Money and the Family EP.09 โควิด 19 ช่วงเวลาทองของการปลดหนี้

07 พฤษภาคม 2020 121 ครั้ง

Money and the Family EP.09 โควิด 19 ช่วงเวลาทองของการปลดหนี้

ในช่วงวิกฤติโควิดอาจทำให้หลายคนประสบปัญหาการเงิน อีพีนี้จึงนำเรื่องราวของคุณครูท่านหนึ่งที่ต่อสู้กับปัญหาหนี้สินและพลิกชีวิตกลับขึ้นมาได้ เพื่อเป็นกำลังใจ และอาจนำวิธีการ วิธีคิด ไปปรับแก้ปัญหาของตัวเองให้กลับมาดีดังเดิม หรือดียิ่งกว่าเดิมได้

สำหรับอีพีนี้เรื่องที่จะเล่าอาจไม่ใช่เรื่องการเงินในครอบครัวโดยตรง แต่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับลูกศิษย์คนหนึ่งซึ่งต่อสู้กับปัญหาหนี้แล้วพลิกชีวิตขึ้นมาในทางบวก

 

ในช่วงเวลาที่หลายคนกำลังประสบปัญหาทางการเงิน มีวิกฤติโควิดเข้ามา หลายคนรายได้สูญหาย ภาระหนี้ที่มีก็แบกรับไม่ไหว ทำให้ชีวิตประสบกับปัญหาอย่างหนัก เลยอยากหยิบเรื่องนี้มาเล่าให้ฟังซึ่งเป็นเรื่องของลูกศิษย์ที่ชื่อ นัท

 

นัทเป็นข้าราชการครู เข้ามาทำงานในช่วงปี 2550 ตั้งแต่เข้ามาทำงานวันแรกก็ถูกชักชวนให้กู้ยืมเงินผ่านระบบสหกรณ์ออมทรัพย์ แรก ๆ ก็ไม่อยากจะไปกู้ แต่ว่าได้รับคำชักชวนหรือขอให้ไปเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ ค้ำไป ค้ำมา เธอก็นึกว่าเนื้อไม่ได้กินหนังไม่ได้รองนั่งอย่างนี้เราจะทำไปทำไม ก็เลยกู้ไปด้วยเสียเลย เมื่อกู้ปุ๊บแทนที่จะเอาเงินไปสร้างให้ออกดอกออกผล เธอก็เอาเงินมากินใช้ส่วนตัว เอาไปเติมเต็มความสุขให้กับคนในครอบครัว

 

เมื่อประสบปัญหากับหนี้ก้อนเดิมที่กู้แล้วชำระไม่ไหว เธอก็กู้เงินก้อนใหม่ ทั้งกู้สหกรณ์ กู้ธนาคาร แล้วก็หมุนวนไปเรื่อย ๆ แบบนี้ จนวันดีคืนดีเธอมาเอะใจ แต่กว่าจะเอะใจก็เป็นหนี้ไปแล้ว 3 ล้านบาท

 

เธอเล่าให้ฟังว่า เงิน 3 ล้านบาท นำไปซื้อที่อยู่นิดนึง นำไปเปิดร้านของชำซึ่งตอนหลังกิจการก็ไม่ดี ที่เหลือก็เป็นการกินใช้เกือบทั้งหมด เงินเดือนเดือนหนึ่งประมาณ 30,000 บาทแต่ได้รับจริง ๆ คือ 600 บาท ถูกตัดกู้สหกรณ์ ตัดกู้ธนาคารที่มีสวัสดิการกับทางราชการ เมื่อได้ 600 บาทมา ก็ยังต้องส่งรถยนต์อีก 1 คัน เพราะฉะนั้นเลยทำให้ต้องกู้ต่อ 

 

สิ่งที่เธอรอคือเดือนเมษายนและตุลาคม เพราะว่าจะมีการปรับเพิ่มเงินเดือนให้ เมื่อปรับเพิ่มเงินเดือนก็จะมีวงเงินที่จะกู้ยืมกับสหกรณ์ได้มากขึ้น วงเงินกู้ที่ได้เพิ่มมาก็พอจะมีเงินกินใช้ ทำอย่างนี้วนกันไปไม่รู้จบ

 

กว่าจะตั้งสติได้ก็เป็นหนี้ไป 3 ล้านบาทกับสหกรณ์แล้วก็ธนาคาร 2 แห่ง ถ้าทำอย่างนี้ต่อไปไม่น่ารอด เธอเลยเข้าไปคุยกับสหกรณ์ออมทรัพย์ และธนาคารทั้ง 2 แห่งเพื่อขอเจรจาผ่อนน้อยลงและมีเงินเหลือกินได้ในแต่ละเดือน ซึ่งกว่าจะไปขอเจรจาจนได้ลดงวดผ่อนต่อเดือนให้น้อยลงก็ต้องใช้เวลาในแต่ละที่ 3 ถึง 5 ครั้ง สุดท้ายแต่ละที่ก็ยอมให้ลดงวดได้ แล้วก็ทำให้เธอมีกินแบบพอจะปริ่ม ๆ เธอเลยคิดหารายได้เสริม 

 

เธอมาคิดว่า เธอมีความรู้ความสามารถอะไรที่จะทำรายได้เสริมได้บ้าง หรือมีคนใกล้ตัวมีเครือข่ายอะไรที่เขาขายของอยู่แล้วเราพอจะไปเบิกของมาขายได้ก่อนบ้าง สุดท้ายเธอก็นึกถึงงานอดิเรกของเธอ คือการถักโครเชต์ ถักไหมพรม ก็เลยคิดว่าน่าจะเอาของพวกนี้มาขาย

 

