On the Way Home EP.27 เทคนิคเอาตัวเองออกจากการเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา

28 สิงหาคม 2020 219 ครั้ง

On the Way Home EP.27 เทคนิคเอาตัวเองออกจากการเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา

ปัญหาในครอบครัวมีหลายรูปแบบ แต่ละบ้านก็มีวิธีจัดการกับปัญหาแตกต่างกันออกไป แต่ถ้าจัดการมาหลายวิธีแล้ว ยังแก้ไม่ได้ ลองมาทำตามวิธีที่นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ได้เขียนแนะนำไว้ในหนังสือ บำบัดเครียด กันค่ะ

 

ในวันนี้จะพูดถึงปัญหาระหว่างพ่อแม่กับลูกเล็ก ซึ่งอยู่ในบทที่ 4 ของหนังสือบำบัดเครียด - เราคือส่วนหนึ่งของปัญหา ตอนที่ 1 พ่อแม่กับเด็กเล็กและปัญหาระหว่างสามีภรรยา ซึ่งอยู่ในบทที่ 6 - เราคือส่วนหนึ่งของปัญหา ตอนที่ 3 สามีกับภรรยา

 

ประเด็นสำคัญที่คุณหมอต้องการจะสื่อสาร คือ เราทุกคนคือส่วนหนึ่งของปัญหา อย่างเรื่องพ่อแม่กับเด็กเล็กที่เรามองว่าเด็กเล็กเป็นปัญหา จริง ๆ แล้วคุณหมอบอกว่า “พ่อแม่นั่นแหละเป็นส่วนหนึ่ง ที่ทำให้เกิดปัญหา”

 

 

ตัวอย่างปัญหาระหว่างพ่อแม่กับเด็กเล็กที่พบเป็นประจำ

 

เมื่อลูกกินข้าวไม่เป็นเวลา คุณหมอบอกว่า

 

“ถ้าเกิดพ่อแม่หยุดเดินตามป้อนข้าว บอกลูกให้นั่งกินข้าวอยู่กับที่ดี ๆ และมีเวลากิน 20 นาที ถ้าไม่กินเก็บ ถ้าลูกงอแง ร้องแล้วดิ้นพลาด ๆ พ่อแม่ก็ต้องไม่อ่อนข้อ”

 

“พ่อแม่มักจะใจอ่อนกลัวว่าลูกจะหิว กลัวว่าลูกจะอด กลัวว่าลูกจะสุขภาพไม่ดี เหมือนกับว่าถ้าลูกไม่ได้กินข้าวมื้อนี้เดี๋ยวลูกจะตาย สุดท้ายก็ต้องเดินตามป้อนข้าวเหมือนเดิม

 

ถ้าใครเจอแบบนี้คุณหมอบอกว่า…

 

“ถอยออกมา ต้องทนดูได้ เนื่องจากว่าลูกยังเป็นเด็กเล็ก ควรจะเข้าไปอุ้ม ไปปลอบประโลม แต่ยืนยันจุดยืนของพ่อแม่ คือ ให้กินข้าวอยู่กับที่ ไม่มีการเดินตามป้อนข้าวอีก ประเด็นก็คือว่า พ่อแม่ต้องไม่เข้าไปวอแว มีอารมณ์ร่วมด้วย”

 

“พ่อแม่ที่ใจแข็งยอมให้อด แล้วเดี๋ยวจะรู้ เมื่อเด็กเขาเห็นว่าพ่อแม่เอาจริง การร้องของเขา การอ้อนของเขา การออกฤทธิ์ออกเดชของเขาไม่ได้ผล เด็กเรียนรู้ แล้วมื้อต่อไปเขาอาจจะลองของอีก แต่ถ้าลองแล้วผลลัพธ์เหมือนเดิมคือ ไม่ได้ผล ต่อไปเขาจะยอมเพราะรู้ว่าเมื่ออดมันหิว เมื่อหิวก็ต้องกิน”

 

 

เมื่อลูกร้องไม่ไปโรงเรียน คุณหมอบอกว่าภาพที่เห็นบ่อย ๆ คือ

 

“เด็กจะมีวิธีร้องไห้งอแง อ้อนวอนให้พ่อแม่พะว้าพะวังแล้วก็พาลูกกลับบ้าน รู้สึกว่าลูกไม่พร้อมที่จะอยู่โรงเรียน ถ้าเป็นเช่นนี้เท่ากับว่าพ่อแม่ทำตัวเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา สิ่งที่ควรทำคือ เตรียมลูกให้พร้อม ส่งมอบลูกให้กับคุณครูให้เรียบร้อย สัญญากับลูก สัญญาแล้วก็รักษาสัญญาว่าจะมารับให้ตรงเวลา จะมารับกี่โมงก็ว่าไป จากนั้นก็บ๊ายบายแล้วก็กลับไปแต่โดยดี เมื่อพ่อกับแม่ไปแล้ว เด็กเล็กทุกคนจะสามารถปรับตัวเข้ากับคุณครูและเพื่อน ๆ ในโรงเรียนได้เสมอ”

