Money and the Family EP.21 เคล็ดลับสยบปัญหาการเงินในบ้าน

15 กันยายน 2020 77 ครั้ง

Money and the Family EP.21 เคล็ดลับสยบปัญหาการเงินในบ้าน

การบริหารเงินในครอบครัว ไม่ใช่เป็นเพียงศาสตร์อย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของศิลปะด้วย เพราะมีเรื่องของอารมณ์และความรู้สึกเข้ามา ทำให้เกิดผลกระทบค่อนข้างง่าย ไม่อยากให้การเงินเป็นบ่อเกิดปัญหาในครอบครัว มาศึกษากติกาเพื่อนำไปปรับใช้ได้ใน Money and the Family EP.21 เคล็ดลับสยบปัญหาการเงินในบ้าน

 

เคล็ดลับสยบปัญหาการเงินในบ้าน

 

1. เปิดเผย

 

ข้อมูลสำคัญ ๆ ที่ควรพูดคุยและเปิดเผยกันมี ดังนี้

 

1.1 ภาระหนี้สิน บอกให้ครบและละเอียด ปรึกษาหารือเพื่อช่วยกันแก้ปัญหา

 

1.2 ภาระในครอบครัว เช่น การเลี้ยงดูพ่อแม่ หรือส่งเสียน้อง ๆ อะไรก็ตามที่เป็นภาระเรา ต้องบอกคนที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันว่าเราจะมีภาระประมาณนี้ เรื่องนี้ถ้าทั้งสองฝั่งมีรายได้เยอะ ก็อาจมีปัญหาไม่มาก แต่ถ้าการเงินตึง ๆ หน่อย แล้วยังต้องช่วยเหลือครอบครัวดั้งเดิม ก็ไม่ควรสร้างภาระให้กับครอบครัวใหม่ หรือทำให้ลำบากจนเกินไป

 

1.3 ข้อมูลทรัพย์สิน อยากให้พูดคุยกันว่ามีอะไร ตรงไหน อย่างไร รู้กันไว้บ้างก็ดี เช่น ทรัพย์สินจดทะเบียน อย่างหุ้น หรือกองทุน เพราะถ้าอีกฝั่งหนึ่งจากไปก่อนเวลาอันควร อีกฝั่งหนึ่งก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

 

 

2. ข้อตกลงและกติกา

 

แต่ละครอบครัวมีรูปแบบการจัดสรรเงินแตกต่างกันไป บางครอบครัวหาเงินได้ทั้งคู่ ก็ใช้วิธีการนำเงินมารวมกัน แล้วบริหารร่วมกัน แต่บางบ้านอาจแบ่งกันรับภาระ เช่น สามีดูแลบ้านกับรถ ภรรยาดูแลค่าใช้จ่ายในบ้าน ต่างคนต่างเก็บออม ซึ่งไม่ว่าจะเป็นวิธีไหนก็ไม่ผิด เพราะหัวใจสำคัญ คือ ข้อตกลง ข้อตกลงเป็นอย่างไรต้องปฏิบัติตาม ถ้าทั้งสองฝั่งดูแลหน้าที่ตัวเอง ก็จะมีผลลัพธ์ที่ดี วางใจกัน ทำให้ชีวิตการเงินครอบครัวยั่งยืน

 

 

3. เป้าหมาย

 

เราอาจกำหนดเป้าหมายในชีวิต แล้วแปลงเป็นเป้าหมายทางการเงิน จากนั้นจึงวางแผนร่วมกัน ทั้งสามี ภรรยา และลูก ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย เช่น เราอยู่คอนโด วันหนึ่งมีลูก 2 คน คอนโดอาจเล็กไป เราก็อาจร่วมกันวางแผนว่าอีก 3 ปีจะซื้อบ้าน ระหว่างนี้อาจขับรถไปดูบ้านตามที่ต่าง ๆ วางแผนเก็บเงิน ใครในบ้านต้องช่วยอะไรกันบ้าง การมีเป้าหมาย มีแผนการ แล้วได้ทำกิจกรรมทางการเงินร่วมกัน จะเป็นตัวช่วยทำให้การเงินในครอบครัวดีขึ้นและรักกันมากขึ้นเพราะเรามีเป้าหมายในชีวิตแบบเดียวกัน

 

 

4. ความเข้าใจเห็นใจกัน

 

เมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้นมาในการดำรงชีวิต เช่น ฝั่งหนึ่งอาจไปทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องทางการเงิน มีการกู้ยืม ใช้สินเชื่อ หรือลงทุนผิดพลาด สิ่งสำคัญคือ ต้องหันมาพูดคุยกัน บอกเหตุผลเพื่อให้อีกฝ่ายเข้าใจ การพยายามสื่อสารเรื่องราวให้อีกฝั่งหนึ่งรับรู้ นอกจากจะทำให้เกิดความเข้าใจ เห็นใจ ให้อภัยกันแล้ว ยังทำให้เกิดการช่วยกันคิดหาทางออกของปัญหาได้อีกด้วย ซึ่งทำให้เกิดผลดีกับครอบครัวมากขึ้น

 

 

ความรักอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างครอบครัว อย่าให้การเงินมาเป็นตัวบ่อนทำลาย ทำให้ครอบครัวเสียหาย

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  จักรพงษ์ เมษพันธุ์

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

 

OTHER