ปลดล็อกกับหมอเวช EP.38 ความสุขนอก Comfort Zone

14 พฤศจิกายน 2020 81 ครั้ง

ปลดล็อกกับหมอเวช EP.38 ความสุขนอก Comfort Zone

อยากมีความสุขมากขึ้น ต้องเรียนรู้ที่จะก้าวออกนอก Comfort Zone อะไรทำให้ความสุขใน Comfort Zone มีปัญหา แล้วอะไรที่ทำให้เราเลือกไปหาความสุขนอก Comfort Zone หาคำตอบใน ปลดล็อกกับหมอเวช EP.38 ความสุขนอก Comfort Zone

 

การอยู่ใน Comfort Zone หรือพื้นที่สบาย แบ่งเป็น 3 กรณี

 

1. ไม่รู้สึกถึงปัญหา แต่อาจมีปัญหาก่อตัวอยู่ เช่น คนที่มีเงินเดือนประจำ ก็ไม่คิดว่าจะมีปัญหา มีเงินหมุนเดือนต่อเดือน ไม่มีเงินเก็บมากนัก แต่ก็ไม่มีปัญหา เหมือนเป็น Comfort Zone อย่างหนึ่ง ชีวิตมีความลงตัว แต่อนาคตอาจตกงานเพราะบริษัทปิดตัวลง หรือเพราะมีเทคโนโลยีเข้ามาทำงานแทน

 

คนที่อยู่ใน Comfort Zone ประเภทนี้ ยังดูเหมือนมีความสุขดี แต่จะมีปัญหาความเครียด ความทุกข์ที่กำลังรอจังหวะถาโถมเข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลง

 

 

2. รับรู้ปัญหา แต่ไม่เปลี่ยนแปลง มักหาเหตุผลอยู่ในที่เก่า เพราะคุ้นเคยดี เช่น เจ้าของธุรกิจที่ธุรกิจอยู่ในช่วงฝ่อตัว สัญญาณส่งมาเรื่อย ๆ แต่เลือกที่จะอยู่ในพื้นที่เก่า ซึ่งบอกยากมากว่าจะไปรอดไหม หรือปัญหาเรื่องลูก เช่น ลูกมีปัญหากวนใจบางอย่าง พ่อแม่ก็รู้สึกว่าทุกอย่างที่ดำเนินชีวิตอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน เวลาที่ให้กับลูก ยังไม่ส่งสัญญาณเตือนมากนัก จึงดำเนินชีวิตต่อไปเหมือนมีความสุข

 

คนประเภทที่ 2 นี้รับรู้ปัญหาบางอย่าง แต่จะมีคำอธิบายเพื่อทำให้ตัวเองรู้สึกว่า แบบเก่ายังไปได้ดีอยู่

 

 

3. มีปัญหามาก แต่ไม่กล้าก้าวออกจากพื้นที่เดิม เพราะติดในสิ่งที่คุ้นเคย แม้ไม่สบาย ไม่มีความสุข แต่เป็นสิ่งที่คุ้นเคย ดีกว่าต้องออกไปในพื้นที่ที่ไม่รู้จัก แล้วไปเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่น่ากลัว เช่น คู่สมรสที่อยู่ด้วยกันไม่มีความสุข แต่ก็ยังอยู่ด้วยกัน หรือมีปัญหาในที่ทำงาน เครียด ไม่มีความสุข แต่ก็ไม่ออกจากที่ทำงานนั้น

 

กลุ่มคนที่เจอมากที่สุดในประเภทนี้ คือ กลุ่มที่มีปัญหาทางจิต ความกลัว ความวิตกกังวล และความเศร้า ตัวที่ทำให้เป็นทุกข์คือ ความกลัวที่ดึงคนเหล่านี้ไว้ ให้ไม่สามารถก้าวออกจาก Comfort Zone ของเขา

 

 

 

เวอร์จีเนียร์ ซาเทียร์ นักจิตบำบัดที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า “คนส่วนใหญ่จะเลือกอยู่กับสิ่งที่คุ้นเคย มากกว่าจะเผชิญกับความอึดอัดยากลำบากของการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในเวลาที่เขาเครียด”

 

การเลือกเช่นนี้ ทำให้ชีวิตคนเราไหลไปตามสิ่งที่วิ่งเข้ามาเหมือนลอยไปตามน้ำ ซึ่งอาจพาเราไปอยู่ในจุดที่เราไม่ต้องการในชีวิต แต่ถ้าเราไม่รอให้ชีวิตปล่อยไหล เราก็ต้องจัดการทำให้ชีวิตมีความสุขที่ยั่งยืนกว่า ซึ่งก็คือ ก้าวออกไปเพื่อมีความสุขที่ดีกว่านอก Comfort Zone

 

 