 

 

เมื่อลูกจะเอาของเล่น - จะเล่นเกมให้ได้

 

“เด็กเล็กมักจะจับสัญญาณได้เสมอว่า คนที่เป็นพ่อแม่นั่นแหละไม่แน่จริง พ่อแม่มักจะโลเล จะพูดอะไรก็จ๊ะจ๋า นะจ๊ะลูกจ๋า ไม่ทำนะจ๊ะ อยู่นั่นแล้ว ถ้าแบบนี้ตัวปัญหา คือ พ่อแม่ หากพ่อแม่ยืนยันว่าจะไม่ซื้อของเล่นให้หรือไม่อนุญาตให้เล่นเกมอีกแล้ว คือรักษากฎกติกาที่ตกลงร่วมกัน พูดคำไหนก็คำนั้น พ่อแม่ก็ควรถอยออกมาจากสถานการณ์ อาจจะถอยทั้งทางใจแล้วก็ทางกาย เพราะว่าเด็กโตขึ้นมาอีกระดับ”

 

“อาจจะมีการจูงมือหรือว่าลากออกมาจากบริเวณที่เขางอแง ตบบ่าเบา ๆ แล้วยืนยันคำพูดว่าให้หยุดเล่นเกม แล้วช่วยเขาปิดเกม จากนั้นเขาอาจแสดงปฏิกิริยาอย่างไรก็อย่าไปมีส่วนร่วม อย่าไปร่วมวง เช่นนี้ก็คือพ่อแม่ถอยออกมาแล้ว ถ้าเด็กไม่ใช่พวกที่เอาแต่ใจอย่างรุนแรงหรือว่าติดเกมขั้นรุนแรง เด็กจะปรับตัวได้เสมอ เพราะว่าเจ้าคนโลเลสองคน คือพ่อกับแม่เปลี่ยนไปแล้ว”

 

 

เมื่อพี่น้องทะเลาะกัน

 

“ถ้าพ่อแม่เข้าไปห้ามปรามแล้วไปต่อความยาวสาวความยืด ใครเริ่มก่อน ใครผิด พ่อแม่จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างเขาทั้งสองคน พ่อแม่เข้าไปขัดขวาง กระบวนการพัฒนาที่เขาสองคนจะต้องค้นหาหนทางแก้ปัญหาและปรองดองกันเองให้จงได้ เพราะฉะนั้นพ่อแม่ที่ชาญฉลาด ควรใช้วิธีแยกวงพี่น้องออกจากกันโดยไม่ตัดสินว่าใครผิดใครถูก บอกเพียงว่าอารมณ์ดีแล้วค่อยมาเล่นด้วยกันใหม่นะลูก ถ้าเป็นเช่นนี้พ่อแม่ไม่เอาตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา”

 

คุณหมอประเสริฐบอกว่า “ปัญหาของเด็กเล็กนั้น ที่จริงแล้วเป็นต้นแบบของปัญหาทั้งหลายทั้งปวงตลอดชีวิต เราสามารถใช้วิธีนี้กับกรณีอื่น ๆ ที่เกิดกับคู่สมรสหรือในที่ทำงานได้ด้วย”

 

 

วิธีแก้ปัญหาของคู่สามีภรรยา

 

ในคู่สามีภรรยาจะใช้วิธีเอาตัวเองออกจากปัญหาได้อย่างไร ในบทที่ 6 ของหนังสือบำบัดเครียด คุณหมอได้บอกไว้ว่า

 

“เรื่องสามีภรรยาทะเลาะกันเป็นตัวอย่างสุดคลาสสิคของสงครามที่ไม่รู้ว่าใครเริ่มก่อน กลไกหรือว่าพยาธิสภาพของการทะเลาะกันเรียกว่า projective identification นั่นคือในตอน แรกจะต้องมีคนคนหนึ่งเริ่มอารมณ์ไม่ดี เช่น สามีอารมณ์ไม่ดีคนแรก ก็จะใช้กลไกทางจิตปัดอารมณ์ไม่ดีนี้ทิ้งไปโดยไม่รู้ตัว แต่วิธีปัดทิ้งเป็นวิธีที่ไม่เหมาะสมจะด้วยนิสัยหรือด้วย บุคลิกภาพ เขาปัดทิ้งด้วยการโยนอารมณ์ไม่ดีของตัวเองไปแปะเอาไว้บนใบหน้าหรือการกระทำของภรรยา

 

