ปลดล็อกกับหมอเวช EP.22 ทำอย่างไรเมื่อลูกหลานตกงานจากโควิด

25 กรกฎาคม 2020 102 ครั้ง

ปลดล็อกกับหมอเวช EP.22 ทำอย่างไรเมื่อลูกหลานตกงานจากโควิด

แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิดในประเทศไทยจะลดลง แต่ผลกระทบจากวิกฤติในครั้งนี้กลับส่งผลรุนแรงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสถานการณ์การตกงานของคนวัยทำงาน ผลกระทบนี้ไม่ได้กระทบแค่คนวัยทำงาน แต่กลับกระทบความรู้สึกของพ่อแม่ที่กังวลและเป็นห่วงลูก ดังนั้น ปลดล็อกกับหมอเวช อีพีนี้ จะเน้นในมุมมองของพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ที่มีลูกหลานตกงานจากโควิด จะจัดการความรู้สึกและให้ความช่วยเหลือลูกหลานในสถานการณ์นี้ได้อย่างไร มาติดตามคำแนะนำจากคุณหมอประเวชกันค่ะ

ทำอย่างไรเมื่อลูกหลานตกงานจากโควิด

 

1. มองลูกด้วยความเข้าใจลึกไปกว่าพฤติกรรมภายนอกของลูก

 

วิธีการช่วยลูกในการปรับตัวปรับใจกับความสูญเสีย คือ ให้เวลาและพื้นที่กับเขา เขาอาจต้องการคนพูดคุยด้วยแต่อาจไม่ใช่กับพ่อแม่ ที่เป็นเช่นนี้เพราะเวลามาคุย พ่อแม่มักมีความกังวล พยายามหาคำตอบให้ลูกได้ตอบชัด ๆ ว่าจะเอาอย่างไรกับชีวิต

 

การพยายามกระตุ้นให้ลูกมีคำตอบชัด ๆ คือการสร้างแรงกดดันเพิ่มให้ลูกโดยไม่ตั้งใจ สิ่งนี้เกิดจากความกังวลของพ่อแม่ที่เป็นทุกข์เพราะเห็นลูกเป็นทุกข์ อยากให้ลูกมีคำตอบจะได้มีแผนชีวิต แต่ในช่วงเวลาเช่นนี้ลูกอาจยังไม่มีแผนชีวิตที่ชัดเจน เราต้องให้เวลา ให้พื้นที่ ถ้าลูกยังสามารถพูดคุยกับคนอื่นได้ถือเป็นสัญญาณที่ดี เพราะเขายังมีกระบวนการจัดการความนึกคิดของเขาผ่านการพูดคุย

 

หลักการที่ดีคือทำอย่างไรก็ได้ ให้ลูกได้คุยและมีวงในการติดต่อ แต่พ่อแม่อย่าคาดหวังว่าลูกต้องปรึกษากับพ่อแม่ เพราะขึ้นอยู่กับต้นทุนในความสัมพันธ์ที่มีระหว่างกัน

 

มนุษย์เราจำเป็นต้องกิน นอน ออกกำลังกาย พบปะเพื่อนฝูง มีกิจกรรมหย่อนใจ แล้วก็ต้องมีการศึกษาหาความรู้ข้อมูลเพื่อจะได้วางแผนในอนาคตต่อได้ ถ้าพ่อแม่ดูอยู่ห่าง ๆ เห็นว่าลูกยังทำสิ่งเหล่านี้ได้ ก็ปล่อยให้เขาได้ดูแลชีวิตของเขา

 

ถ้าลูกกลับมาอยู่กับพ่อแม่ พ่อแม่มีหน้าที่ดูแลสิ่งแวดล้อมในบ้านให้เหมือนกับเป็นต้นไม้ใหญ่ที่มีร่มเงา เข้าไปพักร้อนแล้วมีความสุขสงบ ถ้าเขาอยากคุย เราก็คุย เขาอยากอยู่เงียบ ๆ เราก็ให้เขาอยู่เงียบ ๆ แต่ย้ำว่าเราต้องประเมินด้วยตัววัดอื่น เช่น เขายังกินข้าวไหม ออกกำลังกายไหม นอนหลับดีหรือเปล่า พบปะเพื่อนฝูงไหม ยังมีเสียงหัวเราะบ้างหรือเปล่า ยังทำกิจกรรมหย่อนใจไหม แล้วก็ยังมีความหวังในการที่จะเดินหน้าด้วยการหาข้อมูลและค้นคว้าปรึกษาคนอื่นไหม ถ้าเขาทำสิ่งนี้ได้ พ่อแม่ก็เพียงอยู่ใกล้ ๆ แล้วดูแลบรรยากาศ พูดคุยเมื่อเขาอยากคุย