มาร์ติน เซลิกแมน เจ้าพ่อเรื่องความสุข ได้ทำงานวิจัยในเรื่องจิตวิทยาเชิงบวก พูดถึงองค์ประกอบความสุขว่ามีอยู่ด้วยกัน 5 องค์ประกอบ ดังนี้

 

1. ความรู้สึกดีและความรู้สึกเพลิดเพลิน เช่น การกินอิ่มนอนหลับ การไปนอนพักสบาย ๆ ฟังเพลง ที่นอนดี มีห้องนอนติดแอร์ หรืออาจหมายถึงความแสวงหาประสบการณ์ใหม่ ๆ การได้กินอาหารแปลกใหม่ การได้ท่องเที่ยว

 

2. การได้ทำสิ่งท้าทายและจดจ่ออยู่กับความยากของสิ่งท้าทาย จนกระทั่งจิตเป็นสมาธิ จนลืมเวลา แล้วพบว่า มันเป็นความสุขที่พิเศษมาก เช่น การเล่นปิงปอง ถ้าเล่นกับคนไม่เก่งเลย ก็ไม่สนุก ถ้าเล่นกับคนที่เก่งใกล้เคียงกัน เราจะจดจ่อจนลืมเวลาได้เลย

 

3. การได้ทำสิ่งที่มีความหมาย อะไรก็ได้ที่คุณให้ความสำคัญ ได้ฝ่าฟันความยากลำบาก ทำสิ่งที่มีความหมาย เช่น คุณรักลูก คุณอดทนทำเพื่อลูกแล้วคุณมีความสุข แม้ว่าอาจไม่ได้สบายทางกาย แต่มีความสุขเพราะได้ทำสิ่งที่มีความหมาย หรือการไปทำงานอาสาสมัคร คุณเหนื่อยยาก ต้องลงพื้นที่ ลุยโคลน แต่เป็นสิ่งที่มีความหมาย เพราะทำแล้วมีความสุข มีความภูมิใจ

 

4. ความสุขที่เป็นความสำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสำเร็จที่เป็นสิ่งที่มีคุณค่า เวลาพูดถึงความสำเร็จ เราต้องมีเวลาทบทวนว่า ความสำเร็จคืออะไร หลายคนพอพูดถึงความสำเร็จจะนึกถึงเม็ดเงิน แต่ในงานวิจัยความสุข พบเสมอว่า เงินช่วยเติมความสุขได้ดีในช่วงแรก พอมีเงินมากพอแล้ว เงินจะเติมความสุขได้ในระดับที่น้อยลง

 

5. ความสัมพันธ์คือแหล่งความสุข การได้เป็นผู้ให้ ช่วยเหลือผู้อื่น การมีความรัก ความผูกพัน มีคนช่วยเหลือยามต้องการ ก็เป็นแหล่งความสุข

 

ถ้ามองตามองค์ประกอบความสุขของงานวิจัยทางจิตวิทยาเชิงบวก จะพบว่า นิยามความสุข เป็นความสุขนอก Comfort Zone ทั้งนั้น เป็นตัวท้าทายเราว่า ความสุขไม่ใช่ความสบายแบบที่ไม่ต้องเครียด ตรงกันข้าม ความกดดัน การเผชิญความยากลำบาก การต่อสู้ ถ้ามันมีความหมาย มีความท้าทาย นำมาซึ่งความสำเร็จในสิ่งที่เราให้ความสำคัญและมีคุณค่า ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกันแน่นแฟ้นกลมเกลียวมากขึ้น ความยากลำบากนั้นจะกลายเป็นตัวสร้างความสุขที่ลึกซึ้งและยั่งยืนกว่า

 

ชีวิตของมนุษย์ ถ้าอยู่ใน Comfort Zone จะเป็นเรื่องยากมาก ที่จะเค้นศักยภาพของเราที่จะมีความสุขได้แบบที่ได้เติมเต็มศักยภาพของตัวเอง และการได้เติมเต็มศักยภาพของตัวเอง ได้เรียนรู้ ได้เติบโต คือแหล่งความสุขที่มีค่ามากที่สุด

 

การที่เราจะค้นหาความสุขนอก Comfort Zone เราต้องตระหนักตามคำพูดของเวอร์จีเนียร์ ซาเทียร์ ไว้ว่า เรามีแนวโน้มจะเลือกอยู่กับสิ่งที่คุ้นเคยมากกว่าที่จะเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงที่จะพาชีวิตไปสู่สิ่งที่ดีกว่า แต่เราต้องฝืนความเคยชินที่จะอยู่กับสิ่งคุ้นเคยนี้ ต้องฝ่าวงล้อมไปนอกพื้นที่สบายของเรา เพื่อไปทำสิ่งที่มีความหมาย และมีคุณค่า นั่นจึงจะเป็นความสุขที่แท้จริง

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  นพ.ประเวช  ตันติพิวัฒนสกุล

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

 

 

OTHER