On the Way Home EP.19 เล่าเรื่องกรุงสยาม ๒

03 กรกฎาคม 2020 83 ครั้ง

On the Way Home EP.19 เล่าเรื่องกรุงสยาม ๒

มาย้อนอดีตไปในสมัยรัชกาลที่ ๔ อีกครั้งกับบาทหลวงปาลเลกัวซ์ สำหรับอีพีนี้จะพาไปรู้จักกับพืชพรรณธัญญาหารที่อุดมสมบูรณ์มากในประเทศสยาม จะเหมือนหรือแตกต่างจากปัจจุบันมากน้อยเพียงใด มาติดตามกันค่ะ

*จากหนังสือ เล่าเรื่องกรุงสยาม เขียนโดย มงเซเญอร์ ปาลเลกัวซ์ แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร สำนักพิมพ์ ศรีปัญญา

 

** สามารถติดตามย้อนหลังอีพีที่ผ่านมาได้ที่ On the Way Home EP.18 เล่าเรื่องกรุงสยาม ๑

 

ย้อนไปเมื่อ 165 ปีที่ผ่านมา ท่านบาทหลวงปาลเลกัวซ์บอกว่า ในประเทศสยามมีข้าวโพด แตงกวา ฟัก หัวผักกาด กะหล่ำปลี ผักกาดเขียว ผักกาดหอม แตงโม แตงไทย มะเขือ มันฝรั่ง ผักคึ่นไช่ สะระแหน่ ผักชีฝรั่ง ผักชีฝอย ยี่หร่า เมล็ดผักชี หัวกระเทียม หัวหอม ต้นกระเทียม ถั่วลันเตา ถั่วแขก แล้วก็มีพืชผักสวนครัวอีกเป็นอันมากที่ท่านปาลเลกัวซ์บอกว่า ข้าพเจ้าไม่รู้ชื่อในภาษาฝรั่งเศส

 

มันชนิดต่าง ๆ

 

บาทหลวงปาลเลกัวซ์ บอกว่า มันเทศกับมันมือเสือก็มีอยู่มาก ท่านเคยเห็นมันมือเสือสีม่วง มีน้ำหนักหัวหนึ่ง 20-30 ปอนด์ ตามภูเขาและในป่ามีมันหลายพันธุ์อันเป็นแหล่งช่วยสำคัญในยามที่ไม่ค่อยจะมีอะไรกิน ก็จะอาศัยกินพวกหัวเผือกหัวมันพวกนี้

 

แล้วก็ได้พูดถึง กลอย ว่า “กลอยเป็นมันชนิดหนึ่ง แล้วก็เป็นที่น่าสงสัยตรงที่มีเนื้อขาวมาก แต่มันมีพิษเป็นสิ่งที่เบื่อเมา ก่อนใช้บริโภคจะต้องหั่นเป็นแว่น แล้วก็เอาลงแช่น้ำไว้หลาย ๆ วัน แล้วจึงเอาขึ้นตากแดดให้แห้ง”

 

ต้นตาล

 

บาทหลวงปาลเลกัวซ์มีการพูดถึงรายละเอียดของต้นตาลว่า

 

ต้นตาลหรือจะเรียกกันให้ถูกต้องก็ว่า ต้นพัดใบตาล เป็นพันธุ์ไม้ที่สง่างามมาก แต่ละใบจะมีก้านเหยียดออกไปเหมือนกับนิ้วมือ คล้ายกับพัดขนาดใหญ่ที่มีด้ามถือ ต้นตาลนี้เติบโตช้ามาก ปลูกแล้วตั้ง 15 ปีจึงจะมีผล มีขนาดลำต้นสูง และก็ยืนต้นอยู่ได้เป็นศตวรรษ ศตวรรษทีเดียว มีใบอยู่ตอนปลายหรือยอดเท่านั้น

 

