Money and the Family EP.02 ปัญหาการเงินของลูกกตัญญู

03 มีนาคม 2020 1,677 ครั้ง

Money and the Family EP.02 ปัญหาการเงินของลูกกตัญญู

เมื่อเงินเดือนของเรา ไม่ได้มีไว้ใช้แค่เพียงเรา แต่ยังมีครอบครัวที่ต้องจัดสรรส่งให้ แล้วต้องทำอย่างไรถึงจะมีเก็บ มีออม มีใช้บ้าง

 

Money and the Family ตอนที่ 2 นี้ โค้ชหนุ่ม จักรพงษ์ เมษพันธุ์ ได้หยิบยกประเด็นคำถามจากน้องคนหนึ่งมาพูดคุย โดยเรื่องมีอยู่ว่า...

 

น้องใหม่เป็นเด็กที่กำลังจะเรียนจบ ตั้งใจว่าทำงานแล้วก็จะเริ่มเก็บเงินเลย เพราะอยากเริ่มจัดการการเงินให้ดีตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำงาน แต่ก็มีข้อติดขัด พอสมัครงานได้เรียบร้อย และบอกเรื่องนี้กับที่บ้าน ที่บ้านก็ส่งข้อความมาว่า ได้งาน ได้เงินแล้ว จะต้องส่งมาช่วยที่บ้านด้วย โดยตัวเลขที่ทางบ้านให้ส่งมาช่วยก็ถือว่าเยอะพอสมควร เยอะจนน้องตกใจว่าอาจจะทำให้ตัวเองไม่สามารถเก็บเงินได้ตามที่ตั้งใจเอาไว้ แล้วเงินตรงนี้ที่ทางบ้านขอก็จะไม่ให้ก็ไม่ได้ เพราะว่าคุณพ่อคุณแม่ก็เกษียณแล้ว ไม่มีเงินกิน ไม่มีเงินใช้ เรียกว่าถ้าไม่ได้เงินก้อนนี้ก็คงดูแลตัวเองไม่ได้ น้องใหม่จึงส่งข้อความมาขอคำแนะนำจากโค้ชหนุ่ม ซึ่งโค้ชหนุ่มก็ได้แนะนำวิธีเพื่อให้เอาไปปรับใช้ ดังนี้

 

1. ตั้งสติ อย่าเพิ่งจิตตกกับการความตั้งใจที่จะไม่เป็นไปตามที่หวัง ดึงความรู้สึกตัวเองขึ้นมา แล้วกลับมาดูข้อเท็จจริงโดยเขียนลงบนกระดาษ เอาตัวเลขรายได้ที่คิดว่าจะได้มาประเมิน แล้วมาดูรายจ่ายส่วนตัวว่าใช้ประมาณเท่าไหร่ เขียนตัวเลขลงมา จากนั้นหักลบเพื่อให้เห็นสิ่งที่เรียกว่าสภาพคล่อง 

 

ยกตัวอย่างเช่น ได้เงินเดือนประมาณ 15,000 บาท ใช้จ่ายเดือนละประมาณ 9,000 บาท ส่วนที่เหลือประมาณ 6,000 บาท นี่คือให้เห็นข้อเท็จจริงเป็นตัวเลขชัด ๆ ก่อน

 

2. ออมเงิน โดยปกติถ้าเก็บออมได้ 10% ของเงินเดือนถือเป็นเรื่องดี ถ้าหาได้ 15,000 บาท เก็บ 10% คือ 1,500 บาท นี่คือทางทฤษฎี แต่ในความเป็นจริง ขอให้เก็บในอัตราส่วนที่เรารู้สึกว่า เรายังรู้สึกดีกับตัวเองอยู่ ไม่ต้องถึง 10% ก็ได้ เก็บเท่าที่เราพอไหว ขอให้คิดว่ามันเป็นการเริ่มต้น ปริมาณของเงินออม ณ วันเริ่มต้นสำคัญน้อยกว่าวินัยที่เราจะทำต่อเนื่องหลังจากนี้ เพราะฉะนั้น การเก็บเงินออมจะมีมากน้อยไม่เป็นไร ขอให้ได้เริ่มและขอให้สม่ำเสมอ ให้เป็นอัตราที่เรามั่นใจได้ว่าจะเก็บได้อย่างนี้เป็นประจำทุก ๆ เดือนอันนี้สำคัญกว่า

 

3. เงินช่วยเหลือ เมื่อเอาเงินออมไปหักจากรายรับที่หักลบรายจ่ายแล้ว เราจะเหลือเงินก้อนสุดท้าย ที่พอจะช่วยเหลือที่บ้านได้ ให้ลองพูดคุยกับทางบ้านดูว่าพอจะช่วยได้แบบนี้ ที่บ้านคิดเห็นอย่างไร ถ้าเราช่วยเกินกำลัง เราอาจจะ 1. ไม่ได้ออม 2. การเงินอาจติดลบ 3. อาจต้องหยิบยืมกู้ยืมเงิน แบบนี้จะทำให้ชีวิตเราถอยหลังไปด้วย ถ้าเงินก้อนนี้เอาไปจ่ายเป็นภาระหนี้ เราอาจต้องเข้าไปดูการจัดการเรื่องหนี้สินให้พ่อแม่ แต่อย่าโยนภาระหนี้หรือเอาภาระหนี้กลับมาที่ตัวเรา ให้ใช้วิธีเข้าไปให้คำปรึกษาหรือเข้าไปดูว่าจะลดการจ่ายหนี้ได้อย่างไร

 

การช่วยเหลือบนหลักเหตุและผล ทำให้พ่อแม่เข้าใจปัญหาของเราจริง ๆ แล้วก็ช่วยอย่างเต็มกำลังเท่าที่ความสามารถเราจะช่วยได้ นั่นก็ถือว่ากตัญญูแล้ว

 

สุดท้ายปลายทาง ถ้าคำนวนแล้วที่บ้านก็มีความจำเป็นต้องใช้เงินแบบนั้นจริง แนะนำให้หาเงินเพิ่ม แต่การหาเงินเพิ่ม อย่าใช้วิธีการกู้ยืมเงิน เพราะจะทำให้ชีวิตการเงินจมลงไปเรื่อย ๆ ให้หารายได้เพิ่ม ส่วนจะใช้ทักษะความสามารถอะไรของเราเพื่อไปหารายได้เพิ่มนั้น ต้องไปคิดต่อยอดอีกทีหนึ่ง แต่ย้ำว่าไม่ให้ใช้เงินกู้เด็ดขาด

 

ชีวิตของแต่ละคนมีโจทย์ทางการเงินไม่เหมือนกัน เมื่อเราได้โจทย์ยากกว่าคนอื่น เราก็ต้องตั้งใจมากกว่า ขยันมากกว่า หากมัวแต่จมอยู่กับความทุกข์ จะยิ่งทำให้เราออกจากปัญหาได้ช้ากว่า ดังนั้นขอให้ค่อย ๆ คิดอย่างมีสติ ใจเย็น อย่าท้อกับปัญหา

 

คนแต่ละคนมีจุดเริ่มต้น มีต้นทุน มีโจทย์ปัญหาที่หนักหน่วงไม่ต่างกัน แต่สิ่งที่เขาแตกต่างกันคือพลังใจและพลังความคิด การเงินเราสู้เขาไม่ได้ แต่พลังใจ พลังความคิดจะทำให้เราเปลี่ยนแล้วนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่าได้เสมอ

 

ขอเป็นกำลังใจให้กับทุก ๆ ครอบครัว 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  จักรพงษ์ เมษพันธุ์

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

OTHER