Save teen EP.02 ข้อสอบว่ายากแล้ว ตอบคำถามพ่อแม่สิยากกว่า

16 กรกฎาคม 2021 95 ครั้ง

Save teen EP.02 ข้อสอบว่ายากแล้ว ตอบคำถามพ่อแม่สิยากกว่า

Q : เวลาที่ผลสอบออกมาไม่ดี หนูก็รู้สึกแย่อยู่แล้ว หนูต้องการกำลังใจ แต่นอกจากพ่อแม่จะไม่เคยให้แล้ว พ่อแม่ยังไม่รับฟังในสิ่งที่หนูกำลังจะอธิบายด้วยว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับเกรดในเทอมนี้ พ่อแม่สนใจแต่ว่า ถ้ามีคนได้คะแนนดีกว่า ก็แปลว่าหนูก็ต้องทำได้เหมือนที่เพื่อนทำได้ ในกรณีแบบนี้จะทำอย่างไรดี

 

A : เริ่มต้นเรามาทำความเข้าใจว่า เพราะอะไรน้องคนนี้ถึงรู้สึกแย่ก่อน

 

 

เวลาคนเราจะทำอะไรสักอย่างก็ต้องคาดหวังให้ตัวเองประสบความสำเร็จ คำว่าคาดหวังเหมือนเราไปคาดคั้น ไปคาดมันด้วยความหวังชิ้นนี้ พอเรามีความคาดหวัง (Expectation) แล้วคาดหวังไม่พอ ต้องได้อีก แล้วพอไม่ได้ก็เลยผิดหวัง

 

 

ไม่ผิดที่คนเราจะมีความคาดหวัง แต่เราอาจต้องมาเริ่มดูว่า เราไม่ต้องไปคาดหวังว่าจะต้องได้จนเกินไปหรือเปล่า เราใช้คำว่า ความหวัง (Hope) เฉย ๆ ก็ได้ ฉันมีความหวังที่จะทำแบบนี้ต่อ แต่ถ้ายิ่งไปคาดคั้น อันนี้เริ่มต้นอาจมีความรู้สึกกดดันต่อตัวเอง

 

 

ต่อมา นอกจากความคาดหวังต่อตัวเองแล้ว น้อง ๆ ทุกคนเวลาเรียน เวลาสอบ เขารับรู้ได้ว่า พ่อแม่คาดหวังกับเขาอย่างไร พ่อแม่อยากให้เขาเป็นอย่างไร ซึ่งถ้ามองความคาดหวังในอีกมุมหนึ่ง ก็อาจเป็นแรงผลักดันให้เราไปต่อ แต่ถ้าในบางคนรู้สึกกดดันอยู่แล้ว แล้วก็มารับรู้ว่า พ่อแม่คาดหวังอีก เขายิ่งต้องทำตามความคาดหวังของพ่อแม่ให้ได้ด้วย พอบางอย่างมันเฟล (Fail) คืออาจไม่ถึงเป้าหมาย (Goal) ที่ตั้งไว้บ้าง เขาก็เลยรู้สึกแย่ว่า นอกจากจะทำให้ตัวเองผิดหวังแล้ว ยังทำให้พ่อแม่ผิดหวังอีก

 

 

ฉะนั้น อาจจะย้อนกลับมาเริ่มจัดการความคาดหวังของตัวเองก่อน ให้อยู่ในระดับที่พอดีสำหรับเรา การตั้งเป้าหมายจะมีคำว่า Smart Goal หมายความว่า สมมติจะสอบวิชานี้ Smart Goal คือ

 

S – specific เจาะจงพอ คือ ฉันอยากให้สอบผ่าน ผ่านคือ 60 คะแนน

 

M – measurable สามารถวัดได้ คือ วัดได้ว่าผ่านหรือไม่ผ่าน

 

A – affordable คือ ไม่เกินความพยายามของเรา

 

R – realistic ความเป็นจริง คือ ถ้าเกิดตั้งใจจะสอบให้ได้เกรด 4 ให้ได้ A ทุกวิชา จะเกินตัวเราหรือเปล่า

 

T – time คือ ในเวลาแค่นี้ เราทำตามเป้าหมายได้ไหม เช่น มีเวลาอีก 2 สัปดาห์ แต่อยากสอบให้ทุกวิชาได้เกรด A หรือได้ 4 หมดเลย ในเมื่อเป้าหมายไม่ตรงกับความเป็นจริง ก็ทำให้มีความคาดหวังที่ไม่เป็นจริงมากขึ้น ทำให้มีโอกาสผิดหวังได้มากกว่า

 

เพราะฉะนั้น การตั้งเป้าหมาย ตั้งความคาดหวังตัวเองให้อยู่ระดับที่เหมาะสม เวลาเฟลลงมา ก็อาจไม่รู้สึกแย่มากนัก อันนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวของเด็ก

