ปลดล็อกกับหมอเวช EP.34 คุยกับคนคิดฆ่าตัวตาย บทเรียนสำหรับครูและพ่อแม่

17 ตุลาคม 2020 268 ครั้ง

ปลดล็อกกับหมอเวช EP.34 คุยกับคนคิดฆ่าตัวตาย บทเรียนสำหรับครูและพ่อแม่

จะทำอะไรได้บ้าง ถ้าบังเอิญไปพบกับคนที่กำลังมีความคิดฆ่าตัวตาย นพ.ประเวช  ตันติพิวัฒนสกุล จะมาแนะนำหลักการ 5 ข้อ ใน ปลดล็อกกับหมอเวช EP.34 คุยกับคนคิดฆ่าตัวตาย บทเรียนสำหรับครูและพ่อแม่

 

โดยปกติการคุยกับคนที่มีความคิดฆ่าตัวตาย ต้องอาศัยทักษะและความเข้าใจ ซึ่งคนที่จะทำหน้าที่นี้ต้องผ่านกระบวนการอบรมที่เข้มข้นเพียงพอ มีคุณภาพ ถึงจะมีการรับรองหรืออนุญาตให้ไปทำหน้าที่พูดคุยกับคนคิดฆ่าตัวตาย แต่ในความเป็นจริง มีคนจำนวนมากที่คิดฆ่าตัวตายที่ไปพบกับคนอื่นที่ไม่ได้ผ่านการอบรม เช่น ครู อาจารย์ หรือพ่อแม่

 

ความคิดฆ่าตัวตายมักผูกกับเรื่องโรคซึมเศร้า จริง ๆ แล้วโรคซึมเศร้า ไม่ได้เป็นโรคที่ผู้ป่วยจะคิดฆ่าตัวตายเสมอไป ในตำราทางจิตเวชระบุว่า โรคซึมเศร้าโดยตัวมันเอง ไม่ได้ทำให้คนเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย แต่ความสิ้นหวังต่างหากที่ทำให้มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย

 

ฉะนั้น คนที่ป่วยเป็นซึมเศร้าก็ไม่ได้เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย แต่คนที่ป่วยเป็นซึมเศร้าที่มีความสิ้นหวัง จึงเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย และเป็นความเสี่ยงที่ค่อนข้างรุนแรง

 

คนที่ไม่ได้ป่วยเป็นซึมเศร้า แต่มีความสิ้นหวัง ก็มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายได้ นี่จึงเป็นเหตุที่คนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จจำนวนมากไม่ได้ป่วยซึมเศร้า

 

 

 

หลักคิด 5 ข้อในการช่วยเหลือคนที่กำลังมีความคิดฆ่าตัวตาย

 

อย่างที่เกริ่นไปข้างต้นว่า ผู้ที่ทำหน้าที่พูดคุยกับคนคิดฆ่าตัวตายได้นั้น ต้องผ่านกระบวนการอบรมที่มีคุณภาพ แต่สำหรับคนที่ไม่ได้ผ่านการอบรม และบังเอิญไปพบกับคนที่กำลังมีความคิดฆ่าตัวตาย คุณจะช่วยอะไรได้บ้าง

 

 

1. คนที่คิดฆ่าตัวตายจะมีความรู้สึกสองจิตสองใจ

 

ด้านหนึ่งที่อยากตาย เพราะชีวิตมีอะไรบางอย่างที่เจ็บปวด เหนื่อยล้า โดดเดี่ยว สิ้นหวัง แต่ในอีกด้านหนึ่งที่ยังไม่อยากตาย ก็มีหลายสาเหตุ เช่น เป็นห่วงพ่อแม่ กลัวคนที่รักเสียใจ กลัวบาป กลัวว่าถ้าฆ่าตัวตายแล้วจะไปเวียนว่ายตายเกิด ฆ่าตัวตายซ้ำ ๆ ไปอีกหลายภพหลายชาติ หรือ รู้สึกว่าการทำลายชีวิตเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

 

หลักการข้อนี้คือ เราแค่รับฟัง รับรู้ เข้าใจความรู้สึกอยากตายของเขาโดยไม่ต้องแก้อะไรเลย แล้วก็ถามถึงส่วนที่ยังตระหนักว่าอยากจะมีชีวิตต่อ โดยหน้าที่ของเราคือ ค้นหาและเสริมพลังให้กับการมีความหมายกับการมีชีวิตอยู่ต่อ

 

คนแต่ละวัยมีสิ่งที่ทำให้อยากมีชีวิตอยู่ต่อไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นคนสูงอายุ มักจะสัมพันธ์กับการได้อยู่ดูลูกหลานเติบโต ซึ่งเป็นแหล่งความสุขที่สำคัญ แต่ถ้าเป็นคนหนุ่มสาว จะอยู่ที่ความสัมพันธ์ ความผูกโยง ความสำเร็จที่ภาคภูมิใจ สิ่งหนึ่งที่ดึงเขาไว้ได้คือ ความกลัว แต่ไม่ใช่ไปกระตุ้นให้เขากลัว อย่าพยายามเปลี่ยนความคิดเขา

