On the Way Home EP.33 เรียนเก่งไม่ได้หมายความว่าไม่มีปัญหา

09 ตุลาคม 2020 140 ครั้ง

On the Way Home EP.33 เรียนเก่งไม่ได้หมายความว่าไม่มีปัญหา

เวลาเห็นเด็กเรียนเก่ง คนส่วนใหญ่มักรู้สึกว่า ดี ไม่มีปัญหา หมดห่วง แต่ในความเป็นจริง อาจไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป มาติดตามเรื่องเล่าชีวิตจริงของ “สินฝ้าย” ผู้ป่วยโรค BPD ใน On the Way Home EP.33 เรียนเก่งไม่ได้หมายความว่าไม่มีปัญหา

 

เรื่องราวในอีพีนี้มาจากหนังสือเรื่อง "ใต้รอยกรีด It s All About The Cut" เรื่องเล่าชีวิตจริงของ “สินฝ้าย” ผู้ป่วยโรค BPD ซึ่งเป็นหนังสือจากโครงการภาพยนตร์สารคดีวงแหวนใต้สำนึก เรื่องและภาพโดย สินฝ้าย สำนักพิมพ์ไลฟ์พลัส

 

 

ทำความรู้จักโรค BPD

 

BPD ย่อมาจาก Borderline Personality Disorder หรือ โรคบุคลิกภาพแปรปรวนชนิดก้ำกึ่ง

 

ในบทที่ 14 ของหนังสือเล่มนี้ได้พูดถึงโรค BPD ว่า โรคนี้ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับอารมณ์และความสัมพันธ์ โรคนี้จะเป็นปัญหาอย่างมากในเรื่องของความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนรัก ครอบครัว หรือเพื่อนร่วมงาน ผู้ป่วยจะมีอาการกลัวการถูกทอดทิ้งอย่างรุนแรง และจะมีปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น เพื่อที่จะฉุดรั้งความสัมพันธ์นั้นไม่ให้หายไป

 

เช่น ขู่ว่าจะทำร้ายตัวเองถ้าคนที่รักทิ้งไป โทรติดตามคนรักทุก ๆ วินาที กลัวว่าเขาจะหายไป กลัวว่าจะไปมีคนอื่น หนักเข้าจะเริ่มก่อกวนทำร้ายร่างกาย

 

พยายามที่จะทดสอบคนรักว่ายังคงรักตัวเองหรือไม่ ทดสอบว่าความสัมพันธ์นั้นจะยั่งยืนหรือไม่ เช่น ทดลองทำพฤติกรรมที่ร้ายกาจ ทำตัวแย่ ๆ เพื่อทดสอบว่า ฉันแย่ขนาดนี้ เธอยังจะรักฉันไหม รับฉันได้ไหม และจะสงสัยอยู่เสมอในคำว่ารัก คำว่าตลอดไป และคำว่าจริงจัง

 

เหมือนกลัวที่จะรัก เมื่อรักแล้วก็กลัวที่จะจากลา และจะมีการทดสอบทำร้ายจิตใจ ใช้ความรุนแรงในทุกพฤติกรรม รวมถึงเตรียมพร้อมที่จะตาย และมักเสียใจแทบสิ้นสติเมื่อความสัมพันธ์นั้นหายไปจริง ๆ

 

นอกเหนือจากเรื่องความสัมพันธ์ อาจมีลักษณะอื่น ๆ อีก เช่น มีพฤติกรรมหุนหันพลันแล่น ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เงินแบบสุรุ่ยสุร่าย การมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับคนแปลกหน้าโดยไม่ป้องกัน พฤติกรรมการใช้ยาเสพติด การขับรถเร็ว หวาดเสียว ไม่ระมัดระวัง

 

บางคนอาจมีปัญหาในการกิน กินมากไป น้อยไป หรือมีพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง กรีดร่างกาย ดึงทึ้งผม ทำให้ร่างกายเกิดความเจ็บปวด แต่ไม่ถึงขั้นเสียชีวิต และมีความพยายามที่จะฆ่าตัวตายหรือพยายามวางแผนจะฆ่าตัวตาย

 

มักจะมีความคิดด้านลบกับความเป็นตัวตนของตัวเอง เช่น ไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วตัวเองคือใคร ต้องการอะไร จะรู้สึกว่าตัวเองว่างเปล่า ทรมานกับความรู้สึกเหงาบ่อยหรือตลอดเวลา มีอารมณ์โกรธที่รุนแรงมาก ควบคุมไม่ได้ และมักแสดงความโกรธออกไปอย่างไม่เหมาะสม 

 

 

สาเหตุของการเกิดโรค

 

สาเหตุของการเป็นโรคนี้ ยังไม่ชัดเจน แต่มีแนวโน้มสูงที่จะเกิดจากพันธุกรรม จากสภาพแวดล้อมรอบข้างที่กระตุ้นให้เกิดโรค เช่น เคยมีประสบการณ์ที่ไม่ดีจากครอบครัว ผู้เลี้ยงดู อาจเคยถูกทำร้าย ไม่ว่าจะทางร่างกายหรือจิตใจในช่วงก่อนอายุ 15 ปี หรืออาจมาจากการทำงานของสมองที่ผิดเพี้ยนไป

