พลิกแฟ้มคดีปวดใจ EP.10 แม่ยกลูกเป็นลูกบุญธรรมคนอื่น โดยไม่บอกพ่อ

12 พฤศจิกายน 2020 262 ครั้ง

พลิกแฟ้มคดีปวดใจ EP.10 แม่ยกลูกเป็นลูกบุญธรรมคนอื่น โดยไม่บอกพ่อ

Q : นายเอ ทำงานที่ต่างประเทศ  นาน ๆ จะติดต่อทางบ้านสักครั้งหนึ่ง ต่อมาภรรยาเสียชีวิต โดยที่นายเอมาทราบตอนหลังว่า ภรรยาได้ยกลูกตนเองให้เป็นลูกบุญธรรมของพี่สาว นายเอสามารถคัดค้านได้หรือไม่

A : หลักของการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมจะต้องให้บิดามารดา (ของบุตรบุญธรรม) มาให้ความยินยอม คือ พ่อแม่ที่จดทะเบียนสมรสกันต้องมาเซ็นทั้งสองฝ่าย

 

กรณีที่จดทะเบียนรับรองบุตรบุญธรรมโดยที่ผู้เป็นพ่อไม่รู้เรื่องด้วย ก็แปลว่า เขาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน เพราะฉะนั้น ผู้เป็นแม่เพียงคนเดียวก็สามารถให้การยินยอมให้ลูกตัวเองไปเป็นบุตรบุญธรรมของพี่สาวได้

 

เว้นแต่ว่าผู้เป็นแม่อาจจะไปแจ้งความเท็จ ในกรณีที่พ่อแม่มีการจดทะเบียนสมรสกัน แต่ผู้เป็นแม่ไปแจ้งกับนายทะเบียนผู้รับจดทะเบียนบุตรบุญธรรมว่า ลูกไม่มีพ่อที่ถูกต้อง ทางกฎหมาย คือ แต่งงานกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส นายทะเบียนก็อาจจะรับจดทะเบียนให้ นั่นก็แสดงว่าแม่อาจแจ้งรายละเอียดไม่ถูกต้อง

 

และการกระทำที่ไม่ถูกต้อง มันก็จะทำให้เสียหาย และการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมนั้นก็จะเสียไปด้วย หรือเป็นโมฆะ

 

เหตุที่เรียกว่าเป็นโมฆะ เพราะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย สาเหตุเกิดจากการแจ้งความเท็จ

แต่ถ้าปรากฏว่า เรื่องนี้เขาอาจจะไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน เขาเลยไปจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมได้

 

การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมนั้นเงื่อนไข คือ ผู้รับบุตรบุญธรรมกับผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมต้องมีอายุห่างกันไม่น้อยกว่า 15 ปี และผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมจะต้องแสดงเจตนาได้ (โตพอสมควรแล้ว) ซึ่งตัวบุตรบุญธรรมก็จะต้องให้การยินยอมด้วยนอกจากพ่อแม่แล้ว

 

แต่ถ้าเด็กที่ไม่สามารถแสดงเจตนาได้ คือ ยังเป็นทารกอยู่ ก็ไม่จำเป็น ซึ่งเป็นสิทธิของผู้เป็นแม่ที่จะมอบให้ได้

 

ทั้งนี้ การที่จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมก็ไม่ได้ทำให้ผู้เป็นพ่อแม่ที่แท้จริงเสียสิทธิแต่อย่างใดและบุตรบุญธรรมก็ได้สิทธิรับมรดกของพ่อแม่บุญธรรมด้วย ในกรณีที่พ่อแม่บุญธรรมเสียชีวิตเพราะถือว่าเป็นลูกที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว (จดทะเบียนแล้ว) การรับบุตรบุญธรรมสามารถยกเลิกได้

 

