Save teen EP.05 ทำไมพกถุงยางแล้วพ่อแม่ต้องโมโห

27 สิงหาคม 2021 42 ครั้ง

Save teen EP.05 ทำไมพกถุงยางแล้วพ่อแม่ต้องโมโห

Q : ผมอายุ 16 ย่าง 17 แล้ว พาแฟนมานอนที่บ้าน ผมให้เกียรติผู้หญิง ทั้งพกถุงยาง ทั้งนอนข้างล่างบ้าน ที่บ้านมีพ่อแม่อยู่ห้องฝั่งตรงข้าม แต่เช้าวันต่อมา พ่อแม่กลับเดินมาด่าผม แล้วหลังจากวันนั้น เขาก็ไม่ยอมคุยกับผมอีก ไม่ซื้อข้าว ไม่ทำอะไรเลย ผมจะทำอย่างไรดีในเมื่อผมก็เข้าใจว่าพ่อแม่เป็นห่วง กลัวผมจะไปทำมิดีมิร้ายกับผู้หญิง แต่ผมก็ยังเชื่อฟังและอยู่ในกรอบของเขา แต่ทำไมพ่อแม่ไม่รับฟังผมบ้าง ช่วยหาทางแก้ให้หน่อยได้ไหมว่าผมต้องทำอย่างไร

 

A : ต้องเกริ่นก่อนว่า ช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงที่พัฒนาการทางด้านอารมณ์ จิตใจ หรือสังคมเติบโตถึงที่สุด เด็กวัยรุ่นจะมีเรื่องเพื่อนต่างเพศมากขึ้น พัฒนาทางด้านร่างกายหลาย ๆ ด้านก็ส่งเสริมให้เขาสนใจ เพื่อนต่างเพศมากขึ้น อยากมีเพื่อนมากขึ้น มีความคิดเป็นตัวของตัวเอง ก็ไม่แปลกที่เขาจะอยากมีความสัมพันธ์ หรือมีเพื่อนต่างเพศบ้าง

 

 

ในเรื่องนี้ มุมของวัยรุ่นมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะก็พยายามให้เกียรติผู้หญิง นอนข้างล่างบ้าน พกถุงยางอนามัย

 

 

ในมุมพ่อแม่ก็คงรู้สึกห่วง เพราะพอถึงเวลาจริง ๆ ด้วยความเป็นวัยรุ่น การหักห้ามหรือการยับยั้งชั่งใจ มันค่อนข้างยาก เนื่องด้วยฮอร์โมน เนื่องด้วยปัจจัยด้านร่างกายที่ส่งเสริม

 

 

เคยมีรายงานหลาย ๆ เคสว่า เด็กที่มีการตั้งครรภ์ก่อนวัยเรียน ประวัติเดิมเป็นเด็กดี น่ารัก ไม่มีความสุ่มเสี่ยงด้านนี้เลย แต่เขาก็เล่าว่า ในช่วงที่มีอะไรเกิดขึ้น มันเป็นเรื่องของอารมณ์ล้วน ๆ และไม่สามารถหักห้ามได้จริง ๆ

 

 

เราลองเข้าใจฟังพ่อแม่ว่าเพราะอะไรเขาถึงซีเรียสได้ขนาดนี้ เพราะพ่อแม่คิดถึงมุมนี้ไง ในสถานการณ์จริง มันอาจควบคุมได้ยาก แล้วถ้าเกิดมีอะไรเกิดขึ้นจะทำอย่างไรต่อ เช่น พลาดตั้งครรภ์ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นตามมา สิ่งเหล่านี้มันเกิดจากความเป็นห่วง เป็นกังวลของพ่อแม่

 

 

แต่ถ้าย้อนมาฝั่งวัยรุ่น เขาก็จะคิดว่า พ่อแม่กังวลเกินไป เขาก็พยายามหักห้ามใจตัวเอง ทำไมพ่อแม่ต้องกังวลขนาดนั้น เพราะมุมมองเรื่องเพศของผู้ใหญ่กับเด็กมีความแตกต่างกันเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว ผู้ใหญ่บางคนอาจมองว่าเดี๋ยวค่อยสอนก็ได้ ไม่ต้องคุยหรอกเรื่องนี้ เด็กก็มองว่ามันเป็นเรื่องธรรมชาติ มันเกิดขึ้นได้ แต่เขาก็พยายามป้องกัน

 

 

ฉะนั้นในการแก้ไขปัญหานี้ คือ ต้องคุย ต้องตั้งกฎกัน ถ้าจะพาแฟนมานอนบ้านต้องทำอย่างไร ถ้าพ่อแม่ไม่โอเคก็ต้องทำความเข้าใจซึ่งกันและกันว่า ที่พ่อแม่ไม่โอเคเพราะอะไร ไม่ใช่ว่าจะกีดกันลูกนะ แต่เพราะห่วงความเสี่ยงตรงนี้ แบบนั้นเจอกันตรงกลางไหม ไปเที่ยวกันได้ไหม ไปนู่นไปนี่กันได้ไหม แต่ต้องอยู่ในสายตาพ่อแม่