ด้วยวิธีนี้เขาก็จะมองเห็น รู้สึก หรือสัมผัสได้ว่าวันนี้ภรรยาอารมณ์ไม่ดี จากนั้นจะเริ่มหาเรื่องภรรยาด้วยการส่งสายตายั่วยุหรือเอ่ยวาจาต่อว่า

 

อย่าลืมนะว่าทั้งหมดนี้เขาไม่รู้ตัว หลังจากเขาวาดภาพภรรยาเป็นปีศาจเสร็จแล้วก็เลียนแบบอารมณ์ไม่ดีของภรรยาซ้ำอีกที ถึงตอนนี้เขามี 2 คน คนหนึ่งอยู่ที่ภรรยา อีกคนหนึ่งอยู่ที่ตนเอง อารมณ์เสียทั้งคู่ แล้วสองคนก็เริ่มทะเลาะกันเอง

 

ภรรยาซึ่งไม่รู้อิโหน่อิเหน่ด้วยในตอนแรกก็จะเบรกแตก เข้าร่วมวงสงครามในบ้านเรียบร้อยแล้ว พอสงครามสงบทั้งสองคนก็จะรู้สึกแปลกใจมากว่าใครเริ่มก่อน คือดูเผิน ๆ คล้ายจะมีคนหนึ่งเริ่มก่อน แต่ถ้าย้อนเวลาไปทีละช็อตจะพบว่าเรื่องเล็ก ๆ ที่เป็นชนวนนั้นไม่รู้ว่าใครเริ่มก่อนกันแน่”

 

สามีภรรยาทะเลาะกันส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ เช่น การไม่แขวนผ้าเช็ดตัวให้เรียบร้อย แปรงฟันแล้วไม่ยอมปิดหลอดยาสีฟัน หรือว่าผู้ชายเข้าห้องน้ำแล้วไม่ยอมยกฝาชักโครกลง โยนถุงเท้าไม่ลงถัง หรือว่าลงถังข้างเดียว เป็นต้น

 

“หลังจากสงครามสงบลง ถ้าความรักพื้นฐานของทั้งคู่ยังแข็งแรงดี ทั้งคู่ก็พร้อมจะลืมแล้วก็รอเวลาที่กลไกทางจิตของใครคนใดคนหนึ่งจะเริ่มต้นทำงานใหม่ แล้วเดี๋ยวก็ทะเลาะกันใหม่

 

ในช่วงเวลาที่สงครามยังไม่สงบนั้น ถ้าสามีภรรยาที่ชาญฉลาด ต้องมีอย่างน้อย 1 คน รู้จักที่จะถอนตัวออกมาจากสถานการณ์ คือการหยุดทะเลาะหรือหยุดต่อปากต่อคำ

 

สามีภรรยาที่ชาญฉลาดต้องการสติที่มั่นคงแล้วก็ถอนตัวออกมา ไม่มีการพูดถึงเหตุผลอีกต่อไป”

 

“บ้านที่สามีภรรยาชอบพูดเหตุผลต่อกันนั้นมักเอาตัวไม่รอด บ้านที่รอดคือบ้านที่คนคนหนึ่งยังมีสติ แล้วก็มั่นใจในความรักไม่เสื่อมคลาย แล้วรู้จักหยุด รู้จักที่จะสงบปากสงบคำ

 

มีคำอธิบายทางจิตวิเคราะห์ในระดับจิตใต้สำนึกที่ต่างออกไป คือ สามีภรรยาจะทะเลาะกันน้อยลงทุกที เมื่อขอบเขตทางจิตใจที่เรียกว่า ego boundaries ของทั้งสองคนรวมตัวกันอย่างสมบูรณ์ด้วยการมองโลกแห่งความเป็นจริง

 

ไม่ว่าสามีภรรยาจะทะเลาะกันยังไงก็สามารถใช้เทคนิคการเอาตัวเองออกมาจากการเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาได้เสมอ จะออกมาโดยที่ยังคงขอบเขตของจิตใจเดียวกันไว้ หรือจะออกมาเหมือนการแบ่งตัวของอะมีบาคือแยกออกจากกันให้เด็ดขาดก็ได้ผลลัพธ์เดียวกัน

 

นั่นคือเมื่อเราออกมาจากก้อนปัญหา ก้อนปัญหาก็จะมีหน้าตาเปลี่ยนไปอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นวิธีแก้ปัญหาก็จะไม่ใช่วิธีทะเลาะกันอีกต่อไปแล้ว แต่มันก็จะมีวิธีอื่น บางคู่อาจถึงขั้นไปฮันนีมูนรอบสองหรือแบ่งสมบัติ อันนี้แล้วแต่กรณี หลังจากที่ต่างฝ่ายต่างเห็นตัวจริงเสียงจริงของกันและกันแล้ว”

 

 

ที่มา

หนังสือ บำบัดเครียด เขียนโดย นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Amarin Health

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  รัศมี มณีนิล

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

OTHER