 

 

2. เปิดโอกาสให้ลูกจัดการชีวิตตัวเอง

 

กระบวนการเปิดโอกาสมี 2 แบบ

 

แบบแรกคือ พ่อแม่เข้าไปเกี่ยวข้อง ถ้าลูกไว้ใจคุยด้วย เช่น พ่อแม่มีความรู้ประสบการณ์ในงาน อาจเป็นธุรกิจเดียวกันหรือคนละภาคธุรกิจ โดยประเด็นที่ลูกจะคุยกับเรามีได้หลากหลาย อาจเริ่มตั้งแต่ปรับทุกข์ หน้าที่เราคือ รับฟัง เข้าใจ อย่าไปลุ้น พอเราลุ้น ลูกจะรู้สึกเหมือนถูกกดดัน ทั้ง ๆ ที่เราไม่ได้ตั้งใจกดดัน ให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่ยังอยู่นี่ ไม่ต้องพูดให้กำลังใจอะไรเลย ใช้สัมผัส ใช้การใส่ใจ นี่เป็นสิ่งที่พ่อแม่ให้ได้ระดับที่ 1

 

ระดับที่ 2 คือพูดเพื่อหาแนวคิดร่วมกัน เช่น ถ้าลูกอยากกลับมาทำธุรกิจในท้องถิ่นของตัวเองก็พูดคุยถึงความเป็นไปได้ ถ้าพ่อแม่มีต้นทุนทางการเงินก็อาจคุยเรื่องวางแผนการเงินของครอบครัว

 

หัวใจสำคัญที่สุด คือเข้าใจการตัดสินใจเรื่องเส้นทางชีวิตในงานของลูก การคุยไม่ได้แปลว่าพ่อแม่ต้องแนะนำให้ลูกเดินไปเส้นไหน แต่แปลว่าพ่อแม่มีพื้นที่ให้ลูกคุยเพื่อเรียบเรียงความนึกคิดโดยอาจแบ่งปันข้อมูล แต่ต้องให้ลูกมีเวลาย่อยข้อมูล เพราะเขาต้องเป็นคนตัดสินใจต่อชีวิตของเขาเอง

 

พ่อแม่ต้องเตือนตัวเองว่า พยายามอย่าแนะนำและอย่าเอาความสำเร็จของชีวิตตัวเองในอดีตมาเป็นแนวทางให้กับลูกในปัจจุบัน เพราะโลกในอนาคตไม่เหมือนกับโลกในยุคที่พ่อแม่ไต่เต้าเติบโต ถ้าพ่อแม่ยิ่งพยายามมากเท่าไหร่ ลูกจะยิ่งถอยห่างมากเท่านั้น

 

แบบที่สองคือ ไม่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง ถ้าลูกไม่อยากคุยด้วย เช่น พ่อแม่อาจไม่เข้าใจสภาพการทำงานของลูก คุยแล้วพ่อแม่ไม่รู้เรื่อง คุยไปก็มีแต่ทำให้ลูกรู้สึกหงุดหงิดรำคาญ หรือไม่ก็ยิ่งตอกย้ำความทุกข์ใจของลูก กรณีนี้พ่อแม่มีหน้าที่เพียงช่วยสร้างร่มเงาสิ่งหย่อนใจเอื้อต่อการกิน นอน ออกกำลังกาย ทำกิจกรรมหย่อนใจ ความสุขต่าง ๆ ที่พ่อแม่และลูกเคยทำด้วยกันได้ โดยไม่ต้องพูดถึงเรื่องปัญหา ให้ลูกมีเวลาค่อย ๆ เรียบเรียงความนึกคิดในการจัดการปัญหาชีวิต

 

กรณีญาติพี่น้องจะแวะมา ในสถานการณ์แบบนี้ลูกคงไม่ค่อยอยากเจอหน้าคนที่ไม่ได้คุ้นเคยมากนัก เพราะเวลาเจอกันก็จะถูกถาม สร้างความอึดอัดให้ลูกได้ ต้องรอเขาพร้อม ดังนั้น ถ้าจะมีญาติมาเยี่ยม พ่อแม่ต้องให้เกียรติลูกว่าอยากเจอไหม ถ้าไม่อยากเจอ เราอาจต้องดูเวลาไปก่อน ให้ลูกมีพื้นที่ มีเวลาค่อย ๆ คิดคำตอบ

 

 

3. อย่านำเงินเก็บสำหรับการเกษียณของตัวเองมาแก้ปัญหาให้ลูก

 

