ปลดล็อคกับหมอเวช EP.Special 2 ค้นหาความสุขท่ามกลางโรค COVID-19

18 มีนาคม 2020 174 ครั้ง

ปลดล็อคกับหมอเวช EP.Special 2 ค้นหาความสุขท่ามกลางโรค COVID-19

"ความสุข" สร้างได้ แม้อยู่ภายใต้สถานการณ์กดดันหรืออันตราย

เราสามารถมีความสุขได้ภายใต้สถานการณ์ที่กดดันหรืออันตราย

 

เวลาที่ชีวิตมีวิกฤติ คนบางคนเติบโตขึ้นจากวิกฤติ คนบางคนอ่อนแอลงจากวิกฤติ ประเด็นไม่ได้อยู่ที่เกิดวิกฤติหรือเปล่า แต่อยู่ที่ทักษะความสามารถภายใน ทัศนคติ และท่าทีของเราว่ามีต่อการจัดการวิกฤติให้ถูกต้องได้อย่างไร

 

ในกรณีการระบาดของไวรัสโคโรนา เป็นโอกาสหนึ่งที่จะทำให้สังคมไทยเรียนรู้ และเข้มแข็ง เติบโตได้ มีความเชื่อมั่นไว้วางใจกันได้ ถ้ามีวิธีจัดการที่ดีทั้งในระดับชาติ ชุมชน และบุคคล 

 

หลักจิตวิทยาในการดูแลให้คนเข้มแข็งพร้อมเผชิญภาวะวิกฤติอย่างมีความสุขตามอัตภาพ

ความสุขจากความภูมิใจในการเกื้อกูลกันและเป็นผู้ให้

 

1. สร้างความรู้สึกปลอดภัยให้เกิดขึ้นในกลุ่มคน ซึ่งความรู้สึกปลอดภัยนี้เกิดขึ้นได้โดย

 

1.1 ถ้าเป็นระดับชาติ คือมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดที่ดี ประชาชนรู้สึกได้ว่ามาตรการนี้จะช่วยป้องกันเขาและคนที่เขารักได้ มีกฎหมายที่ทำให้กลไกของรัฐสามารถกำกับพฤติกรรมคนที่ไม่ทำตามได้ รวมทั้งมาตรการอื่น ๆ เช่น การสนับสนุนให้ทำงานที่บ้าน ซึ่งดีทั้งการคุมการแพร่ระบาดของโรค และสร้างความรู้สึกปลอดภัยให้ด้วย

 

1.2 ทำให้มาตรการต่าง ๆ ไม่สับสนและขัดแย้งกันเองในระดับนโยบาย โดยภาคประชาชนต้องช่วยด้วย อย่าสร้างความสับสน ความขัดแย้งด้วยการปล่อยข่าว สื่อต้องเลือกข่าว ต้องชัวร์ก่อนแชร์

 

2. สร้างความสงบ ความมั่นคงภายในใจ

ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ด้วยตัวเราเอง ทุกคนมีหน้าที่จัดระบบชีวิตเพื่อสามารถกลับมามีชีวิตที่เรียบง่ายภายใต้ข้อจำกัด และสามารถสร้างความรู้สึกสงบภายในใจผ่านการฝึกทักษะ เช่น ทักษะศาสตร์ผ่อนคลาย การมีความสุขอย่างง่าย ๆ รวมถึงการทบทวนความรู้สึกนึกคิด ตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง ซึ่งข้อนี้จะเป็นหนึ่งในการสร้างความสุข

 

3. มีกระบวนการเชื่อมโยงคนเข้าหาคน

ในยามวิกฤติมนุษย์ต้องการการเชื่อมโยง เกื้อกูล ต้องการมีเพื่อนช่วยเหลือยามต้องการ เราจำเป็นต้องหาวิธีว่าทำอย่างไรให้คนเชื่อมโยงถึงกัน เช่น ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสนี้ ประเทศอังกฤษเปิดระบบอาสาสมัครขึ้นมา โดยให้อาสาสมัครออกจากงานที่ตัวเองทำอยู่ได้ ซึ่งมีการรับประกันว่าเมื่อเสร็จวิกฤตินี้แล้วจะมีการหางานให้ทำ การเปิดพื้นที่เชื่อมโยงถึงกันเป็นพลังอย่างนึง ทำให้พลังภายในสังคมมีทิศทางไปสู่การสร้างสรรค์ ช่วยกันแก้ปัญหา 

 

4. เปิดพื้นที่ให้ได้ใช้พลังในการร่วมแรงร่วมใจกัน 

ทำอย่างไรให้มีระบบการให้ความช่วยเหลือเกื้อกูล การมีน้ำใจต่อกัน หน่วยงานภาคเอกชนก็ทำได้ หน่วยงานภาคชุมชนก็ทำได้ เพราะพลังของภาคประชาชนถ้าเกิดขึ้นได้ดีจะกลายเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่กัน

 

5. การสร้างความหวัง

ความสุขมีหลายรูปแบบ เกิดขึ้นได้แม้ในยามยากลำบาก หรือมีความกดดัน ความสุขประเภทนี้จะเกิดขึ้นจากการที่เราได้เชื่อมโยงเพื่อนมนุษย์ ได้เกื้อกูลช่วยเหลือกัน ได้เกิดความรู้สึกมีคุณค่า ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสังคม แม้จะยากลำบากแต่เราก็มีความสุขใจอยู่ลึกๆ เป็นคนละความสุขกับความสุขแบบสบาย 

 

ในความยากลำบากของเพื่อนมนุษย์ ถ้าเราได้ช่วยกันจะดีมาก มีหลายอย่างที่ช่วยกันทำได้ ขอให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ลองออกแบบดู แล้วจะพบว่าท่ามกลางความกังวลใจ ความเครียด และวิกฤติที่เกิดขึ้น เรายังหามุมความสุขสงบได้ ยังหาวิธีสร้างความสุขให้กับตัวเราได้

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  นพ.ประเวช  ตันติพิวัฒนสกุล

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

OTHER