Money and the Family EP.20 ออมเงินกินดอก ระวังโดนหลอกไม่รู้ตัว

08 กันยายน 2020 292 ครั้ง

Money and the Family EP.20 ออมเงินกินดอก ระวังโดนหลอกไม่รู้ตัว

เมื่อแชร์ลูกโซ่ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องหลอกลวงสำหรับผู้ใหญ่อีกต่อไป แต่ลูกหลานของคุณอาจจะกำลังตั้งวงแชร์หรือร่วมลงทุนด้วยตัวเองอยู่ก็เป็นได้ Money and the Family EP.20 นี้ จะพาคุณไปรู้จักอีกรูปแบบหนึ่งของแชร์ลูกโซ่ที่อาจชักนำให้ลูกหลานของคุณเข้าไปข้องเกี่ยวด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์

 

แชร์ลูกโซ่คืออะไร

 

"แชร์ลูกโซ่" เป็นการหลอกลวงให้นำเงินไปลงทุน ทั้ง ๆ ที่ไม่มีการลงทุนจริง โดยการหลอกในแต่ละครั้งจะอ้างอิงถึงการลงทุนที่มีอยู่จริง เช่น ระดมทุนไปลงทุนในหุ้นต่างประเทศ คำที่พวกมิจฉาชีพจะใช้พูดหลอก เช่น หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีหรืออินโนเวชัน (Innovation) เงินดิจิทัล เช่น บิตคอยน์ (Bitcoin) รวมไปถึงเรื่องการลงทุนในธุรกิจ แล้วเดี๋ยวจะมีปันผลมาให้

 

ยิ่งปัจจุบันนี้ ด้วยเทคโนโลยีที่ไปไกล ทำให้คนกลุ่มนี้ทำเว็บไซต์ (website) หลอกลวงได้สมจริง มี username / password ให้เข้าไปตรวจสอบตัวเลขทางการเงินของเราได้ เมื่อเราไปเปิด เห็นตัวเลขการลงทุนโตขึ้น เลยยิ่งรู้สึกดี

 

แต่ทั้งนี้มักจะมีเงื่อนไขบางอย่างในการนำเงินออก เช่น ลงทุนไป 100,000 บาท เงินก็โตเร็วมากทุกสัปดาห์ ทุกเดือน แต่จะยังถอนไม่ได้ ต้องอยู่ให้ครบ 6 เดือนก่อนถึงจะถอนกำไรได้ ด้วยความที่เห็นตัวเลขทางการเงินโตเรื่อย ๆ เราก็ดีใจ เลยไม่คิดมาก แล้วก็ลงต่อเนื่องกันไป

 

 

จุดเด่น ของแชร์ลูกโซ่

 

1. มีการรับประกัน แชร์ลูกโซ่จะมีการรับประกันผลตอบแทนที่ชัดเจนว่าจะได้เท่านั้นเท่านี้ แต่ในความเป็นจริง การลงทุนไม่มีการรับประกัน เหมือนคำกล่าวที่ได้ยินกันบ่อย ๆ คือ “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาการลงทุนให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน” ความเสี่ยงไม่ได้แปลว่าโอกาสในการขาดทุน แต่แปลว่ามีความผันผวนสูงมาก คือ อาจได้กำไรเยอะในบางที หรืออาจขาดทุนหรือเสียเงินต้นไปเยอะในบางที เพราะฉะนั้น การรับประกันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ในการนำเสนอเรื่องการลงทุนใด ๆ ก็ตาม

 

2. มีการรับประกันด้วยตัวเลขที่สูงมาก การลงทุนจริง ๆ ที่เป็นลักษณะการเอาเงินไปฝาก ผลตอบแทนที่พอเป็นไปได้จะอยู่ที่ประมาณ 10% ต่อปี ดังนั้น ถ้าตัวเลขเกินไปไกล ต้องระมัดระวังไว้ มีโอกาสเป็นการลงทุนที่หลอกลวงสูงเลยทีเดียว

 

3. ไม่เน้นการลงทุนหลัก แต่เน้นชวนคนลงทุนเพิ่ม หรือชวนให้เราเปิดขาการลงทุนหลาย ๆ ขา เพื่อจะได้รับผลตอบแทนเพิ่ม ยิ่งเปิดเพิ่ม ยิ่งชวนเพื่อนมาก ยิ่งได้มาก จุดเด่นสำคัญคือต้องชวนคนเยอะ ๆ ถึงจะรวย ถึงจะได้เงินมาก ๆ แล้วเวลาที่มีการแย้งว่า “ทำไมเหมือนแชร์ลูกโซ่จัง” ก็จะมีการต่อว่า แดกดันว่า “เป็นเรื่องโง่ โลกไปถึงไหนแล้ว เขามีการลงทุนดี ๆ แบบนี้” ซึ่งต้องบอกว่า ถ้ามีการลงทุนที่ดีขนาดนั้นจริง ๆ คงไม่หลุดมาถึงเรา

 

 

ข้อแตกต่างของแชร์ลูกโซ่ในปัจจุบัน

 