 

 

เด็กอาจจะมองว่าพ่อแม่ไม่เชื่อใจ ข้อเสีย คือทำให้ลูกรู้สึกอึดอัด รู้สึกแย่ แต่การที่พ่อแม่ระแวง ข้อดีคือทำให้ลูกระวัง ซึ่งอาจทำให้เกิดเหตุการณ์แย่ ๆ ได้น้อยกว่า

 

 

ทีนี้ย้อนกลับมา แล้วทำอย่างไรไม่ให้ระแวง ก็ต้องกลับมาตกลงซึ่งกันและกัน และไม่ผิดคำตกลงนั้น เช่น ออกไปนอกบ้าน ตกลงกันว่าจะเข้ามากี่ทุ่ม ลูกก็ต้องทำตามนั้นจริง ๆ เพื่อให้เกิดความเชื่อใจ ความเชื่อใจไม่ได้มาจากการพูดเฉย ๆ แต่มาจากการกระทำ อีกหน่อยจะพาแฟนเข้ามานอนในบ้านได้หรือเปล่าก็ไม่รู้นะ แต่ถ้าลูกสร้างความเชื่อใจให้พ่อแม่บ่อย ๆ วันหนึ่งคุณอาจจะพาแฟนเข้ามา โดยที่พ่อแม่ไม่ระแวงเลยก็ได้ ฉะนั้น คำตอบของเรื่องนี้ คือ ลูกต้องสร้างความเชื่อใจให้พ่อแม่

 

 

ฝั่งพ่อแม่ เวลาตั้งกฎก็ต้องตั้งกันคนละครึ่ง ลูกก็มีความต้องการของเขา พ่อแม่ก็มีความต้องการของพ่อแม่ ฉะนั้น เอาความต้องการมาเจอกันตรงกลาง เช่น ลูกอยากออกไปเที่ยวกับเพื่อน กลับ 3 ทุ่ม แต่พ่อว่าดึกไป ให้กลับสัก 6 โมงได้ไหม ลูกไม่ยอม ขอต่อเป็น 6 โมงครึ่ง มาเจอกันตรงกลาง ถ้าตกลงกฎกันได้แล้ว ก็ต้องทำตามกฎให้ได้ด้วย

 

 

ถ้าเป็นศัพท์ทางจิตวิทยา เรียกว่า empathy ลูกก็ลองมองผ่านมุมพ่อแม่ พ่อแม่ก็ต้อง empathy เด็กเหมือนกัน เอาใจเขามาใส่ใจเราคนละฝั่งดู สุดท้ายต้องคุยกัน ต้องมาเจอกันตรงกลาง

 

 

จริง ๆ พ่อแม่อาจไม่ได้ไม่ไว้ใจ เพียงแต่กังวลถึงปัญหาที่จะตามมา เช่น ถ้าตั้งครรภ์ขึ้นมา แล้วจะอย่างไรต่อ มันไม่ใช่แค่เรื่องวัยรุ่นต้องเปลี่ยนสถานะจากนักเรียนเป็นพ่อ แต่ชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงอีกเยอะมาก คุณพร้อมจะรับความเสี่ยงหรือเปล่า แต่ถ้าคุณโตแล้ว จัดการตัวเองได้คืออีกเรื่องนึง

 

 

แต่ต้องเคลียก่อนว่า ในกรณีนี้ ไม่มีใครถูก ใครผิดนะ ต่างคนก็ต่างกังวล วัยรุ่นอยากมีแฟน ก็เข้าใจได้ เป็นธรรมชาติช่วงวัย พ่อแม่ก็กังวล เกิดพลาดขึ้นมาจะทำอย่างไร แล้วก็ไม่มีอะไรคอนเฟิร์มได้ด้วยว่า จะไม่พลาด

 

 

เด็กอาจจะคิดว่า ใส่ถุงยางคือปลอดภัยที่สุดแล้ว แต่จริง ๆ ไม่มีการคุมกำเนิดแบบไหนที่ได้ผล 100%

 

 

อยากแนะนำให้ทุกครอบครัวมี quality time  คือ เวลาที่ใช้ร่วมกัน อาจจะไม่ต้องเยอะ 30 นาที - 1 ชั่วโมง แต่เวลานั้นเป็นเวลาที่มีคุณภาพจริง ๆ ได้สื่อสาร ได้พูดคุยกัน ไม่ใช่การนั่งบนโต๊ะอาหารเงียบ ๆ ต่างคนต่างดูโทรศัพท์ แบบนั้นไม่ใช่ quality time

 

 

quality time คือ เรามีเวลาสื่อสารแลกเปลี่ยนพูดคุยกันบนโต๊ะอาหาร หรือที่ไหนก็ได้ หรือมีเวลาทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อสร้างความสัมพันธ์กันในครอบครัว

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  รัฐนันท์ ฐาปนาประเสริฐ

แขกรับเชิญ: คุณธนกฤษ ลิขิตธรากุล

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

OTHER