On the Way Home EP.26 คุยกับลูกวัยรุ่นยังไงไม่ให้ทะเลาะกัน

21 สิงหาคม 2020 180 ครั้ง

On the Way Home EP.26 คุยกับลูกวัยรุ่นยังไงไม่ให้ทะเลาะกัน

คนเป็นพ่อแม่ บางครั้งก็มีความสุข ความชื่นใจจากลูก แต่ขณะเดียวกันก็อาจมีความทุกข์ ความเครียดจากลูกได้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่น ยิ่งสื่อสารมากเท่าไร กลับยิ่งไม่เข้าใจกัน ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น วิธีแก้ปัญหานี้สามารถทำได้อย่างไรบ้าง มาฟังคำแนะนำดี ๆ จาก หนังสือที่มีชื่อว่า “บำบัดเครียด” เขียนโดย จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ กันค่ะ

 

ในหนังสือบำบัดเครียด บทที่ 5 เราคือส่วนหนึ่งของปัญหา พ่อแม่กับวัยรุ่น คุณหมอเริ่มต้นบอกว่า...

 

“วัยรุ่นทุกบ้านไม่โง่ หูไม่หนวก แล้วก็รู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว เพราะฉะนั้นเมื่อพ่อแม่พูดซ้ำซาก จะทำให้วัยรุ่นไม่พอใจ ทำให้เขารู้สึกว่าพ่อแม่ไม่ให้เกียรติ ก็จะยิ่งพาลไม่ทำตาม พอวัยรุ่นไม่ทำตาม พ่อแม่ก็มักจะยิ่งบ่นซ้ำ ๆ ซาก ๆ เช่นนี้พ่อแม่ก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา

 

พ่อแม่ที่ชาญฉลาดจะไม่พูดซ้ำซาก แต่แน่นอนว่าการเป็นพ่อแม่ที่ชาญฉลาดนั้นมันไม่ง่าย ต้องอาศัยเทคนิคการเจริญสติแล้วก็ฝึกรูดซิปปาก ถอนตัวเองออกจากการเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ให้เกียรติและเคารพลูกเสมือนเขาเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่ง พ่อแม่บ้านไหนไหวตัวทันทำตามนี้ได้เร็ว มักไม่ก่อให้เกิดปัญหาหมักหมม

 

วัยรุ่นมักจะพัฒนาตนเองขึ้นเป็นผู้มีความรับผิดชอบในเวลาไม่นาน แต่แน่นอนว่าอย่างน้อยก็เมื่อพายุฮอร์โมนสงบ เพราะต้องทำความเข้าใจว่าวัยรุ่นก็จะมีเรื่องความพุ่งพล่านของฮอร์โมนมาเป็นอีกปัจจัยหนึ่งด้วย แต่ถ้าพ่อแม่บ้านไหนไหวตัวช้า พ่อแม่ก็จะปีนเกลียวกับวัยรุ่นรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ

 

บางบ้านอาจจะจบลงด้วยการที่ลูกไม่กลับบ้าน ใช้ยาเสพติด หลับนอนกับเขาไปทั่ว เช่นนี้พ่อแม่ก็จะถอนตัวจากสถานการณ์ไม่ได้แล้ว เพราะเท่ากับหนีปัญหา อย่างไรก็ตามการเข้าไปดูแลวัยรุ่นที่เละแล้วก็ยังต้องการการถอนตัวออกมาจากการเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาอยู่ดี”

 

 

 

การถอนตัวออกมาจากการเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา คืออะไรบ้าง

 

การถอนตัวออกมาจากการเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา คือ หยุดบ่นว่าและหยุดการด่าทอที่หยามเกียรติ คุณหมอแนะนำว่า...

 

“คุณพ่อคุณแม่หาเวลาไปเปิดดูอัลบั้มรูปถ่ายตอนที่เขาเกิดใหม่ ๆ ตอนที่เขาเป็นเด็กเล็ก แล้วอย่าบอกว่าไม่มีเวลา เพราะไม่มีเวลานั่นแหละลูกถึงได้เละเทะ ตอนที่เขาเล็ก ๆ เราจะไม่คาดหวังอะไรจากเขาเลยใช่ไหม ไม่ผิดที่เราคาดหวังเขาเมื่อโตขึ้น ว่าต้องเรียนเก่งอย่างนั้น เล่นเปียโนได้อย่างนี้ แต่ถ้าสุดท้ายเราไม่ได้สักอย่าง เราก็ต้องรู้จักเลิกคาดหวัง

 

จำได้ไหมว่าเมื่อเขาเป็นเด็กเล็ก เราขอเพียงให้เขาแข็งแรง ปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บเท่านั้นเองจริงหรือไม่ ดังนั้นถ้าวัยรุ่นของเราเละเทะแล้ว ขอให้ถอยออกมา ขอเพียงเท่านั้น จากนั้นหมั่นทำบ้านให้สะอาดน่าอยู่ ทำกับข้าวร้อน ๆ รอเขาทุกเย็น บอกให้เขาทราบด้วยว่า เราทำอะไร แต่ไม่บังคับเขา เช่นนี้เท่ากับพ่อแม่ถอนตัวออกจากสถานการณ์แล้ว

 

ถ้าคุณพ่อเจริญสติขณะทำบ้านให้สวยงาม คุณแม่เจริญสติขณะทำกับข้าวให้น่ากิน ทั้งสองจะเปลี่ยนไปเป็นคนแรกไม่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ถึงตอนนี้มันจะงง ในสถานการณ์ที่ยุ่งเหยิง เมื่อฝ่ายหนึ่งถอนตัวไป อีกฝ่ายจะงงเสมอ ในสนามรบเมื่อฝ่ายหนึ่งหยุดยิง อีกฝ่ายจะงง บนสังเวียนเมื่อนักมวยคนหนึ่งหยุดชกเดินลงจากสังเวียนไปนั่งข้างเวที อีกฝ่ายจะงง เช่นกันในครอบครัวก็เหมือนกัน

