Mom Gen 2 EP.53 วัยรุ่นเล่นดนตรีได้อะไรมากกว่าดนตรี

28 กรกฎาคม 2021 72 ครั้ง

Mom Gen 2 EP.53 วัยรุ่นเล่นดนตรีได้อะไรมากกว่าดนตรี

มีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์พบว่า “ดนตรีมีส่วนช่วยพัฒนาทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม ช่วยให้การประสานงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้ดีขึ้น และมีส่วนช่วยให้กระบวนการรับรู้ของร่างกายทำงานมีประสิทธิภาพ” แต่รู้หรือไม่ว่าดนตรีไม่ได้มีดีเพียงเท่านี้ แต่การที่ลูกเล่นดนตรี โดยเฉพาะลูกวัยรุ่นกลับได้อะไรมากกว่าที่คิด จะมีเรื่องใดบ้าง ติดตามได้ใน Mom Gen 2 EP.53 วัยรุ่นเล่นดนตรีได้อะไรมากกว่าดนตรี

 

วัยรุ่นเล่นดนตรีได้อะไรมากกว่าดนตรี

 

 

-  ดนตรีเป็นเพื่อน

 

สำหรับวัยรุ่น ดนตรีเป็นเหมือนเพื่อนในทุกสถานการณ์ จะสุข ทุกข์ เหงา เศร้า ดีใจ เสียใจ เขาก็สามารถถ่ายทอดอารมณ์ผ่านเครื่องดนตรีที่เล่นได้ อย่างเวลาหงุดหงิด แทนที่ลูกจะไปปล่อยพลังที่อื่น เขาก็ปล่อยพลังไปกับเสียงดนตรี ยิ่งถ้าเป็นดนตรีที่ลูกสามารถพกพาไปที่ไหน ๆ ได้ แบบนี้เรียกว่าเป็นเพื่อนแท้กันเลยทีเดียว

 

 

-  ดนตรีเป็นเครื่องมือในการใช้ชีวิต

 

สำหรับเด็กบางคน ดนตรีถูกใช้เป็นสื่อสร้างสัมพันธภาพในกลุ่มเพื่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องไปสร้างมิตรภาพใหม่ ๆ ไปเจอเพื่อนใหม่ ๆ ดนตรีก็เป็นเหมือนเครื่องมือเชื่อมสัมพันธภาพ ทำให้เพื่อน ๆ เข้าหา ลูกก็จะเกิดความมั่นใจในตัวเอง

 

 

-  ดนตรีช่วยปล่อยพลังสร้างสรรค์

 

ดนตรีกับความคิดสร้างสรรค์เป็นของคู่กัน เพราะดนตรีมีจังหวะ มีท่วงทำนอง มีความถี่ของเสียงที่ได้ยิน ซึ่งมีผลต่อการเชื่อมโยงของเส้นใยประสาท ยิ่งมีการเชื่อมต่อมากเท่าไร ก็ยิ่งดีต่อการพัฒนาเครือข่ายเส้นใยสมอง ช่วยเพิ่มศักยภาพความสามารถในการจดจำ ทำให้ส่งผลดีต่อจิตใจและอารมณ์ รวมถึงเรื่องของความคิดสร้างสรรค์

 

 

-  ดนตรีเพิ่มสมาธิ

 

การฝึกฝนดนตรี ไม่ว่าจะเป็นการฟัง การร้อง หรือการเล่น ต้องใช้สมาธิทั้งสิ้น การฝึกฝนในลักษณะนี้จะช่วยให้ลูกมีพลังสมาธิที่ดีและยาวนานขึ้น สิ่งสำคัญ คือ ทำให้เกิดการหลั่งสารเอนโดรฟิน (Endorphin) ซึ่งเป็นสารที่ช่วยลดความเครียด ทำให้รู้สึกสงบ และเป็นสุข

 

นอกจากนี้ เสียงเพลงสามารถปรับเปลี่ยนคลื่นสมองของคนเราได้ ในยามที่ใจจดจ่อจะเกิดคลื่นอัลฟาซึ่งมีความถี่ประมาณ 7-14 รอบต่อวินาที ซึ่งเป็นความถี่ที่เกิดขึ้นในเด็กที่มีความสุขและในผู้ใหญ่ที่มีการฝึกฝนตัวเองให้สงบนิ่ง เช่น คนที่นั่งสมาธิ จะมีคลื่นอัลฟาออกมาเยอะ เป็นสภาวะตอนที่จิตสมดุล สบาย ๆ ทำอะไรช้า ๆ มีการใคร่ครวญ ไม่ด่วนตอบสนองต่อสิ่งเร้าด้วยอารมณ์อันรวดเร็ว เวลาที่ความถี่น้อยลง หมายถึง เราคิดช้าลง เป็นจังหวะ เป็นท่วงทำนอง จะทำให้เกิดความคมชัด ให้เวลาแก่จิตในการไตร่ตรองและมีความคิดเป็นะบบขึ้น

 

 

การสนับสนุนให้ลูกหลานเข้าสู่โลกแห่งดนตรีอย่างสร้างสรรค์ ถือเป็นกลยุทธิ์ที่ดีอย่างหนึ่งในครอบครัว นอกจากจะเป็นการปลูกฝังในด้านต่าง ๆ แล้ว ยังเป็นการแก้ปัญหาพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเด็กและเยาวชนจากเทคโนโลยี อบายมุข หรือสิ่งล่อตาล่อใจที่หลอกล่อให้เด็กตกไปในหลุมพรางได้ด้วย ซึ่งไม่เพียงเฉพาะดนตรีเท่านั้น พ่อแม่อาจใช้กีฬา หรือสิ่งอื่น ๆ มากระตุ้นให้ลูกได้เรียนรู้ เพื่อปลูกฝังเรื่องดี ๆ ให้กับลูกได้เช่นกัน

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

OTHER