On the Way Home EP.08 โควิด19 กับชีวิตต้องสู้ของคนไทยในต่างแดน

17 เมษายน 2020 105 ครั้ง

On the Way Home EP.08 โควิด19 กับชีวิตต้องสู้ของคนไทยในต่างแดน

เรื่องราวจากแดนไกลของคนไทยในต่างแดนกับการต่อสู้กับเชื้อโควิด-19 จะเป็นอย่างไร มาติดตามฟังกันค่ะ

ตอนนี้ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ล้านกว่าคนแล้ว ตายไปกว่าแสนคน มีคนหายจากโรคนี้ห้าแสนกว่า ๆ ทั้งที่หายเองแล้วก็หายเพราะหมอรักษา ถ้าบ้านเราก็หายเพราะแพทย์ แต่ถ้าอยู่ต่างประเทศโดยเฉพาะทางยุโรปและอเมริกาก็อาจจะต้องดูแลตัวเอง ถ้าโชคดีก็หาย โชคร้ายก็อาจไม่รอด ก่อนหน้านี้มีคนไทยที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ในต่างประเทศหลายท่านเหมือนกันทั้งในอิตาลี อเมริกา และอังกฤษ

 

ที่อเมริกามีประเด็นที่น่าสนใจมาก มีคนไทยท่านหนึ่ง เป็นรองบรรณาธิการข่าวเทคโนโลยีเอพี วัย 51 ปี ถือได้ว่าเป็นสื่อมวลชนมืออาชีพของสหรัฐอเมริกาคนแรกที่เสียชีวิตเพราะโควิด-19 คุณอนิก เจษฎานันท์ 

 

คุณอนิกจากไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน ตามเวลาท้องถิ่น คุณอนิกเกิดในครอบครัวคนไทยที่เมืองพิตต์สเบิร์ก เพนซิลเวเนีย แต่ว่าเติบโตที่รัฐนิวเจอร์ซีย์ เรียนจบปริญญาตรีที่นั่น ก็คือเกิดเติบโตและเรียนหนังสือที่สหรัฐอเมริกา แล้วก็ทำงานที่สำนักข่าวเอพี เคยทำงานที่สาขาฟิลาเดลเพีย แฮริสเบิร์ก และวอชิงตัน ก่อนที่จะย้ายมาประจำที่นครนิวยอร์ก 

 

คุณอนิกเป็นคนที่บุกเบิกการใช้ Internet Writer หรือการเขียนบนอินเตอร์เน็ตคนแรกของเอพีเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เขาเคยบอกกับเพื่อนร่วมงานว่า อินเตอร์เน็ตนี่แหละจะเป็นตัวแปรสำคัญในอนาคตอันใกล้ ถือได้ว่าเป็นสื่อมวลชนและบุคคลากรที่มีคุณค่าของเอพีทีเดียว ที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งคือ คุณอนิกเป็นคนแข็งแรงมาก ชื่นชอบการวิ่งมาราธอนเป็นชีวิตจิตใจ ไปร่วมวิ่งมาราธอนมาแล้วในหลายประเทศทั่วโลก โดยวิ่งมาแล้ว 83 รายการ (มาราธอนคือการวิ่งระยะทาง 42.195 กิโลเมตร การจะวิ่งได้ ต้องแข็งแรงและก็ผ่านการฝึกฝนมาไม่น้อยเลยทีเดียว) คุณอนิกไม่ได้วิ่งมาราธอนธรรมดา ๆ แต่ไปวิ่งมาแล้วทุกทวีป รวมทั้งรายการโหด ๆ อย่าง แอนตาร์กติกา ซึ่งชื่อได้ว่าโหดหินสุด ๆ เพราะว่าต้องวิ่งภายใต้อุณหภูมิติดลบถึง 30 องศาเซลเซียส และปีที่แล้วก็ได้เข้าร่วมการแข่งขันการวิ่งรายการดังอย่าง นิวยอร์กมาราธอนด้วย ซึ่งการวิ่งรายการดัง ๆ นี้ไม่ได้หมายความว่า ใครจะเข้าไปวิ่งก็ได้ หรือว่าสมัครแล้วจะได้เลย แต่ว่าต้องมีการผ่านเกณฑ์บางอย่างของเขาด้วย 