 

เมื่อหายงงจะเริ่มมีอาการหวาดระแวงตามมา หวาดระแวงว่าเกิดอะไรขึ้น ฝ่ายตรงข้ามมีแผนการร้ายอะไรแน่ ทำไมจู่ ๆ ถึงเลิกชก ทำไมจู่ ๆ พ่อแม่หยุดบ่นว่า หยุดสั่งสอน หันมาทำกับข้าวรอ ที่จริงโลกที่พ่อแม่ไม่เคยให้เวลาและเอาแต่บ่นก็ดีอยู่แล้วนี่นา จะดีจะชั่วก็สนุกดี ชีวิตพอไปได้ โลกใหม่ที่พ่อแม่เป็นคนดี มันออกจะยังไง ๆ

 

พอพ้นจากอาการหวาดระแวง เขาจะเริ่มยั่วเย้า นักมวยที่ถูกทิ้งบนสังเวียนจะเริ่มยั่วเย้าคู่ต่อสู้ให้กลับขึ้นไปชกกันใหม่ อาจจะยั่วเย้าด้วยการด่าทอหรือว่าเหยียดหยาม ในส่วนของลูกวัยรุ่น เขาจะประพฤติเกเรหนักข้อมากขึ้นเพื่อทดสอบความนิ่งของพ่อแม่ จะทำให้พ่อกับแม่ที่พูดมาก 2 คนนั้นเบรกแตกให้ได้

 

ถึงตอนนี้พ่อแม่ยิ่งต้องออกไปออกกำลังกาย แล้วก็เจริญสติ รักษาระยะห่างจากลูก ถอยมาทำกับข้าวแล้วยืนดู เมื่อตัวปัญหา 2 คนถอนตัวออกจากสถานการณ์ สนามรบก็จะเปลี่ยนสภาพ บ้านที่กลับมาแล้วเจอแต่ความมึนตึง ส่อเสียดจากปากผู้เป็นบุพการี กลายเป็นบ้านที่สะอาดสะอ้าน มีกับข้าวรอให้กินทุกคืน ไม่ว่าจะกลับดึกแค่ไหนก็ตาม

 

เมื่อสนามรบเปลี่ยนสภาพ เขาก็ไม่ต้องทำตัวแบบเดิม เมื่ออีกฝ่ายหยุดยิง เขาจะยิงคนเดียวทำไม เมื่อนักมวยอีกคนลงไปนั่งข้างเวที เขาจะชกลมคนเดียวให้เมื่อยทำไม สุดท้ายเขาก็จะหยุด ถ้าพ่อแม่พบว่า ตัวเองเริ่มคุยกับลูกวัยรุ่นไม่รู้เรื่อง ถอยไปอ่านบทที่ 1 ใหม่”

 

(บทที่ 1 ในที่นี้ คือการออกกำลังกาย การเจริญสติ การเปลี่ยนที่ยืน แล้วถอนตัวออกจากการเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา)

 

 

บางส่วนของเนื้อหา คุณหมอได้กล่าวว่า...

 

“การออกกำลังกายเป็นวิธีคลายเครียดที่ดีที่สุด ได้ผลที่สุดและลงทุนน้อยที่สุด แต่เราไม่ค่อยทำกัน เมื่อรู้ตัวว่าเครียดอย่างแรกที่ควรทำคือไปออกกำลังกาย ถ้ารอได้ อย่าเพิ่งเดินเข้าไปหาปัญหา หรือพยายามแก้ปัญหาในขณะที่เรากำลังเครียด ดังนั้นขั้นที่ 1 ถ้ารู้ตัวว่ากำลังเครียด เครียดได้ที่ หยุดตัวเองให้ได้ อย่าคิด อย่าพูด อย่าทำ ถอนตัวจากสถานการณ์ไปคลายเครียด

 

วิธีคลายเครียดมีหลายร้อยวิธี ควรเลือกวิธีที่ลงทุนน้อยแต่ได้ผลมาก และควรเลือกวิธีที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนจากการคลายเครียด ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นคือควรเลือกวิธีที่ทำคนเดียวได้ ไม่ต้องพึ่งพาใคร นั่นคือไปออกกำลังกาย

 

วิธีที่ลงทุนมากแต่ได้ผลน้อยก็มีมากมาย เช่น ไปเข้าคอร์สประเภทพัฒนาบุคลิกภาพหรือจิตวิญญาณก็อาจจะดีแต่ว่าอาจจะทำให้ยากจน ส่วนวิธีที่อาจจะมีภาวะแทรกซ้อนจากการคลายเครียดก็มี เช่น ไปปฏิบัติธรรม แบบนี้ดี แต่ถ้าเลือกวิธีผิดก็อาจจะมีปัญหาได้อีก ส่วนวิธีคลายเครียดที่ต้องพึ่งพาคนอื่นก็มีไม่น้อย เช่น ระบายเรื่องคับข้องใจให้เพื่อนสนิทฟังแล้วเพื่อนกลับเอาไปลงเฟสบุ๊กอันนี้ก็พึงระวัง การออกกำลังกายจึงเป็นวิธีคลายเครียดที่ลงทุนน้อยแต่ว่าได้ผลมากอย่างแน่นอน”

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  รัศมี มณีนิล

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

 

OTHER