On the Way Home EP.12 การชม 2 แบบที่พ่อแม่ควรรู้

14 พฤษภาคม 2020 64 ครั้ง

On the Way Home EP.12 การชม 2 แบบที่พ่อแม่ควรรู้

ใคร ๆ ก็ชอบคำชม โดยเฉพาะเด็ก ๆ เพราะคำชมเป็นแรงบวก แต่ทราบไหมคะว่า คำชมที่ถึงแม้จะเป็นแรงบวก แต่ก็สามารถส่งผลลบต่อไปในอนาคตได้เช่นกัน

โดยเฉพาะคนเป็นพ่อแม่ เรามาดูกันดีกว่าว่าเราควรชมลูกแบบไหนกันแน่ ให้กลายเป็นผลบวก

 

ข้อมูลนี้นำมาจากหนังสือ Mindset ใช้ความคิดเอาชนะโชคชะตา เขียนโดย Carol S. Dweck

 

การชมแบบที่ 1 ชมคุณสมบัติ


เช่น ชมว่า เก่ง สวย หล่อ น่ารัก การชมแบบนี้เหมือนเป็นการตัดสินไปแล้ว ทำให้เด็กรู้สึกว่าไม่ต้องพัฒนาอะไร ในสังคมเราเจอกรอบความคิดแบบตายตัวบ่อยในสังคมไทย เช่น เรื่องของความที่เรารู้สึกเท่ ทั้ง ๆ ที่เราไม่ได้ใช้ความพยายาม ผู้เขียนยกตัวอย่าง เช่น เวลาที่เราทำคะแนนสอบได้ดี แล้วพอมีคนชมเราว่า "ขยันจังเลย สอบได้คะแนนดี" กับอีกแบบชมว่า "เก่งจังเลย สอบคะแนนได้ดี" คนส่วนใหญ่ อยากให้ชมว่าเก่งเพราะจะรู้สึกดี เท่ ซึ่งแบบนี้เป็นค่านิยมที่ให้คุณค่ากับคนที่เก่งมากกว่าคนที่พยายามฝึกฝน การชมแบบนี้ส่งผลเสียกับตัวเด็กในอนาคตมาก 

 

ยกตัวอย่างเด็กคนหนึ่งซึ่งเป็นเด็กฉลาด ทำคะแนนได้สูงทุกครั้ง พ่อชมลูกว่าเก่งมาโดยตลอด แต่แม่สังเกตว่า ลูกมักจะลังเลในโครงงานที่ยาก ๆ นั่นเป็นเพราะ เด็กต้องการอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย เพื่อรักษาภาพ "คนเก่ง" เอาไว้ ฉะนั้นเด็กจะไม่ทำในสิ่งที่ไม่เคย หรือยากกว่าเดิม เป็นสาเหตุที่เด็กไม่พยายามเรียนรู้และพัฒนา เพราะกลัวจะกลายเป็นคน "ไม่เก่ง" และจะสงสัยในความสามารถของตัวเองเวลาเจอเรื่องยาก ๆ หรือเมื่อเกิดเรื่องผิดพลาด ซึ่งความรู้สึกแบบนี้จะมีผลกระทบไปสู่เรื่องอารมณ์อีกด้วย

 

การชมแบบที่ 2 ชมที่ความพยายาม ความตั้งใจ

 

เช่น ชมว่าอดกลั้นได้ ที่ถูกเพื่อนรังแก / พยายามดีมากที่ตั้งใจอ่านหนังสือ การชมแบบนี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้เด็กรู้สึกว่าทำดีต่อไป ทุกอย่างพัฒนาและฝึกฝนได้ ถ้าพ่อแม่อยากให้ลูกมีความเชื่อมั่น ต้องสอนลูกให้รักการท้าทาย ให้ความผิดพลาดเป็นแรงกระตุ้น ให้เกิดความพยายาม หมั่นเรียนรู้อยู่ตลอด ไม่ตกเป็นทาสของคำชม เขาจะรู้วิธีสร้าง

และซ่อมแซมความสามารถของตัวเองไปตลอดชึวิต 

 

พ่อแม่เป็นคนที่สำคัญมากที่จะทำให้ลูกมีความเชื่อมั่น มั่นใจในตัวเอง รักความท้าทายของสามารถของตัวเองอยู่เสมอ ยกตัวอย่าง นักวิทยาศาตร์ระดับโลก โทมัส อัลวา เอดิสัน ผู้คิดค้นหลอดไฟ เขาไม่ได้ทำงานตามลำพัง

แต่มีผู้ช่วยถึง 30 คน บางครั้งก็ทำงานกัน 24 ชม. ทำในห้องทดลองทันสมัย โดยบริษัทบางแห่งเป็นสปอนเซอร์

และก็ไม่ใช่ประดิษฐ์แล้วได้หลอดไฟเลย แต่เกิดจากการทำงานนับครั้งไม่ถ้วน มีคำพูดว่า "เขาไม่ได้คิดว่าเขาล้มเหลว แต่ความล้มเหลวเหล่านั้นเป็นขั้นตอนหนึ่ง ของการประสบความสำเร็จ อย่างน้อยก็ได้รู้ว่า สิ่งที่ล้มเหลวคือ เรื่องที่ไม่ใช่"

 

รู้แบบนี้ อย่าลืมเลือกคำชมที่จะทำให้ลูกของเราได้รับผลบวกต่อไปในอนาคตกันนะคะ

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  รัศมี มณีนิล และ ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

 

OTHER