กรณีที่ลูกมีปัญหาหนี้สินที่ก่อไว้ในช่วงที่เขายังมีรายได้ดี ไม่แนะนำให้พ่อแม่นำเงินที่เตรียมไว้สำหรับเกษียณมาทุ่มแก้ปัญหาให้ลูกจนไม่เหลือสำรองไว้ในระดับที่เหมาะสม เพราะโอกาสที่พ่อแม่จะสร้างรายได้เพื่อมาชดเชยในแบบเดิมอาจยากแล้ว แล้วก็ไม่รู้อนาคตของลูกว่าจะฟื้นตัวได้เมื่อไหร่ ดังนั้นเก็บเงินของเราไว้ก่อนเพื่อดูแลความมั่นคงทางการเงินของตัวเรา แล้วก็มีหน้าที่แค่แบ่งปันร่มเงาให้ลูก มีที่ให้ลูกมาอยู่ มีอาหารให้ลูกได้กิน มีกิจกรรมที่ไปทำด้วยกัน สิ่งนี้จะทำให้พ่อแม่มีความพร้อมในการช่วยลูกได้ดีกว่านำเงินเก็บมาทุ่ม เพราะมันอาจจะถมกันไม่เต็ม

 

 

4. ระวังเรื่องปมปัญหาค้างใจ

 

เวลาที่ครอบครัวมีปมความรู้สึกบางอย่างค้างใจกัน แล้วเกิดปัญหาขึ้นเป็นวิกฤติ วิกฤตินั้นมักทำให้ปมเก่าถูกกระแทกออกมาให้เห็นเด่นชัด เช่น ลูกมีความรู้สึกเจ็บปวด เสียใจ ผิดหวังจากการถูกเลี้ยงดูในวัยเด็ก หรือพ่อแม่มีปัญหาระหว่างกัน เมื่อมีอีกเรื่องเพิ่มเข้ามา อาจมีการทะเลาะกันมากขึ้น กล่าวโทษกัน ซึ่งเร้าความเครียด ความกังวลของทุกฝ่าย

อย่างไรก็ตาม มีสมมติฐานว่าถ้าลูกมีปมเก่ากับพ่อแม่มากพอสมควร ในเวลาที่เขามีวิกฤติ เขาอาจไม่เลือกกลับมาอยู่กับพ่อแม่ที่บ้าน เพราะตระหนักว่า กลับมาแล้วคงลำบากมากขึ้น ซึ่งพ่อแม่ก็อาจให้ความช่วยเหลือในรูปแบบอื่นที่คิดว่าเหมาะสม

 

 

โดยสรุป คือ ให้เข้าใจความทุกข์ของลูกหลาน เขาไม่ใช่แค่ว่างงาน ไม่ใช่แค่เงินน้อยลง แต่มันมีหลายอย่างแฝงอยู่ในนั้น พ่อแม่ต้องฝึกใจตัวเองไม่ทุกข์ตามลูก เพราะเมื่อไรที่ลูกมองหน้าเรา แล้วเขารู้สึกว่าเราเป็นทุกข์ เรากังวลเพราะเรื่องของเขา เขาจะยิ่งรู้สึกไม่ชอบบรรยากาศแบบนั้น เขาจะมองว่าเขาเป็นเหตุที่ทำให้เรามีทุกข์ และนั่นจะทำให้เขาไม่อยากคุยกับเรา หรือทำให้เขาไม่อยากอยู่ใกล้เรา

 

เรามีหน้าที่ดูแลตัวเองให้ดี ดำเนินกิจวัตรให้ดี จะได้ไม่ไปเร้าความรู้สึกลบทั้งของตัวเองและของลูก แล้วก็เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้ลูก ให้เขาได้พักเมื่อเขาต้องการ การที่เราจะช่วยลูกได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับต้นทุนและปัจจัยหลายอย่าง ลูกก็จะต้องใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาตัวเขา ซึ่งจะเป็นบทเรียนที่ทำให้ลูกโตขึ้นในบางด้าน ระแวดระวังและมีความเข้าใจในความทุกข์ได้ดี

 

ขณะเดียวกันพ่อแม่ก็ถือโอกาสฝึกดูความทุกข์ของลูกด้วยความเข้าใจ เห็นใจ พ่อแม่จะเป็นหลักให้ลูกพึ่งพิงได้ก็ต่อเมื่อพ่อแม่ไม่ได้ทุกข์ตามลูก เพราะถ้าทุกข์ตามลูก ก็จะทำให้ลูกยิ่งทุกข์มากขึ้น

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  นพ.ประเวช  ตันติพิวัฒนสกุล

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

OTHER