Mom Gen 2 EP.50 ทำไมลูกไม่อยากเล่าอะไรให้พ่อแม่ฟัง

16 มิถุนายน 2021 344 ครั้ง

Mom Gen 2 EP.50 ทำไมลูกไม่อยากเล่าอะไรให้พ่อแม่ฟัง

คุณเคยเจอสถานการณ์แบบนี้ไหม เมื่อลูกเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น พ่อแม่รู้สึกห่างเหินกับลูกมากขึ้นทุกที ตอนเป็นเด็กมีอะไรก็คุย ก็เล่าให้ฟังตลอด แต่ทำไมพอเข้าสู่วัยรุ่นกลับพูดคุยกับพ่อแม่น้อยลง มาหาคำตอบคลี่คลายความสงสัยของปัญหานี้ได้ใน Mom Gen 2 EP.50 ทำไมลูกไม่อยากเล่าอะไรให้พ่อแม่ฟัง

 

พ่อแม่แบบไหนที่ลูกวัยรุ่นไม่อยากเล่าอะไรให้ฟัง

 

1.  พ่อแม่ที่ชอบเล่าทุกเรื่องของลูกให้คนอื่นฟัง

 

พ่อแม่ที่เวลาลูกมาปรึกษาหรือมาเล่าอะไรให้ฟัง แล้วไปบอกเล่าให้คนอื่นฟังต่อ ไม่ว่าเรื่องนั้นจะดีหรือไม่ดีก็ตาม ลูกจะรู้สึกว่า พ่อแม่กำลังละเมิดเขาอยู่ ยิ่งบางเรื่องที่เขามาเล่าให้ฟังเป็นความลับของเขา แต่พ่อแม่รู้สึกว่าไม่เห็นจะเป็นความลับเลย พ่อแม่จะใช้ทัศนคติของตัวเองไปตัดสินว่าไม่ใช่ความลับไม่ได้ เมื่อลูกคิดว่านั่นเป็นความลับของเขา พ่อแม่ก็ต้องให้เกียรติลูกด้วย ลองสำรวจดูว่า ตัวคุณชอบขยายความไหม ชอบเล่าให้คนอื่นฟังไหม ลูกอาจไม่ต้องการ พ่อแม่ต้องดูลักษณะนิสัยพื้นเดิมของลูกด้วยว่าเป็นอย่างไร

 

 

2.  พ่อแม่ที่จ้องแต่จะสั่งสอน

 

มีพ่อแม่จำนวนไม่น้อยที่มีลักษณะนิสัยติดความเป็นพ่อแม่ คือ ชอบอบรมสั่งสอนลูกเสมอ เวลาลูกเล่าสิ่งใดให้ฟังก็อดไม่ได้ ที่จะต้องเตือน บางคนเตือนแล้วยังมีต่อว่าด้วย คือจ้องจะสอนตลอดเวลา บางทีเรื่องที่ลูกเล่า อาจเป็นเรื่องเล่าขำ ๆ ของเขา คือ มีความคึกคะนอง ทำอะไรบ้าบิ่น แล้วมาเล่าให้พ่อแม่ฟังในลักษณะฮา ๆ แต่พอเล่าจบกลายเป็นถูกต่อว่า ถูกอบรมสั่งสอน พึงรู้ไว้ว่า ส่วนใหญ่ลูกจะไม่ชอบ จะรู้สึกหงุดหงิด แล้วทำให้ไม่อยากเล่าเรื่องอื่น ๆให้พ่อแม่ฟังอีก

 

ฉะนั้น พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องสั่งสอนลูกทุกเรื่อง หลับตาข้างหนึ่งบ้าง ยิ่งลูกอยู่ในช่วงวัยรุ่น เขาเล่าอะไรให้เราฟัง เรารับฟัง ขำ ๆ ไปด้วย แถมเล่าวีรกรรมตอนสมัยพ่อแม่เป็นเด็ก ๆ ที่เคยทำอะไรบ้าบิ่นเหมือนกันให้ลูกฟัง ลูกก็จะมีความรู้สึกว่า พ่อแม่เต็มใจฟัง พ่อแม่เข้าใจเขา ไม่ได้มาตำหนิติเตียนอะไร ครั้งต่อไปลูกก็จะมาเล่าให้ฟังใหม่

 

 

3.  พ่อแม่ที่เหมือนจะฟังแต่ไม่ฟัง

 

เวลาพ่อแม่พูดอะไรให้ใครฟัง ก็จะสัมผัสได้ว่า เขาเหมือนจะฟังแต่ไม่ฟัง ฉะนั้น ลูกก็สัมผัสได้ ว่าพ่อแม่ฟังแบบไม่ตั้งใจ ฟังแบบให้จบ ๆ ไป แล้วยิ่งถ้าลูกตั้งใจมาเล่าแบบเต็มที่ ตื่นเต้นที่จะเล่าให้มันแบบสุด ๆ แต่พ่อแม่ฟังแล้วเฉย ๆ ไม่มีการตอบสนอง ไม่มีถามไถ่ ไม่มีอะไรเลย ลูกจะรู้สึกอย่างไร หรือเวลาลูกมาเล่าอะไรให้ฟัง แล้วพ่อแม่บอกว่า “อ่ะ เล่ามา ๆ แม่ฟังอยู่” แต่ว่าแม่ก็เล่นไลน์ต่อไป สุดท้าย ลูกจะไม่อยากเล่าอะไรให้ฟังอีก เพราะพ่อแม่ไม่สนใจรับฟังอย่างจริงจัง บางครั้งก็ทำให้ลูกรู้สึกน้อยใจ

