On the Way Home EP.34 ช่องว่างความสุขระหว่างคนมีลูกกับไม่มีลูก

16 ตุลาคม 2020 69 ครั้ง

On the Way Home EP.34 ช่องว่างความสุขระหว่างคนมีลูกกับไม่มีลูก

ตั้งแต่คุณเป็นพ่อเป็นแม่ คุณมีความสุขมากขึ้นหรือลดลง ? ช่องว่างความสุขระหว่างคนมีลูกกับไม่มีลูกขึ้นอยู่กับอะไรบ้าง ? ติดตามเรื่องราวเหล่านี้ได้ใน On the Way Home EP.34 ช่องว่างความสุขระหว่างคนมีลูกกับไม่มีลูก

 

ในสังคมตะวันตก มักมีการศึกษาวิจัยเรื่องของคนเป็นพ่อแม่มีความสุขน้อยกว่าคนไม่มีลูกหรือคนโสดอยู่หลายฉบับ ซึ่งเวลาวิเคราะห์ก็จะดูว่าการมีความสุขน้อยลงเป็นความสุขในแง่ไหน

ผลวิจัยส่วนหนึ่งพบว่า การมีลูกจะมีผลบวกต่ออีกมิติหนึ่งของความสุข นั่นคือ มิติที่ให้ความสำคัญกับเป้าหมายหรือความหมายของชีวิต

 

ในแง่ของเวลาว่าง คนมีลูกไม่สามารถทำอะไรตามใจตัวเองได้เหมือนก่อน ต้องทุ่มเทเวลาให้กับลูก นี่คือสิ่งที่สูญเสียไป แต่สิ่งที่ได้มา คือ จะมีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจนขึ้น ไม่เคว้งคว้าง เลื่อนลอย ต้องรักษาตัวให้แข็งแรง กลัวว่าถ้าเจ็บไข้ได้ป่วย เดี๋ยวลูกจะเดือดร้อน

 

คนเป็นพ่อแม่จะไม่มีเวลามานั่งเหงา  ซึ่งเป็นผลดี คือไม่ต้องมาคิดว่า ฉันเกิดมาทำไม ฉันเกิดมาเพื่ออะไร ชีวิตฉันจะมีความหมายอย่างไร เรื่องเหล่านี้คนมีลูกไม่ต้องคิด เพราะแค่จะพยายามบริหารรักษาเวลาที่มีอยู่ให้ลงตัวก็ลำบากแล้ว

 

ฉะนั้นจึงเท่ากับว่า การมีความสุขจะมากขึ้นหรือน้อยลงจึงขึ้นอยู่กับว่าจะคิดไปในมิติไหน

 

ลูกจะส่งผลกระทบที่แตกต่างกันต่อผู้ชายและผู้หญิง โดยทั่วไปเพศที่เป็นฝ่ายดูแลรับผิดชอบมากกว่าในการมีลูกคือผู้หญิง ซึ่งในบทความเรื่อง ภูมิศาสตร์ของการเป็นพ่อแม่และการอยู่ดีมีสุข ได้บอกไว้ว่า บทลงโทษของการเป็นพ่อแม่ในผู้หญิงนั้น สูงกว่าถึง 65% เพราะผู้ชายยังคงใช้ชีวิตไม่ต่างจากเดิมนัก แต่ผู้หญิงจะต้องรับภาระหนักในการเลี้ยงดูลูก

 

การที่บอกว่า มีลูกแล้วมีความสุขน้อยลง ต้องดูด้วยว่าเป็นลูกในช่วงวัยไหน เช่น ทารกวัย 1 ขวบ อาจทำให้พ่อแม่อดหลับอดนอน กลางคืนลุกขึ้นมาร้อง ก็ทำให้เป็นทุกข์ได้ แต่อีก 50 ปีข้างหน้า เด็กจอมยุ่งคนนี้อาจกลายเป็นที่มาของความสุข ความอิ่มใจ อบอุ่นใจตอนที่เราอยู่ในช่วงบั้นปลายของชีวิตกับคนที่มีลูกคอยดูแล ฉะนั้นถ้าบอกว่า การมีลูกทำให้มีความสุขน้อยลง ก็ต้องดูว่า คนคนนั้นมีลูกอยู่ในช่วงวัยไหนของชีวิต

 

ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า ลูกเล็ก ๆ เท่านั้นที่จะทำให้เรายุ่งหรือมีความสุข แต่เด็กที่โตแล้ว เด็กวัยรุ่น หรือลูกที่เป็นหนุ่มสาวก็อาจจะก่อปัญหาได้เช่นกัน

 

นอกจากนั้น ช่องว่างระหว่างความสุขในชีวิตก็อยู่ที่นโยบายของรัฐ การสนับสนุนจากคนรอบข้าง ด้วยเช่นกัน ถ้าพ่อแม่อยู่กันตามลำพัง ต้องรับผิดชอบดูแลลูกโดยที่ไม่มีผู้ช่วย แบบนี้ก็มีโอกาสที่จะมีความสุขน้อยลง แต่ถ้าอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อบอุ่น มีพ่อแม่ปู่ย่าตายาย มีโครงสร้างสังคมที่ดี ในการช่วยสนับสนุน ดูแล พ่อแม่ก็จะมีปัญหาหรือมีความทุกข์น้อยลง