 

 

2. ความคิดฆ่าตัวตายไม่ได้มีเท่ากันตลอดเวลา

 

ธรรมชาติของอารมณ์ ความคิดของมนุษย์จะผ่านเข้ามาและผ่านออกไป มีช่วงขึ้นกับช่วงลง ช่วงเวลาที่ความคิดฆ่าตัวตายเกิดขึ้น มักจะมีสิ่งกระตุ้นบางอย่างที่ทำให้มันมีพลัง เช่น คำพูดและการกระทำของคนรอบข้าง หรือเหตุการณ์ตอกย้ำความรู้สึกแย่กับชีวิต หรือบางครั้งก็อาจกระตุ้นจากความนึกคิดภายในใจของเขาเอง เป็นความทรงจำเก่า ๆ ความคิดซ้ำซากวนเวียนที่วิ่งอยู่ในหัว

 

ซึ่งการเรียบเรียงความนึกคิด การมีคนฟังที่เข้าใจ มีเพื่อน การลดความรู้สึกโดดเดี่ยว การค้นหาจุดหมาย จะทำให้ความคิดฆ่าตัวตายอ่อนกำลังลง แค่มีพื้นที่ให้เขาได้รู้สึกว่า มีคนที่ใส่ใจเขา รับฟังเขา

 

ถ้าเรามีความพยายามจะช่วยเขามาก และตั้งใจจะไปสู้กันทางความคิดเพื่อให้เขาเปลี่ยนความคิด สิ่งที่เราพูดคุย อาจกลายเป็นการผลักให้เขาห่างออกไป และทำให้เขาคิดฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นได้ เจตนาดีของเรา อาจกลายเป็นการทำร้ายเขา

 

ฉะนั้น ขอให้ตระหนักในความเป็นธรรมชาติที่มันมาแล้วมันไป อย่าไปรู้สึกว่าเราต้องควบคุมความคิดใคร เรามีหน้าที่เอื้อต่อการที่เขาจะเรียบเรียง ได้เข้าใจ ด้วยการรับฟัง แล้วพลังของความคิดฆ่าตัวตาย จะอ่อนกำลังลง

 

 

3. การเจ็บป่วยทางจิตเวชมีผลต่อความเสี่ยงการฆ่าตัวตาย

 

ดังนั้น การรักษาที่ถูกต้องจะลดความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายลงได้ การแนะนำและช่วยให้เขาได้รับความช่วยเหลือทางจิตเวชที่มีคุณภาพจะเป็นการช่วยเหลือที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง

 

นอกจากนี้ การที่มีคนเข้าใจในชีวิตอยู่รอบตัว ยังถือเป็นแหล่งที่ช่วยเหลือเขาได้ อย่างน้อยก็ลดความรู้สึกโดดเดี่ยว มีกิจกรรมร่วมกันในทางที่ทำให้เขาค้นหาความหมายของการมีชีวิตอยู่ หรืออย่างน้อยก็อดทนเพราะเขามีคนที่แคร์ และเขาไม่อยากให้คนคนนั้นเสียใจ แต่อย่าเอาคำนี้ไปบอกว่า “ถ้าเธอทำไปแล้ว ฉันจะเสียใจ / พ่อแม่จะเสียใจไหม” เพราะเรากำลังสู้กันทางความคิดกับเขาอยู่แล้ว

 

 

4. อย่าพยายามเอาชนะกันทางความคิด

 

อย่าพยายามพิสูจน์ว่าเขาคิดผิด อย่าพยายามสื่อให้เขารู้สึกหรือรับรู้ว่า การคิดฆ่าตัวตายเป็นสิ่งผิด เป็นเรื่องบาป เป็นสิ่งไม่ถูกต้อง

 

หลักของความคิดคือ ยิ่งไปกดมัน มันยิ่งมีแรงสู้กลับ การที่เราพยายามเอาชนะความคิด ด้วยการพิสูจน์ว่า เขาคิดผิด ยิ่งเป็นการลดทอนสายสัมพันธ์ที่มีต่อกัน ทำให้เขารู้สึกห่างไกลไปจากเรามากขึ้น ที่สำคัญทำให้เขารู้สึกเหมือนเราไม่เข้าใจเขา

 

ดังนั้น การเข้าใจ การรับฟัง โดยไม่พยายามเปลี่ยนความคิดเขา จะช่วยเขาได้มากกว่า แต่ไม่ได้แปลว่าต้องรับฟังอย่างเดียว เราอาจใช้การพูดคุย เพื่อทำให้เขามีความกระจ่างชัดของความคิดมากขึ้นถึงทางเลือกที่มีอยู่

 

อาจทำให้เขาเห็นว่า ถ้าเขาได้ตายจริง ๆ จะเป็นอย่างไร แล้วถ้าเขาอยู่ต่อ เขาจะต้องเผชิญกับอะไร ไปปรึกษาจิตแพทย์จะเป็นอย่างไร การทำให้เขาเห็นทางเลือกในชีวิต จะทำให้เขาไม่ติดอยู่กับมุมใดมุมหนึ่ง การมองเห็นทางเลือกทำให้เขารู้สึกเหมือนกับ เขายังมีส่วนในการควบคุมชีวิตตนเอง และมีทางเลือกได้