 

 

4.  พ่อแม่ช่างวิตกกังวลเกินเหตุ

 

เวลาลูกเล่าอะไรให้ฟัง พ่อแม่ก็กลายเป็นกังวล วิตกไปหมด เช่น “ทำไมหนูทำแบบนั้น ไม่ดีเลยลูก” “แม่ใจหายใจคว่ำ อย่าทำอีกนะ” พอลูกฟัง ลูกก็จะถอยออกมา เพราะเล่าแล้วแม่วิตกกังวล แม่ไม่สบายใจ ไม่เล่าดีกว่า ฉะนั้นเวลาเกิดอะไรขึ้นก็ตาม พ่อแม่ต้องเปิดใจ สื่อสารให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่ไม่ได้คาดหวังให้ลูกทำทุกอย่างได้สมบูรณ์ แต่พร้อมจะยอมรับกับทุกปัญหาที่ลูกต้องเผชิญ ดังนั้น เก็บอาการนิดหนึ่ง เพื่อที่ลูกจะได้เล่าให้เราฟัง แล้วค่อยถามว่า “ทำไมถึงทำ สนุกไหม” “ไว้วันหลังพาแม่ไปทำบ้างสิ” แบบนี้บางทีก็จะได้ใจลูกไปด้วย

 

 

5.  พ่อแม่ชอบฟูมฟาย

 

บางทีลูกก็มองเราเป็นพ่อแม่ที่อ่อนไหว ฟูมฟายกับเรื่องที่เขาคิดว่าไม่น่ามีอะไร ลูกจะรู้สึกกังวล กลัวพ่อแม่เสียใจ ไม่อยากให้พ่อแม่เครียด ไปทำอะไรผิดมา เขาก็ไม่กล้ามาเล่าให้ฟัง เพราะไม่อยากเห็นพ่อแม่เครียด ฉะนั้น อย่าฟูมฟาย เปลี่ยนจาก ฟูมฟาย มาเป็น ฟูมฟัก ให้ลูกมีอะไรก็เล่าให้เราฟัง พ่อแม่ต้องไว้วางใจลูก

 

 

ลูกต้องการความไว้วางใจจากพ่อแม่ ไม่อยากถูกพ่อแม่บ่น หลายครั้งลูกวัยรุ่นไม่อยากปรึกษาพ่อแม่ เพราะคิดตามประสบการณ์ในวัยเด็กว่า เวลามีปัญหาอะไร พ่อแม่มักตำหนิ ถ้าเราเป็นพ่อแม่ที่ชอบตำหนิ ไม่เชื่อใจ ไม่ไว้ใจ ลูกก็จะถอยห่างจากเราจริง ๆ ฉะนั้นบางทีคำถามที่บอกว่า ทำไมลูกไม่ค่อยอยากเล่าอะไรให้เราฟัง มันก็มาจากตัวเราเอง

 

 

ลูกอาจเคยเล่าอะไรให้เราฟังแล้วเรามีปฏิกิริยาอะไรบางอย่างที่สะท้อนออกมา สุดท้ายเขาก็ไม่เล่าให้ฟังดีกว่า แน่นอนว่าพ่อแม่ทุกคนอยากให้ลูกมีอะไรก็นึกถึงพ่อแม่เป็นคนแรก อยากให้เล่าสู่กันฟัง ปรึกษาหารือทุกเรื่องได้ เพราะฉะนั้น เราต้องปรับทัศนคติของตัวเองด้วย วัยของลูกควรปล่อยให้เขาได้เผชิญชีวิตด้วยตัวเอง ชีวิตเป็นของเขา วันหนึ่งเมื่อเขาต้องเติบโตขึ้นไป มีชีวิตเป็นของตัวเอง พ่อแม่ไม่สามารถอยู่กับลูกไปได้ตลอดชีวิต  ฉะนั้น ควรรับฟัง ทำความเข้าใจ และปล่อยให้เขาได้ใช้ชีวิตในแบบของเขา ได้มีชีวิตบนประสบการณ์ของเขา ไม่ใช่พ่อแม่ไปกำกับชีวิตของลูก

 

 

การให้ลูกได้เผชิญชีวิตของเขาเอง โดยมีพ่อแม่คอยดู คอยห่วงอยู่ห่าง ๆ จะทำให้ลูกรับรู้ได้ว่า พ่อแม่พร้อมจะอยู่เคียงข้างเขาเสมอเมื่อเขาต้องการ ถ้าอยากให้ลูกเล่าอะไรให้ฟัง พ่อแม่ต้องเริ่มปรับเปลี่ยนทัศนคติของตัวเองก่อน ดูว่าจุดไหนที่สามารถหาความพอดีกันได้ ทางที่ดีที่สุดก็คุยกันว่าจะเริ่มกันตรงไหน ลูกอยากให้พ่อแม่ทำอย่างไร หาความสมดุลให้ได้ จะเป็นทางออกที่ดี และเชื่อมสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน

 

 

คำว่า “เล่า” ไม่จำเป็นต้องไปศึกษาหรือว่าต้องไปร่วมหาทางออกให้กับลูกอย่างเดียว บางทีลูกแค่อยากเล่าให้พ่อแม่ฟังจริง ๆ สิ่งที่พ่อแม่จะต้องทำก็คือ เป็นนักฟังที่ดี แล้วทุกอย่างจะเป็นไปได้ด้วยดี

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

 

OTHER