 

 

การเรียนเก่งไม่ได้หมายความว่าเด็กคนนั้นไม่มีปัญหา

 

จากหนังสือเรื่อง "ใต้รอยกรีด It s All About The Cut" สินฝ้ายได้เล่าเรื่องราวของเธอไล่เรียงมาตั้งแต่ตอนเด็ก ๆ เลยว่า ชีวิตของคนที่ป่วยเป็นโรคบุคลิกภาพแปรปรวนชนิดก้ำกึ่งนั้น มีที่มาที่ไปอย่างไร

 

“สินฝ้าย” เป็นลูกคนกลางในจำนวนพี่น้อง 3 คน พี่สาวเป็นเด็กเรียนดี เรียนเก่ง ในขณะที่น้องสาวเป็นเด็กน่ารัก สดใส ส่วนเธอไม่ได้เก่งเหมือนพี่สาว เป็นลูกคนกลางที่พ่อแม่ไม่ค่อยคาดหวังเท่าไร และไม่ได้เป็นเด็กน่ารักว่านอนสอนง่ายหรือน่าเอ็นดู เธอเป็นเด็กที่ค่อนข้างจะมีอิสระ พ่อแม่จะไปใส่ใจหรือคาดหวังกับลูกคนโตและคนเล็ก

 

พอเป็นเด็กที่ไม่ได้เป็นที่คาดหวังของพ่อแม่ ข้อดี คือ ทำอะไรก็ได้ แต่ข้อเสีย คือ บางทีรู้สึกเหงาและน้อยใจว่าไม่มีใครสนใจ แต่ภายนอกจะแสดงออกว่าไม่แคร์และไม่สนใจ

 

ปัญหามาเริ่มตอนพ่อแม่เลิกกัน พ่อมีผู้หญิงอื่น แม่เลยขอหย่า หลังจากหย่าจึงถามลูกว่า ลูกจะอยู่กับใคร ตอนนั้นสินฝ้ายอายุ 12 ปี มีความรู้สึกว่าทำไมเธอต้องเลือก ในเมื่อเธอรักพ่อกับแม่เท่ากัน พ่อกับแม่อยู่ด้วยกันไม่ได้ มันไม่ใช่หน้าที่เธอต้องมาเลือก พ่อแม่บอกว่ายังไงก็ต้องเลือก เธอเลยบอกว่า “ถ้าอย่างนั้นหนูเลือกจะอยู่คนเดียว”

 

สุดท้ายแม่เลยส่งไปอยู่กับยายและน้าที่กรุงเทพฯ (เดิมบ้านอยู่ จ.ลำพูน) ซึ่งทำให้เธอมีความสุขมาก เหมือนกับว่า ต่อไปนี้จะได้ใช้ชีวิตอย่างอิสระ

 

สินฝ้ายเป็นคนที่เหงา มีโลกส่วนตัวสูงมาก ชอบอยู่คนเดียว ตอนไปอยู่กับยายและน้า เธอพยายามไม่พบยายกับน้าเลย แม้ว่าจะอยู่บ้านร่วมกัน

 

ทุกวันรถโรงเรียนจะมารับเธอตอนก่อนตะวันขึ้น ตอนเช้าก็จะไม่เจอน้าและยายเพราะเขายังไม่ตื่น พอตอนเย็นรถมาส่งช่วงบ่ายก่อนที่น้าจะกลับจากที่ทำงาน พอถึงบ้านเธอก็จะรีบกินข้าว อาบน้ำ รีบทำทุกอย่างให้เสร็จ แล้วรีบขึ้นไปบนห้องนอน แม้กระทั่งยายที่นั่งทำกับข้าวอยู่ในครัว ยังมองหาหลานไม่ทันเลย

 

เธอรีบขึ้นห้องไปก็ไม่ได้ทำอะไรเป็นพิเศษ แต่ไม่อยากคุย อยากอยู่คนเดียว เธอจะอ่านหนังสือ ทบทวนบทเรียน และเปิดฟังรายการวิทยุเพื่อตอบคำถามแลกรางวัลเกี่ยวกับเรื่องการเรียน เวลาที่มีทุ่มเทให้กับการเรียนเท่านั้น ปรากฎว่าเกรดเฉลี่ยเพิ่มจากเดิม 2.2 กลายเป็น 3.3 ภายใน 1 เทอมการศึกษา พอเกรดดีขึ้น ทุกคนในครอบครัวก็บอกว่าถูกทางแล้ว ส่งเธอไปอยู่แบบนี้ดีแล้ว เพราะว่าได้เกรดดี เลยตัดสินใจให้เธออยู่อย่างนั้นต่อไป

 

เธออยู่แบบนี้มา 1 ปี ก็มีพฤติกรรมแปลก ๆ อยู่เสมอ คือ นอนไว ไม่คุยกับใคร เธอบอกว่า “ขนาดเธอแปลกขนาดนี้ แต่ก็ไม่มีใครคิดว่าเธอมีปัญหา ไม่มีใครคิดว่าเธอแปลกเพียงเพราะเกรดดี”

