ปลดล็อกกับหมอเวช EP.32 7 คำถามสำหรับคนหมดไฟในการทำงาน

03 ตุลาคม 2020 164 ครั้ง

ปลดล็อกกับหมอเวช EP.32 7 คำถามสำหรับคนหมดไฟในการทำงาน

คุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังรู้สึก “หมดไฟในการทำงาน” หรือไม่ ? ไม่ว่าคำตอบจะใช่หรือไม่ก็ตาม มาเรียนรู้การตั้งคำถาม 7 ข้อ เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้คุณไปถึงจุดที่หมดไฟ หรือหากกำลังหมดไฟอยู่ 7 คำถามนี้ก็จะทำให้เห็นทางเลือกที่จะปลุกไฟในตัวคุณขึ้นมาได้เช่นกัน

 

การตั้งคำถามเป็นศิลปะทางความคิดที่เป็นทักษะชั้นสูง เวลาที่อยู่ในสถานการณ์อะไรก็ตามของชีวิต ถ้ารู้จักตั้งคำถามเป็นจะช่วยกำหนดเส้นทางความคิดให้เจอทางออกหรือทางเลือกที่ดี กลับกัน ถ้าตั้งคำถามผิด ก็จะจมอยู่กับปัญหาและพาให้ดิ่งลงมากขึ้น

 

 

ภาวะหมดไฟคืออะไร ?

 

องค์การอนามัยโลกนิยามว่า ภาวะหมดไฟ คือ อาการที่เป็นผลจากความเครียดเรื้อรังในที่ทำงาน แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มอาการ คือ 1. หมดแรง หมดพลัง 2. ถอดใจ เบื่อหน่าย ไปจนถึงการกระแนะกระแหน ประชดประชัน 3. ผลงานแย่ลง

 

 

7 คำถามสำหรับคนหมดไฟในการทำงาน

 

 

1. รู้ตัวไหมว่ากำลังเครียดจากเรื่องอะไร ?

 

บางคนไม่รู้ตัวว่าเครียด รู้แต่ว่าไม่มีความสุข มีแรงกดดัน ไม่ชอบความรู้สึกที่มี คำถามข้อนี้จะทำให้กลับมาทบทวนและถามตัวเอง ซึ่งสาเหตุอาจเป็นทั้งเครียดเรื่องงาน ระบบงาน เพื่อนร่วมงาน หัวหน้า ปัญหาสุขภาพ หรือปัญหาชีวิตส่วนตัว

 

ความเครียดของชีวิต ไม่ได้แยกว่าเครียดเรื่องงานแล้วจะหยุดแค่ที่ทำงาน แต่จะไประบายใส่พื้นที่ส่วนตัวด้วย เช่นเดียวกับเวลามีเรื่องเครียดส่วนตัว ก็จะย้อนกลับมาทำให้ความสามารถในการจัดการความเครียดในที่ทำงานลดต่ำลง

 

วิธีที่ดีในการตอบคำถามนี้ คือ เรียบเรียงความคิดลงในกระดาษอย่างเป็นกลางที่สุด และอย่าหาข้ออ้างมาอธิบายกลบ

 

 

2. สังเกตตัวเองไหมว่า ที่ผ่านมาจัดการกับความเครียดอย่างไร ?

 

วิธีจัดการความเครียด แบ่งเป็น 2 อย่าง คือ จัดการภายนอก และ จัดการภายในตัวเรา

 

คนที่รู้ว่าเครียดเรื่องอะไร วิธีแก้ที่ดีที่สุด คือ ฝึกฝีมือให้สามารถจัดการกับโจทย์เรื่องนั้นได้ดีขึ้น เช่น ขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงานแล้วรู้สึกเครียด อย่ามองว่าปัญหาอยู่ที่เพื่อนร่วมงาน ปัญหาอยู่ที่เราจะจัดการความขัดแย้งกับคนในที่ทำงานอย่างไร เราต้องพัฒนาตัวเอง ไม่ใช่หวังว่าคนคนนั้นจะเข้าใจหรือจะเลิกมีปัญหากับเรา

 

การแปลงเรื่องที่ทำให้เครียดมาสู่สิ่งที่ต้องพัฒนาตนเอง เป็นวิธีจัดการความเครียดที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง กระบวนการเปลี่ยนแปลงภายในที่เกิดจากการพัฒนาตัวเอง จะช่วยให้ลดความเครียดลงได้

 

 

3. มีภาพไหมว่า เส้นทางงานในระยะยาวของเราเป็นอย่างไร ?

