เรื่องลับเจ้าตัวเล็ก EP.06 คุยกับลูกอนุบาลเรื่องโควิด

31 มีนาคม 2020 338 ครั้ง

เรื่องลับเจ้าตัวเล็ก EP.06 คุยกับลูกอนุบาลเรื่องโควิด

พูดคุยกับลูกน้อยอย่างไร ให้เข้าใจสถานการณ์โควิด-19

ตอนนี้คงไม่มีบ้านไหนที่ไม่คุยกันเรื่อง Covid-19 เพราะเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบกับทุกคนบนโลก แม้แต่เด็ก ๆ เอง ถึงแม้จะไม่ได้เป็นผู้รับข่าวสารโดยตรง แต่ก็ได้ยินผู้ใหญ่คุยกันตลอดเวลา รวมถึงบรรยากาศในบ้านก็เปลี่ยนไป เราจะบอกลูกอย่างไรให้เข้าใจสถานการณ์ปัจจุบัน

 

ก่อนอื่นต้องดูก่อนว่า ลูกเราเข้าใจภาษา เข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ ได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าพอคุยกันรู้เรื่อง มีการตอบโต้ตั้งคำถาม ให้พ่อแม่ใช้วิธีตั้งคำถามกลับไปที่ลูก เปิดโอกาสให้ลูกพูดก่อน เช่น ลูกขอออกไปเล่นชิงช้าที่สนามเด็กเล่น แม่ก็จะบอกว่าไปไม่ได้ ซึ่งเด็กก็มักจะถามกลับว่า ทำไม?

 

ใช้โอกาสนี้ถามลูกว่า “หนูคิดว่าทำไมถึงไปไม่ได้คะ” แล้วฟังคำตอบ ถ้าเด็กบอกว่าเป็นเพราะเชื้อโรค พ่อแม่ก็ชื่นชมเขา แล้วก็ใช้วิธีอธิบายเพิ่มเติม สั้น ๆ ง่าย ๆ “เก่งมากค่ะ เป็นเพราะเชื้อโรคตัวเล็ก ๆ ที่อาจจะติดอยู่ที่ชิงช้า พอหนูไปจับ เชื้อโรคก็เกาะที่มือหนู พอหนูเอามือมาจับหน้า

หนูก็หายใจเอาเชื้อโรคที่ทำให้เราไม่สบายเข้าไป” แล้วก็ชวนลูกเล่นอย่างอื่นในบ้านแทน หรือจะต่อยอดไปถึงวิธีการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องไปได้ด้วย

 

การรับรู้ข่าวสาร และความรู้สึกต่อเรื่องโรคระบาด

 

เด็กเล็ก : ถ้าพ่อแม่กลัว พ่อแม่กังวล เด็กจะกลัวและกังวลไปด้วย แต่ถ้าพ่อแม่ไม่กลัว เด็กจะไม่กลัว เราเป็นตัวอย่างที่ดีในการปฎิบัติตัวให้ถูกต้อง

 

เด็กโต : จะรับสื่อจากทางอื่นด้วย แต่ถ้าสัมพันธภาพในครอบครัวดี ลูกจะรับจากครอบครัวก่อนเสมอ สำหรับเด็กโตความกังวลกับเรื่องนี้อาจจะมีมากขึ้น และอาจมีคำถาม เช่น เขาจะตายไหม ถ้าติดเชื้อโรค? ก็ใช้เทคนิคเหมือนกัน คือ ถามก่อนว่าทำไมถึงคิดว่าตาย แล้วค่อยอธิบายว่า โรคนี้เป็นอย่างไร

โอกาสตายน้อยมาก ๆ นะ ถ้าเราเป็นเด็กแข็งแรงด้วยแล้วยิ่งความเสี่ยงน้อย แต่เราก็ต้องป้องกัน แล้วพ่อแม่ก็สอนเรื่องการป้องกันตัวตามมา

 

ความสัมพันธ์ 24 ชั่วโมง

 

ในภาวะแบบนี้ที่เราต้องอยู่บ้านให้มากที่สุด สำหรับครอบครัวที่สัมพันธภาพอาจจะไม่ดีนัก เราก็ต้องมีการปรับตัว ดีที่สุดคือ เลี่ยงประเด็นที่จะทำให้กระทบใจกัน ทำใจเราเองให้สงบ ความสัมพันธ์นั้นก็จะไม่แย่ลง แต่ถ้าบ้านที่มีความสัมพันธ์ที่ดีอยู่แล้ว ก็คงไม่มีปัญหาใด ๆ

 

วิธีดูแลใจตัวเอง ในสถานการณ์ตึงเครียด

 

สิ่งที่สำคัญเลยคือ ทำใจให้สงบ ถ้าใจไม่สงบให้ดูว่า เป็นเพราะอะไร เป็นเพราะข่าวใช่ไหม ถ้าใช่ ให้เสพข่าวแค่วันละครั้งที่สรุปข่าวก็พอ ไม่ต้องอ่านทั้งวันโดยเฉพาะข้อความไลน์เพราะเกือบครึ่งเป็นข่าวปลอม สิ่งที่คุณหมอแนะนำในช่วงนี้คือ ทำตามที่รัฐแนะนำ เพราะผ่านการกลั่นกรองมาแล้วจากหน่วยงานที่เชี่ยวชาญ เพราะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในขณะนี้ และจะทำให้ความเสี่ยงของเราน้อยลงไปด้วย

 

ถ้าทำตามแล้วแต่ยังแอบไปวิตกอีก ก็ให้ถามตัวเองว่า เป็นแล้วไง? เพราะ 80% เป็นคนที่เป็นแล้วหายได้เอง 20% ที่ต้องเข้า รพ. มีแค่ 5% ที่อาการหนัก แล้ว 5% นั้นยังต้องมีความพิเศษอีกด้วย หมายความว่า ให้เราเลือกกังวลแค่ว่าถ้าเรามีผู้สูงอายุอยู่บ้านนั่นเอง ที่เราต้องคอยระวัง เราโชคดีที่เราตกใจเยอะ ทำให้เราเตรียมใจไว้เยอะ ยาก็มีมากแล้ว โรงพยาบาลสนามก็มีการเตรียมแล้ว ตอนนั้นที่จีนยังไม่มียาด้วยซ้ำ ตอนนี้ไม่มีหมอคนไหนไม่รู้เรื่องนี้ อยากให้คิดว่า ถึงแม้จะเป็นก็จะได้รับการรักษา ได้รับการดูแล แต่ดีที่สุดคือ อย่าเป็น ดูแลตัวเองให้ดีที่สุด และวิธีที่จะทำให้คลายเครียดได้ดีที่สุดอีกวิธี คือ เล่นกับลูก

 

ถ้าต้องไกลกัน (เพราะสถานการณ์) ดูแลลูกอย่างไร

 

ปกติถ้าลูกอยู่ใกล้ใคร แล้วคนดูแลทำให้ลูกรู้สึกเต็ม ไม่ขาด ลูกจะไม่นึกถึงคนไกล ฉะนั้นง่าย ๆ ฝ่ายที่ดูแลลูกดูแลให้เต็มที่ ส่วนคนที่อยู่ไกลใช้วิธี VDO Call ก็ได้ค่ะ

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  รศ.พญ.วนิดา เปาอินทร์ และ นันทิญา จิตตโสภาวดี

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย

นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

OTHER