Money and the Family EP.03 เงินฉัน เงินเธอ เงินเรา

10 มีนาคม 2020 264 ครั้ง

Money and the Family EP.03 เงินฉัน เงินเธอ เงินเรา

ในครอบครัวที่สามีภรรยาหารายได้ได้ทั้งคู่ การจัดการเงินและค่าใช้จ่ายในครอบครัวจะบริหารอย่างไรดี

บางครอบครัวใช้วิธีการนำเงินมารวมไว้ที่คนใดคนหนึ่ง เพื่อให้จัดสรรค่าใช้จ่าย เช่น หักค่าใช้จ่ายส่วนตัวไว้กับตัวเอง ส่วนที่เหลือยกให้แม่บ้านหรือพ่อบ้านดูแล ขณะที่บางครอบครัวแยกกระเป๋า ต่างคนต่างใช้ แต่ค่าใช้จ่ายกองกลางก็แบ่งกันดูแลแต่ละส่วนไป แล้ววิธีไหนคือวิธีที่ดีที่สุด?

 

ตอบได้เลยว่า ไม่มีวิธีไหนดีที่สุด การที่ตกลงกันได้แล้วจัดสรรเงินให้ตอบโจทย์ในทุกมิติได้ นั่นคือวิธีที่ดีที่สุดสำหรับครอบครัวเรา การรวมหรือการแยกไม่ใช่ประเด็นเลย

 

ไม่ว่าแต่ละครอบครัวจะใช้วิธีไหน ขอให้ตอบโจทย์ 4 ข้อสำคัญในการจัดสรรเงินให้ได้ตามวัตถุประสงค์ ดังนี้ 

 

1. ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตประจำวันมีการจัดสรรอย่างเหมาะสม

 

2. มีเงินไว้เผื่อจัดการความเสี่ยงสำคัญ ๆ ในชีวิตได้ เช่น กรณีเจ็บป่วย อุบัติเหตุ หรือรายได้หายไปกะทันหัน เป็นเงินสำรอง เผื่อเหลือ เผื่อขาด

 

3. เงินเก็บสะสมใช้จ่ายในยามเกษียณ 

 

4. จัดสรรเงินสำหรับใช้จ่ายเพื่อเติมเต็มความสุขและความฝัน

 

ข้อตกลงในการจัดการค่าใช้จ่ายในครอบครัว คือ ปรึกษา เจรจา ตกลงกัน สามารถทำได้ ดังนี้

 

1. เปิดเผยข้อมูลจริงด้านการเงิน 

สามีภรรยาต้องเปิดเผยการเงินออกมาว่าแต่ละเดือนมีรายได้คนละเท่าไหร่ เมื่อต่างรู้รายรับกันแล้ว ต่อมาคือรายจ่ายมีอะไรบ้าง พูดคุยตกลงกันว่าครอบครัวเราจะรับผิดชอบกันแบบไหน จะรับผิดชอบร่วม หรือแยกกระเป๋า หัวใจสำคัญเมื่อเปิดใจคุยกันเรื่องตัวเลข คือ การเปิดเผยความจริงทั้งหมด แม้เราจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่หากมีความลับต่อกัน เรื่องเล็ก ๆ อาจเป็นปมปัญหาที่จะสร้างเรื่องใหญ่โตขึ้นไปได้ 

 

หลักข้อหนึ่งที่สำคัญมากในเรื่องการเงินและความสัมพันธ์ คือ เรื่องราวใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเงินแล้วผูกโยงกับความสัมพันธ์ หากบอกก่อน เรียกว่า การชี้แจง แต่ถ้าบอกทีหลัง เรียกว่า การแก้ตัว

 

2. ปฎิบัติตามอย่างเคร่งครัด 

เมื่อตกลงกันได้แล้วควรปฏิบัติอย่างเคร่งครัด หากทำไม่ได้อย่ารับปาก เพราะเรื่องของความสัมพันธ์ คำสัญญาถือเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าคิดว่าบางเรื่องมากเกินไป ให้เจรจาขอจุดร่วม จุดที่พอดีก่อนจะรับปากตกลงกัน แต่ทั้งนี้ในทุกเรื่องก็ต้องสามารถยืดหยุ่นได้ หากมีข้อผิดพลาดทางการเงินเกิดขึ้นมาจริง ๆ

 

3. เมื่อไหร่ที่เกิดการตัดสินใจร่วมใหม่ ๆ ในอนาคต ให้พูดคุยกันเสมอ

การตัดสินใจจะซื้อหาสิ่งใด หรือจะสร้างค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในบ้าน บางทีการบอกกล่าวกันบ้างก็เป็นเรื่องที่ดี บางคนอาจคิดว่าแยกกระเป๋าแล้ว ค่าใช้จ่ายส่วนกลางก็ตกลงแล้ว ฉะนั้นส่วนที่เหลือจะจัดการอะไรเพิ่มเติมก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร ถ้าเป็นของใช้ส่วนตัวเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ไม่ว่ากัน แต่ถ้าไปสร้างภาระหนี้ ผ่อนอะไรยาว ๆ บอกหรือพูดคุยกันไว้สักนิดก็ดี เพราะอาจส่งผลกระทบต่อเงินที่จะมาสนับสนุนค่าใช้จ่ายร่วมกันได้

 

การบริหารจัดการเงินในชีวิตคู่ไม่มีสูตรตายตัว หัวใจสำคัญคือความรู้สึกนึกคิดที่มีต่อกัน ทั้งเชื่อใจ ไว้ใจ ใส่ใจ รวมไปถึงให้อภัย หากอีกฝ่ายหนึ่งพลาด

เทคนิคทางการเงินอาจเป็นรองความรู้สึกนึกคิดที่เรามีต่อกัน ถ้าเราใส่ใจคนข้าง ๆ ให้ความสำคัญกับเขา มองเขาเป็นคู่ชีวิต การบริหารจัดการเงินสามารถปรับและยืดหยุ่นได้หมดเลย หัวใจสำคัญคือ ทำอย่างไรให้เรากับคู่ชีวิตบริหารจัดการเงินในครอบครัวเพื่อเติมเต็มความสุขให้ได้ครบในทุกมิติ และใช้ฐานของการเจรจาพูดคุยเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สำคัญกว่าที่จะมาตกลงกันด้วยซ้ำว่าใครจ่ายอะไรกันไปบ้าง

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  จักรพงษ์ เมษพันธุ์

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

OTHER