 

เมื่อเราเห็นภาพปลายทาง จะทำให้ภาพที่เดินอยู่ในปัจจุบันชัดขึ้นว่าที่เรายืนอยู่และรู้สึกว่าเครียดและกดดัน มันใช่เส้นทางที่จะไปสู่ปลายทางที่ต้องการไหม

 

เช่น คุณอยากเป็นวิศวกร นักร้อง แพทย์ หรือนักเขียน คุณต้องฝ่าด่านการฝึกฝนซึ่งมีทั้งความกดดันและความเครียด ถ้าคิดว่านี่คือเส้นทางชีวิตที่ต้องการ คุณจะมีพลังในการต่อสู้กับความยากลำบาก ทนกับความเครียด จนรู้สึกว่าสิ่งที่เคยทำให้เครียดนั้นเครียดน้อยลง เพราะรู้ดีว่าสิ่งนั้นจะพาไปสู่จุดหมายที่ต้องการ

 

ขณะเดียวกัน ถ้ารู้สึกว่าจุดที่ยืนอยู่ งานที่ทำไม่ใช่สิ่งที่ชอบ และคุณมีแผนว่าอยากจะไปยืนตรงจุดไหน แรงกดดันและความเครียดอาจเป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่า อาจถึงเวลาที่จะเปลี่ยนงาน เลือกเส้นทางใหม่

 

 

4. มองเห็นไหมว่าทางเลือกในงานของเรามีอะไรบ้าง ?

 

หมายความว่าถ้าคุณมีภาพระยะยาวชัด คุณอาจเริ่มเห็นว่าจุดที่ยืนอยู่นี้จะเดินทางไปสู่จุดหมายปลายทางได้อย่างไร

 

บางกรณีอาจหมายถึงการทนอยู่ที่เก่า เผชิญแรงกดดัน แล้วฝึกฝีมือจนกระทั่งเก่งขึ้น บางกรณีอาจหมายถึงการย้ายภายในองค์กร หรือบางกรณีอาจหมายถึงการเปลี่ยนงานไปองค์กรอื่น

 

การตระหนักในทางเลือกที่มีจะช่วยให้คิดได้รอบด้านมากขึ้น หลักคิดที่สำคัญ คือ คนที่ตระหนักในทางเลือกในชีวิตของตัวเองจะตัดสินใจได้ดีขึ้น พยายามให้คิดถึงทางเลือกอย่างน้อย 3 ทาง เพราะจะทำให้ความคิดยืดหยุ่นกว้างขึ้น

 

 

5. ถ้าคุณเลือกที่จะก้าวออกนอก comfort zone ของคุณ คุณกลัวอะไรอยู่ ?

 

comfort zone หมายถึงพื้นที่คุ้นเคย พื้นที่สบาย บางครั้งพื้นที่ที่คุ้นเคย อาจมีปัญหา มีความไม่ชอบ ไม่เป็นสุขได้ แต่คนเรามักกลัวการเปลี่ยนแปลง จึงเลือกสิ่งคุ้นเคยมากกว่าสิ่งดี ๆ ที่มีโอกาสเกิดขึ้นแล้วต้องทิ้งสิ่งคุ้นเคยไป

 

คนจำนวนหนึ่งก้าวออกไปไม่ได้ เพราะไม่มีเป้าหมายชัดว่าจะไปไหน อีกกลุ่มหนึ่ง คือ รู้ว่าอยากไปไหน แต่ถูกความกลัวบางอย่างดึงไว้

 