 

จากการสำรวจพบว่า พ่อแม่ในสหรัฐอเมริกา มีความพึงพอใจในชีวิตน้อยกว่าเพื่อนบ้านที่ไม่มีลูก 12% ในขณะที่ประเทศอังกฤษอยู่ที่ 8% เดนมาร์ก 3 % สวีเดนและนอร์เวย์ประมาณ 2%

เหตุที่สวีเดนและนอร์เวย์ พ่อแม่มีความสุขมากกว่าคนไม่มีลูก เนื่องจากเป็นรัฐสวัสดิการ มีโครงสร้างที่ดีรองรับ เช่น พ่อแม่ชาวสวีเดนจะมีวันลา 60 วัน ในการดูแลลูกที่อายุต่ำกว่า 12 ขวบที่ป่วยอยู่กับบ้าน

 

ในประเทศที่มีนโยบายเอื้อต่อครอบครัวมาก ๆ พ่อแม่จะได้รับการสนับสนุนดูแล จะไม่รู้สึกว่าความเป็นพ่อแม่ลำบากเหลือเกิน

 

เมื่อปี 2005 มีงานวิจัยนำโดย เจนนิเฟอร์ กลาส ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยา ที่มหาวิทยาลัยเท็กซัส ศึกษาช่องว่างระหว่างความสุขของคนที่มีลูกและไม่มีลูก และระดับเสรีภาพของพ่อแม่ในแต่ละประเทศ ซึ่งมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับคุณภาพชีวิต เช่น ค่าจ้างเลี้ยงเด็ก อยู่ในระดับที่พ่อแม่จ่ายได้สบาย ๆ ไหม พ่อแม่มีวันลาในการดูแลลูกที่ป่วยไหม พ่อแม่มีวันหยุดแบบได้รับค่าจ้างหรือเปล่า หรือพ่อแม่ได้รับเครื่องมือ ตัวช่วย และเสรีภาพที่จะทำให้พ่อแม่สามารถผนวกการทำงานเข้ากับการมีครอบครัวหรือไม่

 

ผลปรากฎว่า ประเทศโปรตุเกส เป็นอันดับ 1 ที่พ่อแม่มีความสุขมากที่สุด  เพราะมีปู่ย่าตายายเป็นรากฐานสำคัญที่คอยสนับสนุนค้ำจุนพ่อแม่ ช่วยเลี้ยงดูหลานมากกว่า 72% นอกจากช่วยเลี้ยงตอนเล็ก ๆ แล้ว พอหลานโต ยังช่วยสอนการบ้าน สอนกิจกรรมนอกหลักสูตร พาไปโรงเรียน ทำอาหารให้กิน พาไปชมรมกีฬา และช่วยทำงานบ้าน ช่วยทุกอย่างเท่าที่สามารถทำได้ จึงทำให้พ่อแม่มีเวลาว่างมากขึ้น มีเสรีภาพในการใช้เวลาส่วนตัวระหว่างสามีภรรยา เพราะมีคนดูลูกให้ ผู้สูงอายุก็รู้สึกมีความสุข รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า คลายเหงา ได้ช่วยกันดูแลหลาน

ถัดมาคือประเทศฮังการี อันดับ 2 สเปน อันดับ 3 นอร์เวย์ อันดับ 4 สวีเดนอันดับ 5 และ ฟินแลนด์ อันดับ 6 

 

ในเดนมาร์กได้สร้างระบบ “ปู่ย่าตายายโบนัส” สำหรับครอบครัวที่อาจไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ หรือพ่อแม่จากไปแล้ว ซึ่งเป็นระบบที่มีผู้อาวุโสในชุมชนรับอาสาเป็นปู่ย่าตายายอุปถัมภ์ให้กับครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง เพื่อช่วยดูแลในกรณีที่เด็กเจ็บป่วย หรือมาร่วมงานฉลอง ร่วมกิจกรรมของครอบครัว ซึ่งพบว่า ระบบนี้ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกมีคุณค่าในตัวเองเพิ่มมากขึ้น และมีความสุข มีความสัมพันธ์ที่ดี ผู้รับกลายเป็นผู้ให้ ผู้ให้กลายเป็นผู้รับ

 

สำหรับท่านที่สนใจติดตามเรื่องราวที่นำมาเล่าให้ฟังในวันนี้เพิ่มเติม สามารถติดตามกันต่อได้ที่ หนังสือเรื่อง ลุกกะ : วิถีความสุขจากทุกมุมโลก ผู้เขียน Meik Wiking (ไมก์ วิกิง) ผู้แปล ลลิตา ผลผลา

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  รัศมี มณีนิล

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

 

 

OTHER