 

การคุยแบบนี้เป็นการทำให้เขาได้ค่อย ๆ แยกแยะประเด็น แล้วค่อยมาไล่ทีละประเด็นว่า เรื่องนี้จะจัดการอย่างไร

 

 

5. ตั้งคำถามกับตัวเองว่า “คนเรามีสิทธิฆ่าตัวตายไหม”

 

การที่เรารับฟังเขาด้วยความเข้าใจ เป็นเพื่อนที่ดีในการทำให้เขาได้สำรวจพื้นที่ภายในใจของเขา สำรวจทางเลือกในชีวิตของเขา เราจะทำสิ่งเหล่านี้ได้ดี เราต้องตอบคำถามข้อนี้ก่อน

 

คำถามข้อนี้จะทำให้เราถอยไปตั้งหลัก กลับไปคิดถึงหลักพื้นฐานข้อหนึ่งว่า คนเรามีสิทธิไหมที่จะฆ่าตัวตาย บางคนบอกว่าไม่มีสิทธิ เป็นบาป เราไม่ควรทำลายชีวิต เนื้อตัวร่างกายของเราเป็นของพ่อแม่ เราทำร้ายตัวเองมันจะไปทำร้ายคนอื่น

 

แต่มีบางกรณีไหมที่เขาน่าจะมีสิทธิ เช่น ถ้าเขาเจ็บป่วย ทุกข์ทรมาน มีแต่จะแย่ลง เขามีสิทธิไหมที่จะฆ่าตัวตาย ซึ่งในบางประเทศมีกฎหมายอนุญาตเปิดบริการช่วยให้คนจบชีวิตลงได้ ที่เรียกว่า การุณยฆาต ซึ่งจะต้องมีการประเมินโดยจิตแพทย์

 

สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เรามาทบทวนดูว่า เรามีความเชื่อพื้นฐานอะไรในการพยายามจะช่วยเหลือคนที่คิดฆ่าตัวตาย ยิ่งเราจะเอาชนะทางความคิด พยายามเปลี่ยนความคิดเขามากเท่าไร ยิ่งทำให้เกิดความห่างไกล ความไม่เข้าใจกัน

 

การพูดคุยแบบให้เขารู้ว่า เขารู้สึกอะไร มีส่วนหนึ่งอยากตาย อีกส่วนไม่อยากตาย แล้วค่อยให้เขาได้สำรวจ ได้มีโอกาสมองทางเลือกของชีวิต ทำให้คิดไปถึงสุดทางแต่ละทาง โดยยังไม่ต้องลงมือทำจริง สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่จะช่วยเขาได้ในการสำรวจ และที่สำคัญคือการประเมินและรักษาโดยจิตแพทย์ โดยเฉพาะถ้าเขาป่วยทางจิตเวช

 

อย่างไรก็ตาม ถ้าป่วยทางจิตเวชที่มีกรณีซับซ้อน จิตแพทย์ก็อาจป้องกันไม่ได้ 100% ฉะนั้น ในทุก ๆ ปี จึงมีคนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จที่กำลังรักษาทางจิตเวชอยู่

 

 

พ่อแม่มีลูกที่มีความคิดฆ่าตัวตาย

 

มีหลายครั้งที่ความเจ็บป่วยของลูกสัมพันธ์กับปมค้างใจในความสัมพันธ์ที่มีกับพ่อแม่ ซึ่งพ่อแม่อาจไม่รู้ตัว เพราะพ่อแม่จำนวนหนึ่งก็มีปมของตัวเอง และพ่อแม่จำนวนหนึ่งก็เคร่งครัดมาก มีความคาดหวังสูง ลูกรู้สึกว่าทำอะไรไม่เคยดีพอ

 

กรณีเช่นนี้ การที่พ่อแม่จะคุยกับลูก หลายครั้งกลับกลายเป็นการทำให้ช่องว่างระหว่างกันยิ่งสูงมากขึ้น ดังนั้นสิ่งที่พ่อแม่จะให้ได้ในการช่วยเหลือลูก คือ การยอมรับ การเข้าใจ และการชื่นชมในสิ่งที่สมควรชื่นชม นี่เป็นหลักพื้นฐานของความต้องการของมนุษย์ ซึ่งลูกก็ต้องการ

 

ถ้าพ่อแม่มีลูกที่มีความคิดฆ่าตัวตาย สิ่งที่จะช่วยลูกได้ดีที่สุด คือ เปลี่ยนวิธีการพูดคุยและปฏิบัติกับลูก เปลี่ยนตรรกะและเหตุผลของท่าน คลายความเป็นเหตุเป็นผล ให้เป็นความเข้าใจมากขึ้น

 

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  นพ.ประเวช  ตันติพิวัฒนสกุล

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

 

 

OTHER