เธอไปรับสินค้ามาขายแล้วโพสต์ลง Facebook ขายอุปกรณ์ถักไหมพรม ถักโครเชต์ มีคนซื้ออยู่บ้างพอมีรายได้เพิ่มเข้ามา แต่ก็ไม่เยอะมาก เลยคิดขยายตลาดให้คนถักไม่เป็นสนใจมาซื้อสินค้าด้วย โดยการทำให้คนถักเป็นมากขึ้น เลยเอากล้องมือถือมาถ่าย สอนถักโครเชต์ผ่านวิดีโอ แล้วก็โพสต์ ปรากฏว่าขายได้มากขึ้นจริง ๆ ก็เริ่มมีวีดีโอแบบแปลก ๆ ใหม่ ๆ ลวดลายต่าง ๆ มาสอนเป็นตอน ๆ ทำเป็นประจำต่อเนื่อง ก็มีคนติดตาม มีคนมาซื้ออุปกรณ์ถักมากขึ้น

 

วันดีคืนดีก็มาคิดว่าทำไมไม่ลองนำวีดีโอสอนถักโครเชต์ ถักไหมพรมไปเปิดขายเป็นคอร์สออนไลน์ดู เลยไปหาเว็บไซต์คอร์สออนไลน์ว่ามีเปิดสอนการจัดการเรื่องงานอดิเรกไหม สุดท้ายก็เจอ จึงนำวิดีโอไปลงในเว็บไซต์ 2 แห่ง แล้วก็เริ่มเปิดสอนเองผ่าน Facebook Group คือ จ่ายเงินสมัครเรียนแล้วก็ไปสอนกันแบบลับ ๆ ใน Facebook Group แรก ๆ ก็ไม่มีคนไปเรียนมาก แล้วทางสถาบันที่เปิดเป็นเว็บไซต์ให้เอาคอร์สไปลง ก็บอกว่า เงินจากค่าสมัครเรียนต้องรวมกันให้ได้หมื่นนึงก่อน ถึงจะโอนมาให้ 

 

ปรากฏว่าผ่านไปสักพักหนึ่งก็มีเงินโอนเข้ามา 3-4 เดือนได้หมื่นนึง ถัดจากนั้นไม่นานก็เริ่มมีเงินเข้ามาเรื่อย ๆ เป็นประจำสม่ำเสมอ 10,000 บ้าง 20,000 - 30,000 บ้าง บางเดือนก็เป็นแสน โดยเฉพาะในช่วงโควิด คนอยู่บ้านไม่มีอะไรทำ ก็จะเรียนคอร์สออนไลน์พวกนี้ซึ่งราคาไม่ได้แพง

 

ปีที่ผ่านมาคือปี 2562 ก่อนเข้าช่วงโควิด เธอมีรายได้ทั้งปีจากการขายคอร์สรวมกันเป็นหลักแสนบาท ทำให้เธอต้องเสียภาษีเพิ่มในปีนั้น จากคนที่เคยเงินไม่พอใช้ ไม่พอกิน กลายเป็นคนที่ต้องมานั่งคิดว่าจะทำยังไง จะต้องซื้ออะไรเพื่อลดหย่อนภาษี ทุกวันนี้ครูนัทก็เริ่มทำงานอดิเรกอื่น ๆ มาทําเป็นวีดีโอสอนให้ความรู้แล้วก็ได้รายได้ไปด้วย รวมถึงได้ขายสินค้าที่นำมาขายประกอบกันไปด้วย

 

นี่คือเรื่องราวเล็ก ๆ ของคนคนหนึ่งซึ่งน่าจะไปตรงกับใครหลาย ๆ คนที่กำลังประสบปัญหาหนี้ รายได้ขาดหายไป ทำให้ผ่อนชำระหนี้ไม่ได้ง่าย ๆ แค่เริ่มต้นง่าย ๆ จากการจัดการค่าใช้จ่ายของตัวเองก่อน ลดค่าใช้จ่ายรวมถึงภาระค่าใช้จ่ายจากหนี้ ซึ่งในตัวอย่างนี้ ครูนัทก็เดินสายเจรจา ใช้ความพยายามพอสมควรแต่ว่าผลที่ได้รับก็คุ้มค่า 

ในขณะเดียวกันก็หารายได้เสริมโดยเอาความรู้ความสามารถที่หลายคนคิดว่าไม่มีใครน่าจะซื้อ ไม่มีใครน่าจะจ่าย มาจัดทำคอร์ส ทุกวันนี้เธอบอกว่าช่วงโควิดมีรายได้สูงกว่าแต่ก่อนเยอะมากขึ้นเรื่อย ๆ เลย

 

ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องราวที่อาจจะให้ทั้งวิธีคิด วิธีการ แล้วก็ให้กำลังใจกันไปด้วย การจัดการหนี้เราแก้ได้ทุกคน ขอให้ใช้ความพยายามในการที่จะพูดคุยเจรจากับเจ้าหนี้ รายได้เสริมรายได้เพิ่มจากความรู้ ความสามารถ ทักษะที่เรามี เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ ขอให้กำลังใจกับทุก ๆคนที่กำลังประสบปัญหารายได้สูญหายจากโควิด มีภาระหนี้หนัก แล้วก็มีคนที่ต้องดูแลเยอะขอให้ท่านเข้มแข็งแล้วก็ผ่านปัญหาวิกฤติครั้งนี้ไปได้ด้วยกัน

 

จำไว้ว่าปัญหาเรื่องการเงิน ทุกปัญหามีทางออกเสมอ ขอให้เราเข้มแข็งและมองไปข้างหน้า

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  จักรพงษ์ เมษพันธุ์

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

OTHER