ตอนนี้ใน Facebook, Twitter และ Instagram มีแฮชแท็ก (Hashtag / #) ที่กำลังได้รับความนิยม คือ #ออมเงินกินดอก หรือคำค้นหา บ้านเงินฝาก / บ้านเงินออม ซึ่งเป็นการชวนคนมาลงทุน มาออมเงิน โดยมีเงื่อนไข คือ

 

ออมเงินขั้นต่ำ 1,000 บาท ถ้าออมวันนี้ 1,000 บาท อีก 30 วันได้ 500 บาทเป็นดอกเบี้ย (ดอกเบี้ย 50% ต่อ 1 เดือน หรือ 30 วัน) ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดแปลกมาก เพราะจากที่บอกไปข้างต้น การลงทุนในรูปแบบนำเงินไปฝาก ผลตอบแทนที่พอเป็นไปได้จะอยู่ที่ประมาณ 10% ต่อปี

 

รูปแบบตรงนี้เป็นรูปแบบที่เหมือนเดิมแต่ที่แตกต่าง คือ คนทำแชร์ลูกโซ่ปัจจุบันเป็น “เด็ก”

 

ด้วยความที่เด็กอยากมีกำไรจากการลงทุน มีผลตอบแทนจากเงินเก็บของตัวเอง บางคนสำนึกดี คิดว่าลงทุนแล้วจะได้กำไรมาไว้ดูแลตัวเอง ซื้อของที่ตัวเองต้องการจะได้ไม่รบกวนพ่อแม่ จึงทำให้เข้ามาทำตรงนี้กันพอสมควรเพราะได้เงินง่าย ได้เงินเร็ว

 

ตอนนี้ไปถึงขั้นว่า ถ้าไม่มีเงิน 1,000 บาทมาลงทุนในทันที สามารถออมวันละ 10-20 บาทได้  แต่ดอกเบี้ยจะเริ่มจ่ายต่อเมื่อออมครบ 1,000 บาทเท่านั้น

 

นี่คือความน่ากลัวของความไม่รู้เรื่องทางการเงิน และความน่ากลัวของโซเชียลมีเดียที่ช่วยทำให้แชร์ลูกโซ่ไปได้เร็วกว่าปกติ

 

ยิ่งเด็กสมัยนี้มีมือถืออยู่กับตัว บางทีเพื่อนแชร์บอกกันมาก็ไปลงทุนกัน เพราะฉะนั้น พ่อแม่อาจต้องคอยดู คอยติดตามว่าลูกหลานเอาเงินไปลงทุนหรือไปออมกับการหลอกลวงแบบนี้หรือไม่ และถ้าบุตรหลานของท่านกลายเป็นคนเปิดวงแชร์ลูกโซ่เอง แบบนี้มีความผิดในเชิงอาญา มีโทษหนัก ฐานช่อโกงและหลอกลวงประชาชน ถ้าเปิดวงแชร์เกิน 10 คนขึ้นไปในวง

 

 

เคสตัวอย่าง

 

น้องสาวอายุ 21 ปี เปิดวงแชร์เป็นหนี้ประมาณ 3 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินของคนอื่นที่ได้มาจากการเปิดวงแชร์ โดยใช้เวลาเพียง 4 เดือน มีลูกหนี้เป็นร้อยราย เข้าข่ายช่อโกง สุดท้ายเมื่อวงแชร์ล้ม ทำให้จ่ายคืนไม่ได้ เกิดการฟ้อง แจ้งความ สรุปเคสนี้ถึงขั้นเสียที่ดินของที่บ้าน ต้องนำมาขายเพื่อมาเคลียให้กับเจ้าหนี้หรือผู้ที่ลงแชร์แล้วไม่ได้เงินคืนตามสัญญา

 

 

เรื่องเหล่านี้เป็นภัยใกล้ตัวมาก ผสมผสานระหว่างความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ การไม่รู้จักเครื่องมือทางการเงินที่แท้จริง และการไม่มีความรู้ทางด้านการเงิน เวลาเห็นกรณีแชร์ลูกโซ่เกิดขึ้น บางคนจะตำหนิว่า นี่คือการโลภ แต่จริง ๆ แล้วในมุมหนึ่ง ความโลภจะเกิดได้ก็เกิดจากการที่คน ๆ นั้นไม่รู้จักและไม่เข้าใจการลงทุนจริง ๆ เลยไม่รู้ว่าการลงทุนจริงๆ ให้ผลตอบแทนได้ประมาณเท่าไหร่ อย่างไร ยิ่งโดยเฉพาะกับเด็ก ๆ จึงอยากฝากทุกคนในครอบครัวให้ช่วยกันติดตาม ดูแล เฝ้าสังเกตและตรวจสอบกันให้มาก ๆ โดยเฉพาะคนที่ให้ลูกใช้มือถือได้ตลอดเวลา อาจต้องชวนลูกมาพูดคุยกัน

 

ความรู้ด้านการเงินเป็นสิ่งที่สำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในยุคที่การสื่อสารแพร่กระจายได้รวดเร็วแบบนี้ หวังว่าปัญหาจะไม่เกิดขึ้นกับครอบครัวของท่าน

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  จักรพงษ์ เมษพันธุ์

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

OTHER