ในกรณีนี้ที่พ่อกลับมาจากทำงานต่างประเทศ และเพิ่งมารู้ว่าภรรยายกลูกให้เป็นบุตรบุญธรรม ผู้อื่น ถ้าเกิดการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมนั้นถูกต้อง คือ พ่อกับแม่ไม่ได้มีการจดทะเบียนสมรสกัน แม่ไปให้ความยินยอมคนเดียวได้ เท่ากับว่าการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมนั้นเป็นไปอย่างถูกต้อง

 

เมื่อถามว่าสามารถยกเลิกได้หรือไม่? คำตอบคือ ยกเลิกได้ แต่เงื่อนไขก็จะเยอะกว่า คือ

ตัวผู้เป็นพ่อต้องทำตัวเองให้ถูกกฎหมาย คือต้องไปรับรองบุตรว่าเป็นลูกของตัวเองที่แท้จริงก่อน

 

แต่เมื่อเกิดกรณีผู้เป็นแม่เสียชีวิตไปแล้วก็จะต้องมาดูว่า เด็กผู้เป็นบุตรบุญธรรมนั้นบรรลุนิติภาวะหรือยัง ถ้าบรรลุนิติภาวะแล้ว ตัวของเด็กก็สามารถให้ความยินยอมได้เลยว่า จะกลับไปเป็นลูกของพ่อตามกฎหมาย

 

แต่เรื่องของทะเบียนบุตรบุญธรรมนั้นยังไม่จบเพราะยังผูกพันอยู่

 

ถ้าเกิดผู้เป็นบุตรบุญธรรมจะยอมกลับไปเป็นลูกที่แท้จริงของพ่อ ก็ให้ผู้เป็นพ่อจดทะเบียนรับรองบุตรไว้

 

ทั้งนี้หากลูกไม่สามารถให้ความยินยอมได้ คือ ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (เป็นเด็ก-ยังไม่รู้เรื่อง) ผู้เป็นพ่อก็ต้องไปร้องกับศาล เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้จดทะเบียนเป็นบุตร

 

เมื่อจดทะเบียนเป็นบุตรเรียบร้อยก็ถือว่าเป็นพ่อโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ก็สามารถที่จะมาขอยกเลิกการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมได้

 

ส่วนการยกเลิกรับเป็นบุตรบุญธรรมของผู้รับนั้นก็จะต้องมีเหตุทางกฎหมาย เช่น ผู้รับบุตรบุญธรรมกับผู้เป็นบุตรบุญธรรมเกิดเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน มีการทำร้ายร่างกายกัน หรือเป็นปฏิปักษ์เกี่ยวกับเรื่องของทรัพย์สิน ถ้าเกิดให้เป็นบุตรบูญธรรมต่อไปจะเป็นเรื่องเสียหาย ก็สามารถไปฟ้องขอให้ยกเลิกการรับบุตรบุญธรรมได้

 

ผู้เป็นบุตรบุญธรรมนอกจากได้สิทธิในฐานะที่ตัวเองเป็นบุตรบุญธรรม มีสิทธิที่จะได้รับมรดกของพ่อแม่บุญธรรมแล้ว ก็ยังมีสิทธิที่ได้รับมรดกจากพ่อแม่ที่แท้จริงของตัวเองด้วย เพราะยังถือเป็นทายาทมีสิทธิที่จะได้รับมรดก

 

แต่ในทางกลับกัน ถ้าเกิดปรากฏว่าบุตรบุญธรรมเสียชีวิต พ่อแม่บุญธรรมไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของลูกบุญธรรม เพราะทรัพย์มรดกของลูกบุญธรรมจะกลับไปที่พ่อแม่ที่แท้จริง

เว้นแต่ว่ามีการเขียนพินัยกรรมเอาไว้ก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ก็จะได้รับไปตามพินัยกรรม

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  อ.ชัยยง อัชฌานนท์ อดีตกรรมการสภาทนายความ และ คุณนฤมล พุกยม 

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ถอดเทปเสียง: เจษฎา สดครั่ง

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

 

OTHER