวเดียว มีแค่สวีเดนที่มีประชากรมากสุดที่ 10 ล้านกว่าคน นั่นจึงทำให้การดูแลจากภาครัฐสามารถทำได้อย่างทั่วถึง จึงลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนในประเทศได้

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  นรกมล ดิษยบุตร

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ถอดเทปเสียง: นรกมล ดิษยบุตร

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

OTHER