Open house Open world EP.02 ผลศึกษาพบเด็กที่มีพ่อแม่ LGBTQ มีผลการเรียนดีกว่าเด็กที่มีพ่อแม่ตามเพศสภาพ

14 เมษายน 2021 53 ครั้ง

Open house Open world EP.02 ผลศึกษาพบเด็กที่มีพ่อแม่ LGBTQ มีผลการเรียนดีกว่าเด็กที่มีพ่อแม่ตามเพศสภาพ

เด็กที่เติบโตมาโดยการเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่เป็นชายรักชาย หญิงรักหญิงจะส่งผลดีหรือเสียมากกว่ากัน เมื่อเทียบกับการมีพ่อแม่ตามเพศสภาพปกติ หาคำตอบได้ใน Open house Open world EP.02 ผลศึกษาพบเด็กที่มีพ่อแม่ LGBTQ มีผลการเรียนดีกว่าเด็กที่มีพ่อแม่ตามเพศสภาพ

ปัจจุบันสังคมเปิดกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ทำให้คู่รักเพศเดียวกันตัดสินใจใช้ชีวิตคู่อย่างเปิดเผย รวมถึงรับเด็กมาอุปการะเป็นลูกบุญธรรมเพื่อเติมเต็มชีวิตครอบครัวให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

 

 

เรื่องที่นำมาฝากกันเชื่อว่าจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับคู่รัก LGBTQ ที่มีความหลากหลายทางเพศได้มากขึ้นว่า ลูกของตนเองจะสามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ แม้ว่าคนจำนวนมากเชื่อว่าคู่รัก LGBTQ ไม่สามารถเป็นพ่อแม่ที่ดีหรือสมบูรณ์แบบได้

 

 

แต่ที่ผ่านมามีผลการศึกษาหลายชิ้นที่ยืนยันตรงกันว่า เด็ก ๆ ที่มีพ่อแม่เพศเดียวกันเป็นเด็กที่มีผลการเรียนดีกว่าเด็กที่มีพ่อแม่ตามเพศสภาพ ซึ่งงานวิจัยล่าสุดเป็นความร่วมมือกันของมหาวิทยาลัยอ็อกเฟิร์ด ในอังกฤษ และมหาวิทยาลัยมาสทริค ของเนเธอร์แลนด์

 

 

โดยทีมวิจัยร่วมกันศึกษาเรื่องนี้ที่เนเธอร์แลนด์ เพราะเป็นประเทศแรกของโลกที่มีกฎหมายให้คู่รักเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ตั้งแต่ปี 2001 ด้วยการเก็บข้อมูลจากเด็ก ๆ จำนวน 2,786 คน ที่มีพ่อแม่เป็นคู่เลสเบี้ยน กับเด็กอีก 185 คน ที่มีพ่อแม่เป็นคู่เกย์ ควบคู่กับการเก็บข้อมูลเด็ก ๆ ที่มีพ่อแม่ตามเพศสภาพปกติอีก 1 ล้านคน ซึ่งเด็กทั้งหมดเกิดระหว่างปี 1998-2007 จากนั้นได้มีการติดตามผลการเรียนของพวกเขาไปจนถึงปี 2019 ซึ่งเท่ากับว่าเด็ก ๆ จะมีอายุ 12-21 ปี

 

 

จากผลการวิจัยพบว่า สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของคู่รักที่เป็นเพศเดียวกัน ถือว่ามีบทบาทสำคัญที่ทำให้เด็ก ๆ เรียนหนังสือได้ดี โดยส่วนใหญ่มักจะร่ำรวย มีการศึกษาสูง และค่อนข้างมีอายุมากกว่าคู่รักต่างเพศทั่วไป ซึ่งการรับอุปการะเลี้ยงดูเด็กสักคน ย่อมหมายความว่า พวกเขาพร้อมที่จะแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็กจนเติบโต จึงต้องมีเงินเหลือใช้มากพอ รวมถึงต้องฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ ในทางกฎหมายมากกว่าคู่รักที่ต่างเพศด้วย ทำให้มีความมุ่งมั่นในการเลี้ยงดูเด็กที่มากกว่า

 

 

นอกจากนี้ คู่รักเพศเดียวกันมักจะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมเหมือนอย่างคู่รักต่างเพศที่มีลูกโดยไม่ตั้งใจด้วย จึงส่งผลให้การอบรมเลี้ยงดูเป็นไปในเชิงบวก เพราะทั้งคู่ต่างต้องการมีลูกจึงให้ความรักและเอาใจใส่อย่างเต็มที่ 

 

 

ขณะที่ผลการศึกษาอีกชิ้นโดยนักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเลอเวิร์นในเบลเยียม ก็ออกมาสอดคล้องกัน หลังจากติดตามผลการเรียนของเด็กที่เกิดในเนเธอร์แลนด์ ในปี 1995-2005 และพบว่าทำคะแนนสอบได้ดีกว่าทั้งในระดับประถมและมัธยม และมีแนวโน้มที่จะสำเร็จการศึกษาจากไฮสคูลได้มากกว่าเด็กที่เลี้ยงดูโดยคู่รักต่างเพศถึงร้อยละ 6.7

 

 

โดยงานวิจัยชิ้นนี้ประกอบด้วยข้อมูลเกี่ยวกับผลการเรียนของเด็ก รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ของพ่อแม่ และครอบครัวของเด็กที่มีพ่อแม่เป็นคู่รักเพศเดียวกัน จำนวน 1,200 คน เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับเด็กกว่า 1 ล้านคนที่เลี้ยงดูโดยคู่รักต่างเพศ

 

 

