Mom Gen 2 EP.18 คุณเป็นพ่อแม่ที่หยิบยื่นโรคซึมเศร้าให้ลูกหรือไม่

22 มิถุนายน 2020 115 ครั้ง

Mom Gen 2 EP.18 คุณเป็นพ่อแม่ที่หยิบยื่นโรคซึมเศร้าให้ลูกหรือไม่

คุณเป็นพ่อแม่ที่ “หยิบยื่นโรคซึมเศร้าให้ลูก” หรือไม่ ? มาสำรวจตัวเองด้วย 4 ข้อคำถามใน Mom Gen 2 EP.18 กันค่ะ

ข้อมูลจากศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เมื่อปี 2562 พบว่า เฉลี่ยแล้วคนไทยมีความพยายามฆ่าตัวตาย 53,000 คนต่อปี ฆ่าตัวตายได้สำเร็จประมาณ 4,000 คนต่อปี ส่วนคนที่ฆ่าตัวตายไม่สำเร็จก็มีแนวโน้มที่จะพยายามกลับมาฆ่าตัวตายซ้ำ

 

สาเหตุการตายอย่างผิดธรรมชาติ อันดับแรกคือเรื่องของอุบัติเหตุ สองคือการฆ่าตัวตาย สามคือการฆ่ากันตาย คือฆ่าผู้อื่น ไม่ได้ฆ่าตัวเอง ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนอะไร

โรคซึมเศร้า เป็นอีกโรคหนึ่งที่หากคนใกล้ตัวไม่มีความรู้ ความเข้าใจ และไม่สามารถที่จะดูแลผู้ป่วยหรือคนที่มีอาการเข้าได้ มีโอกาสเหลือเกินที่จะทำให้คนกลุ่มเหล่านั้นเลือกหนทางในการฆ่าตัวตาย

 

ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคนี้ 1.5 ล้านคน  ปี 2559 พบว่าในไทยมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากเป็นอันดับสามของโลก รองจากญี่ปุ่นและสวีเดน สาเหตุมาจากสารสื่อประสาทในสมองทำงานผิดปกติ ซึ่งเกิดได้หลายสาเหตุ เช่น การหลั่งฮอร์โมน การหลั่งสารสื่อประสาทผิดปกติ หรือมาจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอก

 

ในส่วนของปัจจัยภายนอกก็จะมีเรื่องของความผิดหวัง ความสูญเสีย ความเครียด เมื่อปัจจัยเหล่านี้มันมารวมกันก็ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้ ความคิด ทัศนคติ การตัดสินใจ การมองโลก ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด บางคนไม่สามารถบังคับความคิดของตัวเองได้ เพราะว่าสารสื่อประสาทในสมองผิดปกติ ทำให้เกิดความรู้สึกว่า จะมีชีวิตอยู่ไปทำไม

เด็กยุคนี้มีความเสี่ยงสูงมาก เพราะมีความกดดันสูง การแข่งขันรอบตัว รวมไปถึงสภาพแวดล้อมและค่านิยมของสังคมที่เป็นตัวกระตุ้นว่าเด็กต้องเก่งเท่านั้นจึงจะอยู่รอด และในบางกรณีพบว่า พ่อแม่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ลูกเผชิญกับความเครียด และส่งผลให้ลูกมีภาวะซึมเศร้าได้

 

4 ข้อสำรวจคุณเป็นพ่อแม่ที่เข้าข่ายหยิบยื่นโรคซึมเศร้าให้ลูกหรือไม่

 

1. คุณเป็นพ่อแม่ที่ไม่เคยฝึกให้ลูกผิดหวังหรือเปล่า

 

ความผิดหวังเป็นบทเรียนที่ดีที่ทำให้ลูกได้เรียนรู้ว่าทุกคนมีทั้งความสมหวัง ความผิดหวัง สิ่งสำคัญที่สุดคือการสร้างภูมิคุ้มกันทางด้านจิตใจ หรือสร้างวัคซีนใจให้ลูกอย่างรอบด้าน สอนให้ลูกรู้จักยอมรับสิ่งต่าง ๆ อย่างเป็นเหตุเป็นผล รู้จักผิดหวังให้เป็น

 

2. คุณเป็นพ่อแม่ที่ไม่เคยให้กำลังใจลูกหรือเปล่า

 

กำลังใจและคำพูดด้านบวกมีพลังเสมอที่จะช่วยให้จิตใจของลูกเข้มแข็ง การสร้างความภาคภูมิใจในตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ ให้ลูกได้เรียนรู้ชีวิตจริงผ่านความผิดหวังของผู้คน จากข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ว่าเขาเหล่านั้นสามารถลุกขึ้นมาสู้ยังไง เขาผ่านวิกฤติทางใจเหล่านั้นได้อย่างไร หยิบกรณีตัวอย่างขึ้นมาเป็นการกระตุ้นพลังทางบวก

 

3. คุณเป็นพ่อแม่ที่ไม่เคยให้ลูกเผชิญอุปสรรคหรือเปล่า

 

ชีวิตมีหลายด้านที่ต้องเรียนรู้ ไม่จำเป็นที่จะต้องเรียนหนังสือเก่งเท่านั้นถึงจะได้รับการยอมรับ ลูกเราอาจเก่งด้านอื่น ถนัดด้านอื่น เขาก็ควรได้รับการยอมรับเช่นกัน ทุกช่วงชีวิตของมนุษย์ล้วนต้องมีอุปสรรคอยู่ที่มากหรือน้อย แล้วก็ทัศนคติต่อการใช้ชีวิตว่าพร้อมที่จะเผชิญอุปสรรคหรือไม่

 

4. คุณเป็นพ่อแม่ที่ไม่เคยยืดหยุ่นหรือเปล่า

 

ความยืดหยุ่นเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตที่ต้องสร้างให้ลูก ๆ สามารถปรับตัวได้ทุกสถานการณ์ เมื่อมีผิดหวังก็มีสมหวัง ต้องทำให้ลูกได้เรียนรู้กับสิ่งเหล่านี้ ทุกเรื่องมีทางออกเสมอ ต้องไม่ยึดติด หรือคิดว่าชีวิตหมดหนทางแล้ว

 

เหนือสิ่งอื่นใด พ่อแม่ต้องเข้าใจชีวิตอย่างรอบด้าน ไม่เป็นส่วนหนึ่งของการกดดันชีวิตลูก ต้องมีพื้นที่สำหรับการผ่อนคลาย การพูดคุย และการให้เวลาในครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ ลูกยิ่งโต ยิ่งเข้าสู่วัยรุ่น พ่อแม่ต้องเปิดหูให้กว้าง พูดให้น้อย ฟังให้มาก ฟังลูกด้วยใจที่เปิด ยาที่ป้องกันซึมเศร้าได้ดีที่สุดและสำคัญที่สุด ก็คือยาใจที่มาจากพ่อแม่

 

โรคซึมเศร้าไม่ใช่เรื่องไกลตัว คนเป็นพ่อแม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันชีวิตให้กับลูกได้

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

OTHER