 

นอกจากออกกำลังกายโดยการวิ่งเป็นประจำแล้ว คุณอนิกได้ชื่อว่าเป็นคนที่ชอบดูภาพยนตร์มาก ปีที่แล้ว เขาดูภาพยนตร์ถึง 365 เรื่องจากโรงภาพยนตร์ ถือเป็นคนที่มีชีวิตน่าสนใจ เป็นสื่อมวลชนคนสำคัญคนหนึ่งของเอพี และในที่สุด น่าเสียดายมาก คุณอนิก เจษฎานันท์ เป็นคนไทยรายที่ 3 ที่เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสโควิด-19 

 

จากการเปิดเผยของทางครอบครัวบอกว่า คุณอนิก รู้สึกไม่สบาย คล้ายกับการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 พอรู้สึกก็ไปหาหมอ หมอตรวจพบว่าเป็นโรคโควิด-19 จริง ๆ ก็ให้ยามากิน แต่ให้กักตัวเองอยู่ในบ้านพัก จากนั้นก็มีการไปพบแพทย์เพื่อติดตามการรักษาอีก 1 ครั้ง หมอก็ให้มาพักที่บ้านเหมือนเดิม เพราะว่าที่นิวยอร์กสถานการณ์การแพร่ระบาดในขณะนั้นรวมถึงในขณะนี้รุนแรงมาก ถ้าอาการไม่หนักจริงจะไม่ได้รับการรักษาในโรงพยาบาล รุ่งขึ้นอีก 2 วันต่อมา คุณอนิกอาการไม่ค่อยดี เขาไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลอีกครั้ง แต่หลังจากนั้นไม่นาน ทางครอบครัวก็ได้รับข่าวร้ายที่สุดในชีวิตว่า คุณอนิก เจษฎานันท์ ผู้ชายอายุ 51 ปี ที่เพิ่งฉลองวันเกิดไปเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เสียชีวิตลงแล้ว น่าเศร้าแล้วก็น่าเสียดายมาก หลายท่านถึงกับกล่าวว่า ถ้าคุณอนิกอยู่เมืองไทย เขาอาจไม่ตาย 

 

หลังจากกรณีของคุณอนิก ในเพจคู่สร้างคู่สม คุณดำรง พุฒตาล ได้โพสต์เรื่องราวของผู้หญิงไทยคนหนึ่ง อยู่ที่อังกฤษ กรุงลอนดอน ผู้หญิงไทยท่านนี้ ทำงานอยู่ที่ร้านอาหารในลอนดอนเป็นเวลาหลาย 10 ปี เสียภาษีให้กับรัฐบาลอย่างถูกต้อง เหมือนกับประชาชนพลเมืองคนหนึ่งของอังกฤษทีเดียว อยู่ในระบบ เธอติดเชื้อไวรัสโควิด-19 พอเริ่มมีอาการ เธอก็ไปโรงพยาบาล แต่โรงพยาบาลปฏิเสธ ไม่ยอมรับตัวให้เข้ารับการรักษา แต่ให้กลับมาบ้าน แล้วให้เข้ารับการรักษาทางโทรศัพท์ คือมีอะไร เป็นอะไร ให้โทรมาปรึกษา ไม่สามารถที่จะรับเข้าอยู่ในโรงพยาบาลได้ เธอกลับไปกักตัวดูแลตัวเองที่บ้าน 2-3 วันต่อมา ญาติทางเมืองไทยโทรไปหา เธอไม่รับสาย ญาติก็ร้อนใจ ให้เพื่อนในลอนดอนโทรหา ส่งไลน์หา ก็ไม่ได้รับคำตอบ เลยขอให้แม่บ้านไปเปิดห้อง ปรากฎว่า เธอเสียชีวิตภายในห้องพักนั้น เรื่องนี้ทำให้ญาติและครอบครัว เสียใจมาก และพูดคล้าย ๆ กับกรณีของคุณอนิกว่า ถ้าอยู่เมืองไทย เธอก็อาจจะไม่ตาย 

 