ผลของมันจะออกเป็นทลาย เมื่อผ่าออกแล้วจะมีเนื้อรูปหัวใจ ขนาดสักเท่ากำมือ ทำขนมกินอร่อยนัก ในยามที่มันแตกดอก เขาจะปาดที่ก้านงวง เอากระบอกไม้ไผ่รอง จะมีน้ำรสหวานจัดและน่าดื่มไหลออกมาเต็ม ถ้าเก็บเอาไว้เพียง 1 วันเท่านั้นจะกลายเป็นน้ำตาลเมาไปทันที ถ้าเอาไปต้มให้ไอระเหยจนงวดเสียตั้งแต่ยังสด ๆ ก็จะได้น้ำตาลปึก รสดีเป็นอันมาก เขานำเอาใส่หม้อดินไปขาย เรียกกันว่า น้ำตาลโตนด

 

ส่วนต้นตาลประเภทลานนั้น รูปร่างก็คล้าย ๆ กับต้นตาลโตนดที่กล่าวมาแล้ว เขาใช้ใบของมันในการเขียนหนังสือ โดยใช้เหล็กจาร ทำเฉพาะคัมภีร์ทางศาสนาเท่านั้น เมื่อจารอักขระลงแล้ว ก็ใช้หมึกพิมพ์ทาทับ ลายลักษณ์อักษรที่จารไว้จะปรากฎขึ้นชัดเจนและไม่ตกลอก

 

จากนั้นท่านก็พูดถึงต้นตาลอีกพันธุ์หนึ่ง คือ มะพร้าว บอกว่า

 

ต้นไม้นี้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางทีเดียว ลูกมะพร้าวเนี่ยใหญ่เท่าหัวคนตอนที่มันยังอ่อน ๆ อยู่ แล้วก็จะมีน้ำรสหวานชุ่มคอ ประมาณ 2-3 ถ้วยแก้ว เนื้อของมันก็ขาวแล้วก็นุ่มราวกับครีม และเมื่อมะพร้าวแก่หรือห้าว เนื้อมันก็จะแข็ง แล้วก็หนาประมาณนิ้วหนึ่ง ก็จะมีการขูดเอาเนื้อขาว ๆ นี้ เอามาคั้นในน้ำอุ่น แล้วก็เอาผ้าขาวบางกรอง ก็จะได้ส่วนผสมน้ำปนมัน เรียกกันว่า น้ำกะทิ

 

มีประโยชน์ใช้กันมากในการทำขนมหรือแกงคั่ว ถ้าเราต้มกะทิให้แตกมัน เราจะได้น้ำมันลอยเป็นฝาบาง ๆ ไม่ข้นและมีกลิ่นหอม อย่างที่ในประเทศฝรั่งเศสเราเรียกกันว่า น้ำมันเนยมะพร้าว น้ำมันชนิดนี้ในเมืองร้อนจะมีลักษณะเหลว จะแปรสภาพเป็นเนยก็ต่อเมื่อได้รับความเย็น 18 ดีกรีเหนือศูนย์ น้ำมันนี้หืนเร็ว เพราะฉะนั้นเขาจึงใช้ในการครัวเฉพาะเมื่อมันยังใหม่ ๆ อยู่เท่านั้น

 

แล้วก็พูดถึงเส้นใยในเปลือกมะพร้าวว่าใช้สำหรับทำเชือกใช้กับเรือได้ดีมาก ๆ

 

ถัดมาคือ ต้นตาลจำพวกสาคู ท่านได้พูดถึงว่า

 

มีมากในแถบแหลมมลายา พันธุ์ไม้ที่น่าสนใจนี้ เขาใช้ใบมุงหลังคา ส่วนลำต้นบริบูรณ์ไปด้วยเยื่อแป้ง มีประโยชน์ในการบริโภคมาก แล้วก็จะมีการทอนลำต้นออกเป็นท่อนเล็ก ๆ แล้วก็ผ่าสองดึงเอาเยื่ออ่อนออก แล้วก็เอาลงบดขยำในน้ำ แล้วก็กวน คั้นแล้วก็เทลงในตะแกรง กรองลงเป็นแป้งนอนก้น จากนั้นก็รินน้ำทิ้งแล้วก็เอาแป้งมาปั้นให้เป็นเม็ด ๆ สาคูเมื่อต้มกับน้ำตาลใส่น้ำกะทิแล้วเป็นของหวานที่อร่อย แม้ชาวยุโรปก็ชอบ

 

ทุเรียน ราชาแห่งผลไม้

 