 

 

ถ้าพ่อแม่ ผู้ปกครอง เจอลูกหลานที่รู้สึกแย่กับการสอบควรทำอย่างไร

 

1. ฟัง

 

ไม่ใช่ฟังเนื้อหา แต่ฟังด้วยใจว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเด็กรู้สึกอย่างไร เกิดอะไรขึ้นกับเขา คนที่สอบไม่ได้ เขามีความรู้สึกอย่างไร

 

 

ต่อมา คือ การสะท้อนความรู้สึก (Reflex Feeling) เช่น เห็นลูกหน้าตาไม่ค่อยดี สอบเสร็จกลับมาไม่พูดไม่จา ถ้าเราจับความรู้สึกเขาได้ หรือเห็นความรู้สึกของเขามากพอ เราอาจไปสะท้อนความรู้สึกเขาได้ว่า “ดูหนูเครียด ๆ นะ มาเล่าให้พ่อฟังหน่อยสิ เกิดอะไรขึ้น” “ดูน่าเศร้า ๆ เนอะ เกิดอะไรขึ้น”

 

 

อันนี้เป็นการเริ่มฟังอย่างง่าย โดยปกติคนเรามักฟังกันแค่เนื้อหา แล้วถอยออกมา เข้าใจไปแล้วว่า ที่เด็กสอบไม่ได้เพราะไม่ตั้งใจ สิ่งนี้เป็นการเริ่มตัดสินตั้งแต่ยังไม่ได้ฟัง แต่ถ้าเริ่มจะไปฟังใครสักคนหนึ่ง ต้องเริ่มจากการฟังที่อยากจะเข้าใจ อยากรู้ว่าที่สอบไม่ได้เกิดจากอะไร

 

 

การอยากฟังด้วยความเข้าใจ ต้องถอยออกมานิดหนึ่ง คือ พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องรู้จักตัวเองดีด้วย การฟังอาจเริ่มทำในช่วงสภาวะอารมณ์ที่ตัวเองเหมาะสม ถ้ารู้ว่าตัวเองอารมณ์ไม่ค่อยดี เห็นผลการสอบลูกแล้วไม่ค่อยดี การจะเริ่มเข้าไปฟัง ไปคุยกับเขา เราอาจมีความรู้สึกบางอย่างที่เป็นเชิงลบ แล้วควบคุมไม่ได้ และอาจมีคำพูดบางอย่างที่กระทบเด็ก

 

 

ฉะนั้นอย่างแรก เริ่มฟังก่อน ฟังแล้วสะท้อนความรู้สึก สิ่งที่ได้รับ คือ เด็กจะรู้สึกเหมือนมีคนเข้าใจเขา สิ่งนี้ก็เป็นเหมือนการให้กำลังใจเขาในอีกมุมหนึ่ง คือจริง ๆ เด็กแค่ต้องการให้มีคนเข้าใจเขา ปัญหาอาจจะแก้ไม่ได้ ข้อสอบอาจจะแก้ไม่ได้ แต่อย่างน้อยมีคนที่อยู่ข้าง ๆ เขา พ่อแม่อยู่ข้าง ๆ เขา แค่นี้เขาก็ได้รับกำลังใจแล้ว

 

 

เมื่อพ่อแม่อยากถามลูกว่า สอบเป็นอย่างไรบ้าง อารมณ์พ่อแม่ต้องเหมาะสมกับตอนที่จะถาม ตอนเราโกรธก็ไม่ควรถาม เช่น เปิดสมุดพกมา ทำไมติด 0 แล้วอารมณ์ของผู้ปกครองเริ่มมา เริ่มโกรธ อันนี้ต้องระวัง ถ้าพ่อแม่ไปพูดในช่วงโกรธ การควบคุมตัวเองทำได้น้อย การจะเดินเข้าไปถามหรือคุยกับเด็ก มันไม่ใช่แค่การถาม มันเริ่มตั้งแต่ ภาษากาย สีหน้า ท่าทาง การดูจังหวะ ดูเวลา ดูสถานที่ก็เป็นเรื่องสำคัญ เช่น นั่งอยู่กลางโต๊ะ ญาติเยอะ ๆ ก็ไม่ควรทำ

 

 

การเดินเข้าไปถาม ภาษากายก็ต้องยิ้มแย้ม ไม่ใช่หน้าบึ้งตึง เห็นผลการสอบมาแล้วคิ้วขมวด เสียงก็ดูโหด หรือถึงเสียงจะอ่อนลงแต่ทำหน้าโกรธ เด็กก็รู้สึกได้ว่าพ่อแม่ไม่พอใจ

 

 

2.  ถาม

 

 

