Money and the Family EP.23 รับช่วงผ่อนบ้านต่อพ่อแม่ยังไง ให้รอดทั้งบ้าน

31 ตุลาคม 2020 1,239 ครั้ง

Money and the Family EP.23 รับช่วงผ่อนบ้านต่อพ่อแม่ยังไง ให้รอดทั้งบ้าน

พ่อแม่กู้ซื้อบ้านมานานแล้ว ปัจจุบันเริ่มผ่อน “หนี้บ้าน” ไม่ไหว เพราะที่ผ่านมามีการผิดนัดชำระ และหยุดชำระเป็นเวลานาน แล้วค่อยกลับมาชำระต่อ ทำให้เกิดดอกเบี้ยปรับต่าง ๆ และดอกเบี้ยตั้งพัก เพิ่มสูงขึ้นมาก ในฐานะลูกที่เข้ามามีส่วนช่วยผ่อนบ้านด้วย จะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร

 

กรณีแบบนี้ ถ้ามีการกู้ซื้อบ้านตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ แล้วผ่อนไม่ไหว ลูกเรียนจบมา มีงานทำ สามารถช่วยพ่อแม่ได้ โดยใช้วิธี “ซื้อบ้านต่อจากพ่อแม่”

 

การซื้อเพื่อแก้ปัญหานี้แนะนำว่า ให้ซื้อเท่าจำนวนหนี้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น พ่อแม่กู้ซื้อบ้านมานาน ผ่อนหนี้จนเหลือ 800,000 บาท ชำระบ้าง ไม่ชำระบ้าง จนทำให้มีดอกเบี้ยตั้งพักขึ้นมา และในท้ายที่สุด ยอดเงินต้นและดอกเบี้ยที่ต้องชำระมียอดรวมทั้งหมดเกือบ 1,400,000 บาท

 

ทั้งนี้ราคาบ้านอาจพุ่งสูงขึ้นไปถึง 1,800,000 – 2,000,000 บาท ลูกไม่จำเป็นต้องกู้ซื้อเท่าราคาบ้านในปัจจุบัน แต่อาจกู้ซื้อแค่ 1,400,000 บาท เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนสัญญา และทำสัญญาส่งใหม่ เพราะสัญญาเดิมของพ่อแม่ อาจเหลืออายุการส่งสั้นเพราะใกล้เกษียณ แต่ถ้าซื้อโดยลูก ซึ่งอายุยังน้อย ก็จะยืดเวลาในการผ่อนได้ ทำให้ผ่อนต่อเดือนเบาลง และทำให้ภาระการเงินของครอบครัว ลดลงตามด้วย

 

 

 

แนวทางในการ “ซื้อบ้านต่อจากพ่อแม่” สามารถลำดับขั้นตอนในการแก้ปัญหาได้ ดังนี้

 

 

1. เข้าไปคุยกับธนาคารหรือสถาบันการเงินที่ติดสัญญากู้อยู่

 

โดยไปแจ้งว่าเราจะปิดสัญญา จะกู้ซื้อบ้านต่อจากพ่อแม่ แล้วเจรจาเพื่อขอส่วนลดดอกเบี้ย ค่าปรับต่าง ๆ ซึ่งแล้วแต่กรณี ต้องลองคุยดู ถ้าสามารถลดดอกเบี้ยค่าปรับลงได้ สมมติลดได้ 100,000 – 200,000 บาท จากที่จะต้องกู้ซื้อบ้านในราคา 1,400,000 บาท ก็จะเหลือ 1,200,000 บาท ก็ทำให้ยอดผ่อนต่อเดือนลดลง

 

 

2. หาสินเชื่อจากธนาคารต่าง ๆ

 

เมื่อได้ตัวเลขประมาณการแล้ว ให้ไปคุยกับสินเชื่อในธนาคารต่าง ๆ แล้วให้เขาทำตัวเลขให้ดู เวลาหาสินเชื่อ ให้คิดเหมือนกับการอยากซื้อของสักชิ้นหนึ่งที่เราชอบ อาจต้องดูหลาย ๆ ร้าน ว่าร้านไหนให้ส่วนลด ร้านไหนมีของแถม เพราะฉะนั้นกับของเป็นล้าน เราก็ควรทำแบบเดียวกัน

 

 

3. วางแผนทางการเงิน

 

โดยปกติค่าธรรมเนียมหลัก ๆ เช่น ค่าโอน คนซื้อคนขายจะจ่ายคนละครึ่ง แต่จะมีภาษีเงินได้ต่าง ๆ ที่ปกติจะเป็นภาระของผู้ขาย แต่ในกรณีที่คนขายเป็นพ่อแม่เรา ดังนั้นจึงเป็นภาระของเราด้วย ให้เข้าไปใน Google แล้วพิมพ์คำว่า “ภาษีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์” แล้วกรอกข้อมูล ก็จะได้ประมาณการเรื่องของภาษี เพื่อจะได้เตรียมตัวได้ถูกต้องเวลาไปโอนบ้าน

 

 

4. กลับมาดูงบการเงินของตัวเอง

 

ถ้ามีบ้านหลังนี้เข้ามา ชีวิตการเงินเราเป็นอย่างไร ถึงขั้นติดลบไหม ถ้าติดลบ แสดงว่าหนทางนี้ อาจไม่ถูกต้อง แต่ถ้าพบว่า แต่ก่อนเราก็ช่วยพ่อแม่ผ่อน เดิมส่งเดือนละหมื่นนิด ๆ พอย้ายมาส่ง แบบนี้ ตกเดือนละ 5,000 – 6,000 บาท เบาลง เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาประกอบด้วย

 

 

5. พูดคุยกับคนในบ้าน

 

บ้านที่พ่อแม่เคยเป็นเจ้าของ พอเปลี่ยนมาเป็นของลูกคนใดคนหนึ่งโดยตรงจะทำให้มีปัญหาหรือไม่ หรือเราอาจไม่ได้ซื้อในนามคนเดียว อาจต้องซื้อแบบกู้ร่วม แล้วจะอย่างไร ในฐานะที่มีส่วนร่วมในการผ่อนชำระ ชื่อเจ้าของบ้านจะเป็นชื่อเราคนเดียวไหม หรือจะเป็นชื่อร่วมกับน้อง พ่อแม่จะได้สบายใจ เรื่องแบบนี้ต้องทำความเข้าใจกันให้ดี

 

ขณะเดียวกันก็ต้องคุยกับคนในครอบครัวใหม่ด้วย เพราะเมื่อเรายื่นกู้ซื้อบ้านหลังนี้ไปแล้ว เราจะมีภาระนาน ซึ่งอาจทำให้มีปัญหาในการซื้อบ้านหลังต่อไปกับคู่ชีวิตได้ ตรงนี้ต้องวางแผนการเงินให้ดี

 

 

เพราะบ้านเป็นที่ที่รวมของคนหลายคนในครอบครัว มีทั้งผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ฉะนั้นเวลาจัดการ ต้องมองในทุกแง่มุม หัวใจสำคัญที่สุดคือ มองตัวเองเป็นสำคัญ เรื่องสภาพคล่องของเรา อย่าให้เกิด ผลกระทบ และมองผลลัพธ์ว่า สามารถแก้ปัญหาให้กับทุกกลุ่ม ทุกส่วน ที่เกี่ยวข้องได้ จริงหรือไม่

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  จักรพงษ์ เมษพันธุ์

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

 

OTHER