บาทหลวงปาลเลกัวซ์ บอกว่า ทุเรียนได้ชื่อว่าเป็นราชาแห่งผลไม้ เป็นต้นไม้ที่มีทรงสูงสง่า เปลือกของทุเรียนมีเปลือกแข็ง มีหนามทรงกรวยคว่ำโดยรอบ ผลใหญ่ขนาดสักเท่าแตงโม เมื่อสุกแล้วเปลือกของมันซึ่งเป็นกลีบจะแตกออกเป็น 4-5 พู สุดแท้แต่จะเรียกกัน ในเนื้อนั้นมีเนื้ออันวิเศษและเลิศรสยิ่ง อร่อยยิ่งกว่าครีมอย่างดีเสียอีก กลิ่นของทุเรียนนั้นฉุนและน่ารังเกียจสำหรับชาวยุโรปที่เพิ่งจะมาถึงใหม่ ๆ โดยที่คนที่มาถึงใหม่ ๆ แล้วยังไม่คุ้นเคย จะเอากลิ่นทุเรียนไปเปรียบเทียบกับกลิ่นอุจจาระ แต่หลังจากนั้นเมื่อบริโภคเนื้อผลไม้ทุเรียนเข้าไปแล้ว กลิ่นของมันก็จะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นหอมไปได้อย่างน่าอัศจรรย์

 

เมื่อเรากินทุเรียนแล้ว มีระเบียบอยู่ว่า เราจะต้องกินมังคุดด้วย กล่าวกันว่าทุเรียนนั้นร้อน จะเป็นที่จักต้องบรรเทาอุณหภูมิลงเสียบ้างด้วยสิ่งที่ชุ่มอกชุ่มคอ

 

มังคุด

 

บาทหลวงปาลเลกัวซ์ได้อธิบายถึงต้นมังคุดว่า ใบดกเป็นพุ่ม ผลของมันมีขนาดเท่าผลส้ม เปลือกเป็นสีน้ำตาลแก่ทางด้านนอก แล้วก็สีแดงทางด้านใน ส่วนโค้งในเปลือกที่หุ้มเนื้อใน แบ่งออกเป็นห้อง ๆ มีเนื้อขาวอิ่มน้ำ หุ้มเมล็ดขม ผลมังคุดนั้นชวนกิน ทั้งกลิ่น ทั้งรส มีกลิ่นน่าชื่นใจคล้ายกลิ่นผลราสเบอร์รี่ ชุ่มคอ สะอาดมาก และไม่ทำให้ท้องเสีย ชาวยุโรปจึงเยินยอกันนักว่า เป็นผลไม้จำพวกรสดีที่สุดในภาคอินเดีย เปลือกของมันมีรสฝาดมาก ใช้ในการย้อมผ้าให้เป็นสีดำ

 

มะม่วง

 

มะม่วงเป็นต้นไม้ที่ได้รับการยกย่องอยู่ในบรรดาไม้ผลว่ามีรสดี หลากชนิด แล้วก็มีผลดก มะม่วงเป็นพันธุ์ไม้ที่ใหญ่และงามมาก ผลของมันแตกต่างกันโดยขนาดและโดยรูปร่างแล้วแต่ชนิดของมัน

 

มะม่วงลูกจะโค้ง ๆ หน่อย แล้วก็มีรอยคอดที่ด้านข้างเหมือนอย่างเอวคน เปลือกแข็งแรงแม้จะบาง มีเนื้อสีเหลืองอิ่มน้ำ แล้วก็รสดี

 

มะม่วงมีคุณสมบัติในทางฟอกโลหิตและไม่ค่อยทำให้เสียท้องสักเท่าไร เอาลงดองเอาไว้ในน้ำส้ม เป็นเครื่องกินประเภทยั่วน้ำลาย ใช้แทนแตงดองได้เป็นอย่างดี

 

ขนุน

 