การถามของพ่อแม่ คือ ถามเพื่อเข้าใจลูก ไม่ใช่ถามเพื่อตัดสินเขา การถามเพื่อเข้าใจ เริ่มต้นจากการถามโดยใช้ “ประโยคจับใจ” มันจะมีประโยคที่บอกว่าเป็นประโยคจับใจ หรือประโยคเจ็บใจ ประโยคจับใจใคร ๆ ก็อยากฟัง แต่ประโยคเจ็บใจ พูดไปใคร ๆ ก็รู้สึกแย่ 

 

 

เวลาจะพูด จะถามอะไรกับเด็ก เน้นให้ใช้ประโยคจับใจ ในเชิงจิตวิทยาเรียกว่า I-message คือ ฉันรู้สึก เช่น “แม่รู้สึกกังวลจังเลย เห็นลูกเข้ามาแล้วไม่พูดไม่จา เป็นอะไร เล่าให้แม่ฟังหน่อย” “ผลสอบเป็นยังไงบ้าง แม่เป็นห่วงนะ เล่าให้แม่ฟังหน่อยสิ แม่อยากรู้”

 

 

ประโยคเจ็บใจ จะเป็น You-message เช่น “ทำไมเธอถึงเป็นแบบนั้น” “ทำไมเธอถึงทำไม่ได้ เธอไม่ตั้งใจเรียนน่ะสิ”

 

 

แล้วที่แย่ไปกว่านั้น คือ They-message เช่น “ใคร ๆ ก็ทำได้ เธอก็ต้องทำได้สิ” “เด็กข้างบ้านหลายคนทำได้ เธอก็ต้องทำได้สิ” คำพูดเหล่านี้ควรลด ต้องระวัง

 

 

ข้อดีของประโยคจับใจ คือ ทำให้ผู้ปกครองกับเด็กมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกัน เด็กจะรู้สึกว่า พ่อแม่เป็นโซนที่ปลอดภัยสำหรับเขา สุดท้ายเด็กจะวิ่งมาเล่าให้เราฟังเอง

 

 

 

ถ้าพ่อแม่พูดในสิ่งที่ทำให้ลูกเสียใจ เจ็บใจ ลูกจะสามารถสะท้อนหรือบอกกับพ่อแม่ตรง ๆ ได้อย่างไร

 

 

1. ใช้ I-message แต่เด็กก็ต้องรู้อารมณ์ตัวเอง ซึ่งอาจจะยากหน่อยในช่วงวัยรุ่น แต่ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้ เช่น “แม่พูดแบบนี้ หนูรู้สึกกังวล หนูรู้สึกไม่ค่อยดี เดี๋ยวค่อยคุยกันได้ไหม” เราสามารถฝึกสื่อสารกับพ่อแม่ได้ แต่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า หลาย ๆ เคส ที่เป็นเด็กวัยรุ่น พอให้เรื่อง I-message ไปแล้ว เขาคาดหวังว่า มันเป็นเหมือนยาวิเศษ พูดไปแล้วพ่อแม่ต้องเข้าใจ พ่อแม่ต้องทำตาม แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่

 

 

การพูด I-message คือ การพูดในสิ่งที่เป็นปัญหาหรือความรู้สึกหนักใจของเราออกไปให้อีกคนรับรู้โดยที่ไม่ทำร้ายความรู้สึกกัน ไม่ใช่พูดไปแล้วพ่อแม่จะทำตามหมดเลย แต่มันคือ จะพูดอย่างไรให้ไม่รู้สึกแย่ต่อกัน สร้างสัมพันธภาพ มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

 

 

2. กลับมาสำรวจสิ่งที่ตัวเองคิด คือบางทีที่พ่อแม่ถามว่าสอบเป็นอย่างไรบ้าง เด็กอาจจะคิดว่า พ่อแม่ไม่ไว้ใจเหรอ พ่อแม่ซักไซร้ไล่เลียง กำลังตรวจสอบเหรอ ซึ่งอาจไม่จริง มันแปลเป็นอย่างอื่นได้ไหม เช่น เป็นห่วง เด็กก็ต้องหมั่นกลับมาสำรวจความคิดตัวเอง เพราะในหนึ่งเหตุการณ์ จริง ๆ มันเป็นที่ความคิดเราเองแปลความเหตุการณ์นั้นไปในทางลบ ซึ่งก็ต้องกลับมาสำรวจอารมณ์และความคิดตัวเอง แล้วลองมองทางอื่นบ้างว่าเป็นแบบอื่นได้ไหม

 

ถ้าเกิดพ่อแม่ถาม แล้วเรารู้สึกแย่จริง ๆ ก็ตอบโต้กลับไปด้วยประโยคจับใจ เราอยากให้พ่อแม่จับใจเรา เราก็ต้องจับใจพ่อแม่บ้าง

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  รัฐนันท์ ฐาปนาประเสริฐ

แขกรับเชิญ: คุณธนกฤษ ลิขิตธรากุล

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

OTHER