จากเรื่องเศร้า มาที่เรื่องที่ทำให้เกิดกำลังใจกันบ้าง เป็นเรื่องของผู้หญิงไทย 2 คน ป่วยที่ต่างแดนเหมือนกัน ที่สหรัฐอเมริกาทั้งคู่ และมารักษาตัวเองที่บ้านเหมือนกัน และทั้งคู่รอดชีวิต ลองฟังประสบการณ์ว่าทั้งคู่รอดชีวิตมาได้ยังไง 

 

ท่านแรกเป็นพยาบาลชื่อ คุณผึ้ง ติดเชื้อมาจากคนไข้ที่ไอใส่หน้า เพราะว่าตอนนั้นโรงพยาบาลที่สหรัฐ ยังไม่ได้ให้พยาบาลใส่หน้ากากอนามัย เลยโดนรับเชื้อไปเต็ม ๆ จากนั้นประมาณ 7 วัน เริ่มมีอาการ เจ็บคอ มีไข้ต่ำ ๆ ไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รู้รส ต่อมาอาการรุนแรงขึ้น ถึงขั้นแทบไม่มีเสียง ไข้สูงแล้วก็ไอ คุณพยาบาลท่านนี้เลือกที่จะกลับมากักตัวที่บ้าน คือรู้ระบบดีว่าระบบที่นั่นถ้าอาการไม่แย่จริง ๆ เขาไม่รับ เธอเลือกมากักตัวที่บ้านแล้วก็รักษาตัวเอง โดยมีสามีคอยดูแล ผลปรากฎว่าเธอรอด รวมระยะเวลาที่ป่วย จากเบาถึงหนัก แล้วก็ดีขึ้น 9 วัน เธอสรุปว่าที่เธอหายเพราะเธอทำแบบนี้ 

 

1. ดื่มน้ำเยอะ ๆ เธอดื่มน้ำขวด ขวดละ 500 มิลลิลิตร 2 ขวดต่อ 1 ชั่วโมง โดยเฉพาะตอนป่วยหนัก ๆ ไข้สูง ๆ ไอเยอะ ๆ จะดื่มแบบเหมือนชีวิตนี้ขาดน้ำไม่ได้ เพราะว่าเมื่อหยุดดื่มน้ำ เธอจะไอแทบขาดใจ นอกจากดื่มน้ำขวดแล้ว ยังดื่มน้ำอุ่นทุกชั่วโมง คือพอตื่นก็ดื่ม น้ำอุ่นที่ว่า ผสมมะนาวครึ่งลูก น้ำผึ้ง ก็จะเคร่งครัดกับการดื่มน้ำอุ่นทุกชั่วโมง แล้วก็การดื่มน้ำขวด 2 ขวดต่อ 1 ชั่วโมง 

 

2. กินไทลินอล 1,000 มิลลิกรัม ทุก 3-4 ชั่วโมงตลอดวัน เพราะว่ามีไข้ตลอด

 

3. กินยาละลายเสมหะช่วงที่รู้สึกว่าเสมหะเหนียว 

 

4. กินวิตามินซี 500 มิลลิกรัม 3 ครั้งต่อวัน 

 

เธอบอกว่า เธอเอาสูตรนี้มาจากยูทูบเบอร์คนจีน คือค้นคว้าหาข้อมูลว่าจะรักษาดูแลตัวเองอย่างไร ก็ไปพบยูทูปของคนจีนคนนี้ที่เขารอดชีวิต ด้วยการรักษาตัวเองจากการดื่มน้ำและกินยาไทลินอล คุณพยาบาลบอกว่า “เราบอกไม่ได้ว่าอะไรดีสำหรับใคร แต่ตอนที่เราเลือก เรามองทางไว้แล้ว ชั่งน้ำหนักและเลือกสถานการณ์ที่ดีที่สุดของตัวเองตอนนั้น สามีและลูกไอตามเรา ถึงแม้เราจะใส่แมส ใส่ถุงมือ และวันนี้วันเดียวกันเราและทุกคนหยุดไอ มีแค่เราบางช่วงที่ไอ แต่น้อยกว่าปกติมาก เราคิดว่าครอบครัวเรา รวมถึงตัวเราน่าจะได้ active immunity กับรอบนี้ โรคนี้น่ากลัวตอนที่เราไม่รู้จักกับมัน พอเราผ่านมา ยอมรับว่าหนักมากจริง ๆ ไม่อยากให้ใครเผชิญแบบเราเลย ทรมานมาก แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจะสู้กับมันให้สุดความสามารถ”