บาทหลวงปาลเลกัวซ์บอกว่า ในประเทศสยาม มีผู้รู้จักขนุนอยู่ 2 พันธุ์ พันธุ์แรกเป็นต้นไม้ มีใบยาวแหว่งลึกเป็นแฉก ๆ ผลนั้นกลมและยาว บางทีใหญ่ขนาดเท่าหัวคน ภายในเปลือกอันหนานั้น เนื้อร่วน มีลักษณะเป็นแป้ง และออกจะมีเส้นอยู่สักหน่อย ในระยะที่สุกเต็มที่ เนื้ออิ่มน้ำและยุ่ยมาก แต่ทำให้ท้องเดิน ฉะนั้นเขาจึงชิงเก็บตั้งแต่ยังไม่ทันสุก ในระยะนี้ เนื้อของมันจะขาวและแน่น เขาใช้ปิ้งหรือต้ม ปอกผิวทิ้ง แล้วก็กินทั้งอย่างนั้น โดยที่ไม่ต้องปรุงรสอะไรอีก เป็นอาหารที่สะอาดและอร่อยมาก รสชาติละม้ายคล้ายไปทางขนมปังที่ทำด้วยแป้งสาลี หรือมิฉะนั้นเขาก็หั่นออกเป็นชิ้น ๆ เอาลงต้มในน้ำเชื่อมของตาลโตนด แล้วใส่กะทิพอควร (สันนิษฐานว่าน่าจะหมายถึง สาเก)

 

ส่วนขนุนชนิดที่ 2 เป็นพันธุ์ไม้ใหญ่ ใบกลม รูปไข่ ลำต้นของมันเป็นสีเหลือง ใช้ย้อมไตรจีวรของพระภิกษุ ผลของมันเป็นรูปไข่รี ๆ และใหญ่ มีขนาดน้ำหนักตั้งแต่ 10-40 ปอนด์ ฉะนั้นผลจึงออกตามลำต้น หรือลำกิ่งใหญ่ ๆ ที่พอจะทานน้ำหนักของมันได้ เขาผ่าผลไม้ขนาดใหญ่นี้ออกเป็นซีก ๆ แล้วควักเอาเมล็ดใหญ่ซึ่งหุ้มด้วยยวงสีเหลืองออกมา เนื้อหนาและหอม เขากินยวงขนุนนั้น สำหรับเมล็ดใช้ต้มหรือเผาอย่างเกาลัด พวกเด็ก ๆ ชอบกินเม็ดขนุนมาก เป็นที่น่าสังเกตว่า ผลไม้อย่างนี้ผลเดียวกินกันได้ตั้ง 15-30 คน

 

ชมพู่

 

เป็นต้นไม้พันธุ์ใหญ่ ดอกสีชมพู ออกผลเล็ก ๆ เป็นสีชมพูเหมือนกัน มีรสอร่อยดี นอกจากชมพู่ต้นใหญ่แล้ว ยังมีอีก 2 ชนิดที่เป็นไม้พุ่มอย่างขนาดกลางออกดอกสีขาวและใหญ่กว่าสีเขียว ส่วนชนิดที่เล็กกว่านั้น มีมูลค่าสูงกว่า แม้ว่าผลของมันจะเล็ก แต่มีกลิ่นเป็นน้ำดอกไม้ เพราะฉะนั้นจึงหาซื้อกันเพื่อนำไปเยี่ยมคนไข้มาก ต้นไม้สองชนิดนี้ประดับสวนงามด้วยลำต้นมีทรงสง่า และดอกก็งามมาก

 

มะปราง

 

เป็นผลไม้ประเภทพลัม ผลของมันยาวรี สีเหลืองทอง เนื้ออิ่มน้ำและหวานจัด เปลือกหุ้มเมล็ดนั้นเรียบ ลื่น

 

ลิ้นจี่ (บาทหลวงปาลเลกัวซ์จัดลิ้นจี่ ลำไย และเงาะ ให้อยู่ในผลไม้ชนิดเดียวกัน จึงกลายเป็นลิ้นจี่มีทั้งหมด 3 ชนิด)

 

ลิ้นจี่สีแดงให้ผลเป็นพวงสีแดง ขนาดเท่าผลมะปราง ภายในเปลือกมีเนื้อค่อนข้างใส ผลไม้ชนิดนี้เมื่ออบให้แห้งจะเก็บไว้ได้ตลอดปี

 