“จริง ๆ แล้วทุกคนแปลกกว่าเธออีกนะกับการที่มองไม่เห็นว่าเธอแปลก”

 

พออยู่ครบ 1 ปี เธอก็เหงา เพราะเคยอยู่กับพ่อแม่ แม้ว่าความสัมพันธ์ของครอบครัวอาจจะไม่ดีก็ตาม เธอเขียนจดหมายไปบอกแม่ บอกว่า “ตัดสินใจผิดพลาดไปแล้ว จริง ๆ หนูน่าจะเลือกอยู่กับแม่ กับพี่ กับน้อง ขอโทษด้วยนะ ขอให้แม่ให้อภัย ขอกลับไปอยู่ที่บ้านอีกครั้งหนึ่ง”

 

ในขณะที่เขียนไป น้ำตาก็ไหล แล้วก็บอกแม่ว่า “แม่อาจจะเห็นว่าจดหมายมันเว้าแหว่งเพราะมันเกิดจากหยดน้ำตาที่ทนกลั้นมานานปี” แล้วก็ส่งจดหมายถึงแม่

 

และแล้ววันที่รอคอยก็มาถึง แม่โทรศัพท์มา เธอดีใจมาก อยากกลับบ้านไปอยู่กับแม่ใจจะขาด สิ่งที่แม่พูดคือ “ฝ้าย…ลูก นี่คือเรื่องตลกใช่ไหม ลูกเขียนมาเล่น ๆ แกล้งแม่ใช่ไหมลูก ไม่มีอะไรจริงจังใช่ไหม”

 

เธอบอกว่าไม่รู้จะตอบแม่ยังไง เธอไม่ได้เตรียมตัวมาเลยว่าแม่จะมาแบบนี้ เธออึ้งไปเลย แล้วก็ตอบไปว่า “ใช่แม่ แม่รู้ด้วยเหรอ ฝ้ายก็แกล้งดราม่าไปงั้นเองแหละ มันเบื่อ ๆ ไม่มีอะไรทำ ก็เลยแกล้งแม่เล่น ว้า..แย่จัง โดนจับได้ซะแล้ว”

 

แม่ก็บอกว่า “อ้าว แล้วไอ้ที่บอกกระดาษเปียกเพราะน้ำตาน่ะ มันน้ำอะไรล่ะลูก หยดน้ำหรือว่าน้ำลายกันแน่”

 

เธอบอกเกือบจะกลั้นน้ำตาของความสิ้นหวังไม่อยู่ เลยบอกแม่ว่า “ก็ทั้งสองอย่างแหละแม่ แค่นี้ก่อนนะ จะนอนแล้ว”

 

เธอเสียใจมากที่แม่พูดแบบนี้ แล้วเธอก็ไม่เข้าใจตัวเองเหมือนกันว่าทำไมไม่บอกกับแม่ไปตรง ๆ ว่าไม่ได้เป็นมุก แต่เป็นความรู้สึกจริง ๆ เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เธอรู้สึกแย่มาก และวันนั้นเองเป็นวันแรกที่เธอเริ่มใช้คัตเตอร์กรีดตัวเองเป็นครั้งแรกในชีวิต

 

เธอบอกว่าการกรีดตัวเองไม่ใช่วิธีที่ดีเลย แต่เธอกรีดเพื่อเอาความเจ็บปวดทางร่างกายมาช่วยบรรเทาความเจ็บในจิตใจ เพราะอันนี้มันเจ็บกว่า รุนแรงกว่า ใจก็จะไปโฟกัสที่ความเจ็บของร่างกายแทน

 

จากวันนั้นเป็นต้นมา เธอก็เรียนรู้ว่า เวลาที่เศร้า ผิดหวัง เธอจะกรีดร่างกายตัวเอง เพื่อให้ใจมาจดจ่อกับความเจ็บปวดจะได้ลืมหรือทุกข์ทรมานกับความเจ็บปวดด้านจิตใจน้อยลง เหมือนเป็นวิธีเบี่ยงเบนความสนใจ

 

เธอกรีดตัวเองเรื่อย ๆ เหงา เศร้า ก็กรีดตัวเอง ทำตลอด กรีดจนกระทั่งร่างกายเริ่มไม่มีที่ว่างให้ซ่อนรอยกรีดได้อีก และนี่ก็เป็นอาการของโรค ซึ่งในขณะที่เธอเป็น ไม่มีใครรู้ว่าเธอมีปัญหา เพราะทุกคนมองว่าเรียนหนังสือดี เกรดดีขึ้น ฉะนั้นจึงไม่มีใครเป็นห่วง

 

สำหรับผู้ที่สนใจอ่านเรื่องราวของสินฝ้ายต่อ หรือต้องการทำความเข้าใจผู้ป่วย BPD เพิ่มขึ้น สามารถติดตามเพิ่มเติมได้ในหนังสือ "ใต้รอยกรีด It s All About The Cut" หาซื้อได้ตามร้านหนังสือทั่วไป

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  รัศมี มณีนิล

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

 

OTHER