ฉะนั้นการตั้งคำถามว่า คุณกลัวอะไรที่จะต้องก้าวออกนอก comfort zone ? ความกลัวนั้นแหละคือตัวที่ดึงไว้  ทำให้ไม่ได้ไปสู่ฝัน

 

ถ้าเผชิญหน้ากับความกลัวได้ และถามตัวเองไล่มาทีละข้อจนถึงข้อนี้ ก็ถึงเวลาแล้วว่าจะเลือกอยู่ใน comfort zone ต่อ หรือจะก้าวออกไปอย่างมีทิศทาง

 

 

6. คุณจะออกแบบชีวิตให้มีความสุขเพิ่มขึ้นได้อย่างไร

 

ไม่ว่าจะเลือกอยู่ที่เดิมหรือเปลี่ยนแปลงงาน คุณจำเป็นต้องนึกถึงความสุขในงาน เช่น การมีเพื่อนดี มีความสัมพันธ์ในที่ทำงานดี ได้ทำงานที่ทำแล้วรู้สึกภูมิใจ มีความสำเร็จ ได้รับการยอมรับ ความชื่นชม ได้โฟกัสกับงานโดยไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับความวุ่นวายบางเรื่อง เหล่านี้เป็นหน้าที่ที่คุณต้องออกแบบความสุขให้ตัวเอง

 

ถ้าในที่ทำงานออกแบบความสุขได้จำกัด นอกเวลางานก็สามารถออกแบบได้เต็มที่ เช่น ความสนุกสนาน สุขภาพ การออกกำลังกาย

 

อย่าปล่อยให้ความสุขในงานถูกกำหนดโดยเงื่อนไขในที่ทำงาน คุณมีหน้าที่เลือก จัดส่วนผสมให้ดีที่สุดตามเงื่อนไขของระบบงาน เพราะความสุขอยู่ที่กระบวนการที่คุณจะจัดการภายใน

 

 

7. คุณมีอาการซึมเศร้าอยู่หรือเปล่า ?

 

แยกได้อย่างไรระหว่างซึมเศร้ากับหมดไฟ ?

 

ถ้าคุณหมดไฟในงาน เมื่อออกนอกที่ทำงาน ได้เวลากลับบ้าน หรือหยุดเสาร์อาทิตย์ คุณมีไฟออกมาเลย สุข สนุกสนานได้ แต่พอเข้าที่ทำงานจะรู้สึกห่อเหี่ยว วันจันทร์ไม่อยากไปทำงาน ไม่อยากตื่น แปลว่าเริ่มหมดไฟ

 

แต่ถ้าวันหยุดก็ไม่มีความสุข ที่ทำงานก็ไม่มีความสุข เบื่อหน่าย ท้อ ไม่มีพลัง แบบนี้อาจเป็นโรคซึมเศร้าที่ต้องการการรักษาที่แตกต่าง

 

บางคนมี 2 อย่างปนกัน คือ ทั้งหมดไฟและซึมเศร้า ถ้ารักษาซึมเศร้าด้วยยาช่วงแรกอาจดีขึ้น แต่ต้นเหตุของความเครียดในที่ทำงานนั้นซับซ้อน ต้องแก้นิสัยหลายอย่างในการจัดการความเครียด บางทีไปโทษคนอื่น โทษระบบงาน โทษหัวหน้า แต่จริง ๆ อาจเป็นเพราะตัวเราเองที่ยังไม่มีความสามารถในการจัดการโจทย์ที่เกิดขึ้น

 

คนที่ซึมเศร้าในระหว่างที่มีความเครียดในงาน มักมีนิสัยการแก้ปัญหาโดยเป็นฝ่ายตั้งรับ คือรอให้เรื่องมากระทบ และไม่ค่อยมีความชัดของทิศทางตัวเอง ทำให้ไม่สามารถออกแบบเชิงรุกได้

การที่ไม่สามารถจัดการความเครียดเรื้อรังได้ บางทีก็กระตุ้นให้ก้าวเข้าสู่วงจรการป่วยเป็นซึมเศร้าได้

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  นพ.ประเวช  ตันติพิวัฒนสกุล

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

 

OTHER