แล้วก็มีลิ้นจี่อีกชนิดหนึ่ง คนไทยเรียกว่า ลำไย เป็นพันธุ์ไม้ที่งามกว่าชนิดแรกแต่ให้ผลเล็กกว่า เป็นผลกลม เปลือกสีเหลืองเทา รสหวานอ่อน มีกลิ่นหอม ชุ่มคอ และชุ่มอกดีมาก ค้างคาวชอบกิน เพราะฉะนั้นในระยะที่ผลไม้สุก จะต้องใช้ชะลอมไม้ไผ่สวมครอบเอาไว้เพื่อป้องกันไม่ให้พวกค้างคาวมาแอบกินไปซะก่อน

 

เงาะก็เป็นพันธุ์ไม้ที่งามอีกเหมือนกัน ผลสีแดงและเหลืองของมัน มีเปลือกหนาและผลดก เนื้อมีรสอร่อยมาก แต่โดยที่เนื้อติดเมล็ด จึงต้องใช้วิธีดูดเอาเท่านั้น ซึ่งทำให้กินยากไปหน่อย

 

สะท้อนหรือกระท้อน (สมัยก่อนเรียก สะท้อน)

 

เป็นต้นไม้ที่ใหญ่ที่สุดในสวนเลย ผลของมันใหญ่ขนาดเท่ากับลูกท้อ เนื้อเป็นปุยสีขาว มีรสเปรี้ยวน่ากิน เปลือกกระท้อนเกลี้ยงและหนา ถ้ารู้จักวิธีอาจนำเอาไปกวนแช่อิ่มได้

 

มะขวิด

 

เป็นผลไม้ที่มีลักษณะกลม เปลือกแข็ง แข็งมาก แล้วก็หนา เนื้อมีรสเปรี้ยวอ่อน ๆ รสชาติคล้ายแอปเปิ้ลกวน แต่ว่ามีเมล็ดเล็กค่อนข้างเยอะ

 

มะตูม

 

เป็นพันธุ์ไม้ประเภทเดียวกับมะขวิด แต่ผลเป็นรูปไข่ เปลือกหนากว่ามะขวิด ต้องใช้ค้อนทุบถึงจะแตก เนื้อเหลือง มีน้ำหวานใสและเหนียว มีกลิ่นหอมน่ากิน

 

มะขาม

 

ต้นนี้ให้ประโยชน์มากเหลือเกิน แผ่กิ่งก้านสาขาไปไกล ต้นหนึ่งสามารถที่จะยืนต้นอยู่ได้นับร้อย ๆ ปี คนมักจะชอบเข้าไปพักในร่มแล้วก็เล่นหัวกัน ใบอ่อนใช้ปรุงรสแกง ฝักอ่อนชูรสอาหารได้ไม่เลว เนื้อเมื่อเอาเมล็ดออกแล้ว เก็บเอาไว้ใช้ได้ทั้งปี มีรสเปรี้ยวอร่อย อาจใช้มะขามเปียกนี้แทนน้ำส้มได้ และเมื่อฉาบเข้าด้วยน้ำตาล ก็เป็นของกินสำหรับคนเจ็บไข้ได้ป่วยดีนัก

 

ฝรั่ง

 

ฝรั่ง คือ ผลสาลี่ของอินเดีย หรือว่าอย่างน้อย ๆ ก็มีรูปพรรณคล้าย ๆ กัน บาทหลวงปาลเลกัวซ์แบ่งฝรั่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ฝรั่งเนื้อขาว กับ ฝรั่งเนื้อแดง (ฝรั่งขี้นก) ท่านบอกว่า อย่างหลังอร่อยกว่าอย่างแรก

 

มะละกอ

 

เป็นพันธุ์ไม้ที่แปลกมาก เติบโตเต็มที่ได้ภายใน 1 ปี ลำต้นเกลี้ยงเกลา แม้บางต้นจะมีขนาดใหญ่เท่าลำตัวคน แต่อาจใช้มีดฟันฉับเดียวให้ขาดได้ ผลมะละกอจะเรียงรายอยู่ที่กิ่งใกล้ยอด เปลือกสีเขียวจะกลายเป็นสีเหลืองเมื่อสุก มะละกอนั้นคล้ายแตงไทยขนาดเล็กมาก เนื้อของมันมีสีเหลืองแก่ ซึ่งมีรสหวานและหอม มีเมล็ดสีดำเป็นจำนวนมาก รวมเป็นกระจุกอยู่ในช่องว่างในห้องกลางของผล เมล็ดนี้เผ็ดหอม ใช้เบื่อพยาธิดีนัก ฉะนั้นจึงมีบางคนที่กลืนกินมันไปพร้อมกับเนื้อ