นอกจากจะไม่ต้องห่วงเรื่องการเรียนแล้ว เรื่องสุขภาพกาย สุขภาพจิต รวมถึงความเป็นอยู่ในสังคม ก็ยังหายห่วงด้วย ซึ่งจากการศึกษาโดยมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ในออสเตรเลีย เมื่อปี 2014  พบว่า เด็กที่มีพ่อแม่เป็นเกย์หรือเลสเบี้ยนได้คะแนนอยู่ในเกณฑ์บวกทั้งหมด ซึ่งก็เป็นเพราะครอบครัวที่มีพ่อแม่เป็นเพศเดียวกันจะช่วยกันดูแลลูกอย่างเท่าเทียมกัน และไม่ค่อยทะเลาะเบาะแว้งกัน จึงส่งผลต่อความเป็นอยู่ของเด็ก ๆ ที่ดีตามไปด้วย  โดยเด็ก ๆ จะมีความเคารพในตัวเอง ไม่เกเร และมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีด้วย 

 

 

ถ้าใครเป็นกังวลว่าการที่มีพ่อแม่เป็นคู่รักเพศเดียวกันจะส่งผลต่อการเลือกเพศของลูกด้วยหรือเปล่า ก็สบายใจกันได้ เพราะเคยมีงานวิจัยมาแล้วเมื่อหลายปีก่อนว่าพ่อแม่ที่เป็นเกย์หรือเลสเบี้ยน ไม่ได้ทำให้เด็กที่รับมาเป็นลูกมีความเบี่ยงเบนทางเพศ

 

 

โดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคนตักกี้ ในสหรัฐอเมริกา ทำการศึกษาครอบครัวที่พ่อแม่มีความหลากหลายทางเพศ โดยสังเกตพฤติกรรมเด็กจากของเล่นที่เด็ก ๆ แต่ละครอบครัวชอบเล่นในช่วงอายุ 3-5 ขวบ

 

 

นอกจากนี้ ก็ให้ผู้ปกครองของเด็กตอบแบบสอบถามต่าง ๆ เพื่อเป็นการประเมินเพศของเด็กด้วย จากนั้นมาติดตามผลในอีก 5 ปีถัดมา ด้วยการสัมภาษณ์เด็ก ๆ เหล่านั้น เพื่อประเมินว่าการมีพ่อแม่เป็นคู่รักเพศเดียวกันจะส่งผลต่อเพศของเด็กด้วยหรือไม่

 

 

จากผลการศึกษานี้พบว่า เพศสภาพของพ่อแม่ที่เป็นเกย์หรือเลสเบี้ยนไม่ได้มีอิทธิพลในการทำให้เด็กมีความเบี่ยงเบนทางเพศ  เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่เติบโตในครอบครัวที่ชายหญิงแต่งงานกัน ซึ่งรสนิยมทางเพศของพ่อแม่ไม่ได้ส่งผลใด ๆ เพราะว่าพัฒนาการทางเพศของเด็กที่ถูกรับไปเลี้ยงดูโดยพ่อแม่ที่เป็นเพศเดียวกันค่อนข้างจะคล้ายคลึงกับครอบครัวทั่วไป แต่สิ่งที่จะมีผลต่อการเลือกเพศของลูก กลับเป็นของเล่นที่ลูกให้ความสนใจในวัยเด็ก และพฤติกรรมของตัวเด็กเองมากกว่า

 

 

ทุกวันนี้ ไม่ได้มีแค่เนเธอร์แลนด์เท่านั้นที่มีกฎหมายให้คู่รักเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ แต่ปัจจุบันมีด้วยกันทั้งหมด 29 ประเทศ  ซึ่งรวมถึงไต้หวันที่เป็นเอเชียเพียงชาติเดียวด้วย

 

 

ส่วนในบ้านเรา  แม้ว่าสังคมให้การยอมรับเรื่องเพศที่สามในวงกว้างมากขึ้น แต่ในแง่กฎหมายยังไม่มีบทบัญญัติที่รับรองการสมรสของเพศเดียวกัน หรืออนุญาตให้รับเด็กมาอุปการะเป็นลูกบุญธรรมได้

 

 

โดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์  ส่วนมาตรา 1458 ระบุว่าการสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายหญิงยินยอมเป็นสามีภรรยากัน และต้องแสดงการยินยอมนั้นให้ปรากฏโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียน และให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้ ซึ่งทั้งสองมาตราล้วนระบุเพศไว้อย่างชัดเจนว่า ให้สิทธิ์ในการแต่งงานเฉพาะชายกับหญิงเท่านั้น

 

 

แม้ว่าปัจจุบันไทยยังไม่มีกฎหมายรับรองการแต่งงานคู่รักเพศเดียวกัน แต่สิ่งที่ชาว LGBTQ ให้ความสนใจมากกว่าคือการผลักดันพระราชบัญญัติคู่ชีวิตให้บังคับใช้เป็นกฎหมายอย่างเป็นรูปธรรม เพราะมองว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่กลุ่มเพศทางเลือกควรได้รับอย่างชอบธรรมและเท่าเทียมไม่ต่างจากคู่รักชายหญิงที่มีกฎหมายรับรอง

 

 

พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่กลุ่ม LGBTQ พยายามผลักดันนั้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้คู่รักได้จดทะเบียนคู่ชีวิตกัน เพื่อจะได้อยู่ด้วยกันเป็นครอบครัว และสามารถช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามกฎหมายได้ และมีผลทางกฎหมายไม่ต่างจากคู่สามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรสกัน

 

 

หากร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตผ่านความเห็นชอบและบังคับเป็นกฎหมายก็คาดว่าจะมีคนไทยได้รับประโยชน์จากกฎหมายคู่ชีวิตนี้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน จากข้อมูลที่โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ประเมินเอาไว้

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  นรกมล ดิษยบุตร

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ถอดเทปเสียง: นรกมล ดิษยบุตร

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

OTHER