 

อีกกรณีเป็นเรื่องของคุณบุ้ง สาวไทยในอเมริกา คุณบุ้งก็หายจากโควิด-19 ด้วยตัวเอง กรณีของคุณบุ้ง ติดมาจากลูกค้าชาวอิหร่าน วัย 70 ปี ตอนแรกเธอก็ไม่ได้คิดว่าเป็นโควิด คิดว่าเป็นภูมิแพ้ตอนแรกที่หน้าบวม เพราะว่ามีโรคประจำตัวอยู่แล้ว พอมีอาการมากขึ้น ๆ ก็ชักสงสัย เพราะคล้ายโควิดเหลือเกิน และคนรอบข้างก็เริ่มพูดถึงอาการโควิด-19 สุดท้ายเธอลองไปตรวจ แล้วพบว่าเธอติดโควิด-19 จริง ๆ 

 

ตอนแรกที่รู้ว่าตัวเองติดโควิด-19 คุณบุ้งบอกว่าตกใจและกลัวมาก พอไปหาหมอ หมอก็ให้รักษาตัวอยู่ที่บ้าน เพราะว่าตอนนั้นอาการยังไม่หนักมาก หมอบอกให้อยู่ที่บ้าน อย่าไปเจอใคร โรคนี้ไม่มียา รักษาไปตามอาการ แต่ข้อสำคัญคือ ให้เก็บตัว อย่าไปเจอใคร เดี๋ยวจะแพร่เชื้อ แล้วถ้ามีอาการฉุกเฉินให้โทรมา คุณบุ้งไม่มีทางเลือก ต้องกลับมาอยู่บ้าน 

 

เธอบอกว่าอย่างแรกเลย ต้องตั้งสติ หาข้อมูลเกี่ยวกับโรค และรักษาตัวเองตามสิ่งที่มี รักษาอยู่ประมาณ 7 วัน อาการดีขึ้น สิ่งสำคัญที่สุดต้องมีสติ อย่ากลัว ทำใจให้เข้มแข็ง แล้วก็สู้กับมัน วิธีการที่คุณบุ้งใช้คือ ต้มน้ำกระเทียมกินทุก ๆ เช้า ดื่มน้ำร้อนใส่มะนาว กินยาลดไข้ทุก 4 ชั่วโมง กินยาฆ่าเชื้อ กินวิตามินซี ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ 4 ครั้งต่อวัน ดื่มน้ำขิง พยายามทำให้ร่างกายเหงื่อออกเยอะ ๆ  ถ้าหายใจไม่ออกก็ต้มน้ำแล้วก็เอาหน้าอังไอน้ำ จนอาการเริ่มดีขึ้นตามลำดับ 

 

คุณบุ้งบอกว่าในเมื่อเขาไม่รับเรา เราอยู่บ้านก็ได้ จัดระเบียบชีวิต กินน้ำขิง มะนาว กระเทียม กินยาตามอาการ กินอาหารให้เป็นยา เก็บตัวไม่แพร่เชื้อ รับผิดชอบต่อสังคม พยายามนอน ทำร่างกายให้สะอาด พอมีแรงก็ออกไปเดินเหยียบพื้นหญ้าหน้าบ้าน ให้ร่างกายได้สัมผัสธรรมชาติ เธอทิ้งท้ายว่า ทำร่างกาย ทำจิตใจ ให้แข็งแรง โดยเฉพาะใจ ต้องทำใจให้แข็งแรง เพราะโควิดไม่ชอบจิตใจที่แข็งแรง และอย่ากลัวสิ่งที่ยังมาไม่ถึง โลกนี้ไม่น่ากลัวเท่าความคิดที่เรากลัวไปเอง นี่คือข้อคิดจากประสบการณ์ของคุณบุ้ง สาวไทยที่สามารถหายจากโรคโควิด-19 ได้ ด้วยตัวของเธอเอง

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  รัศมี มณีนิล 

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

OTHER