 

น้อยหน่า

 

เป็นต้นไม้ที่งามอีกชนิดหนึ่ง เปลือกของมันเป็นเกล็ดตะปุ่มตะป่ำ มีปุยเนื้ออันขาวและฉ่ำ มีเมล็ดสีดำเลี่ยน น้อยหน้าอีกชนิดหนึ่งมีหนาม ให้ผลเป็นรูปหัวใจ มีหนามอ่อน ๆ เนื้อในขาว ฉ่ำ หอม คล้ายเนยอ่อน ๆ มีรสเปรี้ยวนิด ๆ ในประเทศสยามยังมีพันธุ์ไม้ประเภทน้อยหน่าอีก 2 ชนิด เปลือกสีแดง รูปหัวใจและผิวเกลี้ยง เนื้อขาวเหมือนครีมข้น ๆ ใช้ช้อนตักบริโภค (สันนิษฐานว่าอาจจะหมายถึงน้อยโหน่ง)

 

กล้วย

 

เป็นพันธุ์ไม้ประเภทผักมากกว่าจะเป็นไม้ผลประเภทยืนต้น กล้วยปลูกง่าย ลำต้นมีลักษณะเหมือนฟองน้ำ ในระยะที่เติบโต หน่อ 4 หน่อของมันก็จะเติบโตตามไปด้วย กล้วยให้ผลเพียงครั้งเดียวแล้วก็ต้องตัดทิ้ง แต่เมื่อตัดต้นใหญ่ได้ไม่นานเท่าไหร่ หน่อของมันก็จะเจริญขึ้นอย่างรวดเร็วมาแทนที่แล้วก็ให้ผลต่อไป เพราะฉะนั้นต้นกล้วยจึงเพิ่มพูนจำนวนในตัวของมันเองอยู่เรื่อย ๆ แล้วก็สืบพันธุ์อยู่ได้ โดยไม่มีที่สุด

 

หยวกกล้วย ก็ใช้เป็นผักแกงได้ ลำต้นส่วนที่เหลือก็ให้สัตว์เลี้ยงกินไป เช่น หมู ต้นกล้วยเมื่อเติบโตเต็มที่จะออกปลีสีแดง แล้วกาบก็จะแยก แล้วออกดอกออกผลเป็นหวี ติดอยู่กับก้านเครืออันกลมและแข็งแรง กล้วยเครือหนึ่งบางทีมีตั้ง 200 ผล

 

มีกล้วยอยู่ประมาณ 50 ชนิด บางชนิดผลใหญ่เท่านิ้วมือเท่านั้นเอง บางชนิดก็ใหญ่กว่าบางชนิดเทียบได้กับงาช้าง กล้วยมีรสชาติต่าง ๆ กัน หวานอ่อน หวานจัด อมเปรี้ยว ฉ่ำ เนื้อร่วน หอม แล้วแต่ชนิด

 

กล้วยเป็นอาหารสำคัญของคนไทย เป็นอาหารชนิดแรกของเด็กอ่อนที่ยังกินนมอยู่ แล้วก็เป็นอาหารสามัญของคนทั่วไปตลอดปีเพราะว่ามันไม่มีฤดูกาล กินได้ตลอดปี ใบของต้นกล้วยคือใบตอง ก็ใช้ในกิจการบ้านเรือนได้มากมายหลายอย่าง

 

มะกอก

 

ในป่ามีมะกอก ผลฝาด แล้วก็เปรี้ยวอ่อน ๆ มีคุณสมบัติประหลาดนัก เป็นผลไม้ที่กินไปตอนแรกรสจะฝาด แต่ถ้าท่านดื่มน้ำตามเข้าไปหลังจากที่กินมันเข้าไปแล้ว จะรู้สึกว่าน้ำนั้นมีรสหวาน และติดปากไปทั้งวัน

 

นอกจากผลไม้เหล่านี้แล้ว บาทหลวงปาลเลกัวซ์ก็บอกว่า ประเทศสยามมีผลไม้ประเภทส้มอย่างดี ๆ อีกประมาณ 20 ชนิด ส้มเกลี้ยง ส้มโอ มะนาว มะกรูด แล้วก็พูดถึงทับทิม พุทรา สับปะรด มะเฟือง มะกอกป่า กระบกป่า แล้วก็ผลไม้ป่าอีกหลายชนิด ซึ่งล้วนแต่ใช้บริโภคได้ทั้งนั้น

 

ต้นโพธิ์ ต้นไทร

 

ข้าพเจ้าไม่อาจงดเว้นพรรณาเสียได้ว่า ยังมีพันธุ์ไม้งามอีก 2 ชนิด ที่เขามักปลูกกันในบริเวณวัด ไม่มีผลแต่มีสาขาร่มรื่นนัก เป็นพันธุ์ไม้ที่นำมาจากประเทศอินเดีย ใบกว้าง เป็นพันธุ์ไม้ศักดิ์สิทธิ์ ด้วยพระสมณโคดมได้บรรลุถึงความตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ณ ใต้ร่มไม้ชนิดนี้ (ต้นโพธิ์) อีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า ไทร มีใบดกกว่าอย่างแรก มีรากแตกจากกิ่งห้อยย้อยยาวลงมาถึงพื้นดิน แล้วก็งอกเป็นลำต้นขึ้นไปใหม่อีก บางทีต้นไม้ชนิดนี้เพียงต้นเดียว จะมีลำต้นตั้งโหล แผ่กิ่งก้านสาขาออกไป กินพื้นที่มากมาย และให้ความร่มรื่นเป็นอันมาก

 

จากนั้นก็มีการพูดถึง ไม้ไผ่ ว่ามีประโยชน์มาก บ้านเรือนส่วนใหญ่ของราษฎรปลูกสร้างขึ้นด้วยไม้ไผ่แทบทั้งนั้นแล้วก็มีการพูดถึงต้นไม้ที่ใช้สำหรับการย้อมสี ก็จะมีต้นกรรณิการ์ ชิงชัน แก่นขนุน ฝาง ยอ ยอป่า แล้วก็มีลูกมะเกลือสำหรับย้อมแพรไหมสีดำ ขมิ้นชัน สำหรับย้อมให้เป็นสีชมพู ครั่ง ย้อมให้เป็นสีแดง

 

แล้วก็มีการพูดถึงต้นรัก ต้นไม้ที่ใช้ทำเคลือบมัน เป็นพันธุ์ไม้จำพวกกล้วย ให้เคลือบเงางามมาก จะเห็นได้จากกล่องเล็ก ๆ ที่นำมาจากเมืองจีน คือกล่องที่เป็นกล่องลงรักปิดทอง

 

ในส่วนของบทที่กล่าวถึงพืชพรรณธัญญาหารนี้ ยังมีพูดถึงพวกดอกไม้อีก เช่น ดอกมะลิ ดอกจำปา ดอกกระดังงา ท่านบาทหลวงปาลเลกัวซ์บอกว่า บรรดาไม้ดอกที่ปลูกกันอยู่ในทวีปยุโรปก็พบมากในประเทศสยาม เช่น กุหลาบ บานไม่รู้โรย ดาวเรือง พุทธชาด ราตรี หงอนไก่ ทานตะวัน ซ่อนกลิ่น

 

รู้เรื่องเกี่ยวกับพืชพรรณธัญญาหารไปมากมายแล้ว อีพีหน้า จะพาไปย้อนอดีตทำความรู้จักกับสัตว์ ในสมัยเมื่อ 165 ปีที่ผ่านมาว่ามีสัตว์อะไรบ้าง ในมุมมองของบาทหลวงปาลเลกัวซ์ซึ่งเป็นคนต่างชาติจะเห็นว่าอย่างไร และสัตว์ในสมัยอดีตมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตผู้คนอย่างไร รอติดตามกันได้ใน On the Way Home EP.20 เล่าเรื่องกรุงสยาม ๓

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  รัศมี มณีนิล

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

 

 

 

OTHER