Save teen EP.08 กำลังใจที่หนักหนา

08 ตุลาคม 2021 51 ครั้ง

Save teen EP.08 กำลังใจที่หนักหนา

เมื่อการให้กำลังใจของพ่อแม่ กลายเป็นการสร้างความกดดัน และลำบากใจให้ลูกอย่างหนักหนา ปัญหานี้จะมีทางออกอย่างไร ติดตามคำแนะนำดี ๆ จาก คุณชลธิชา แย้มมา นักจิตวิทยา สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น ราชนครินทร์ ในรายการ Saveteen EP.08 กำลังใจที่หนักหนา

 

Q : หนูอยู่กับคุณแม่ 2 คน มีอะไรก็คุยกันทุกเรื่อง หนูรักคุณแม่มาก และคุณแม่ก็รักหนูมาก คอยให้กำลังใจหนูตลอด แต่บางที หนูรู้สึกถูกกดดันจากคำพูดให้กำลังใจของคุณแม่ เพราะเวลาทำอะไร คุณแม่ก็จะคอยเชียร์อยู่ตลอดเวลาว่า หนูทำได้ แม่รู้ว่าลูกเก่ง แม่มั่นใจว่าหนูต้องผ่านอยู่แล้ว บางทีหนูก็อยากบอกคุณแม่ว่า สิ่งที่หนูทำอยู่ บางเรื่องมันเป็นเรื่องที่ยากมาก ๆ และหนูก็ไม่อยากทำเลยด้วย หนูกลัวจะทำให้คุณแม่ผิดหวัง เสียใจ หนูควรจะบอกคุณแม่อย่างไรดีคะ

 

 

A : จริง ๆ การให้กำลังใจมีหลายแบบ บางประโยค บางคำ เวลาที่บางคนตีความอาจจะไม่เหมือนกัน อาจจะขึ้นอยู่กับประสบการณ์หรือการรับรู้ของน้องหลาย ๆ คนมากกว่า อันนี้จะมองคนละอย่างกับเรื่องของความสนิท ความรัก หรือความผูกพันที่มีให้กันนะ

 

ถ้ามองในเรื่องการตีความ ก็มองได้ว่า ประโยคที่รู้ว่าเป็นการให้กำลังใจ แต่บางครั้งเราตีความในบางสถานการณ์ที่มันต่างกัน เลยทำให้ความหมายอาจบิดเบือน หรือตีความไปในด้านลบ ที่น้องอาจรู้สึกว่าถูกกดดันก็เป็นไปได้ ถ้าวิธีง่ายที่สุด คือ พูดบอกความรู้สึกกับคุณแม่ไปเลย

 

วิธีการที่จะบอก ขอแยกออกเป็น 2 ประเด็น คือ ถ้ามองในด้านบุคลิกภาพ น้องอาจเป็นลูกที่ค่อนข้างเกรงใจ หรือมีพื้นฐานความกังวล ก็มักไม่ค่อยสื่อสารออกไปตรง ๆ ไม่พูด ไม่บอก แต่ไม่ได้หมายความว่า เขาไม่รัก หรือไม่ได้สนิทกับแม่นะ

 

เด็กบางคนอาจอายที่จะพูด ไม่กล้าพูด จริง ๆ วิธีที่ใช้ได้ผล (เป็นวิธีจากน้องที่เคยมาบอกเล่าให้ฟังจากประสบการณ์) คือ ใช้วิธีการเขียนโน้ต อาจจะเขียนไปว่า หนูชอบที่แม่ให้กำลังใจ แต่ว่าประโยคนี้ทำให้หนูรู้สึกกดดัน หรือบางคนก็จะส่งผ่านเป็นข้อความเสียงที่ไม่ต้องเจอตัวโดยตรง อาจจะอยู่บ้านเดียวกัน แต่เราก็ส่งข้อความเสียงทางโปรแกรมอะไรบางอย่างได้

 

แต่สำหรับเด็กอีกกลุ่มหนึ่ง เขาอาจจะแค่กังวล แต่ว่าถ้าสนิทกับคุณแม่อยู่แล้ว ก็สามารถพูดสื่อสารบอกไปตรง ๆ เพราะถ้าความผูกพันดี ความสนิทดี ส่วนใหญ่แล้วเรามักจะเจอว่า มันจะเป็นแค่เฉพาะบางห้วงอารมณ์มากกว่าที่เราจะเกิดความรู้สึกกดดัน แต่ถ้าลองวัดดู ก็มักจะไม่ค่อยรู้สึกบ่อย ๆ หรอก

 

ถ้ามองในมุมมองของคุณแม่ คุณแม่อาจไม่ได้มีคลังข้อมูลเยอะมากในเรื่องการพูดชมให้กำลังใจ คือหมายถึง เขาคิดอย่างไร เขาก็พูดแบบนั้น

 

การที่เรารู้สึกว่า คำพูดให้กำลังใจ มันแปรเปลี่ยนเป็นความกดดัน หรือเป็นความรู้สึกด้านลบ นั่นเป็นเพราะว่า ในช่วงเวลานั้นเราอาจอยากได้แค่คนเข้าใจ ไม่อยากได้คำให้กำลังใจมากจนเกินไปก็เป็นไปได้

 

ซึ่งถ้าหากคุณแม่มีเหตุการณ์ หรือปฏิกิริยาบางอย่างที่เรามองว่า ลูกน่าจะต้องการกำลังใจ อาจเป็นสีหน้าท่าทาง หรือคำพูดบางประโยคที่เหมือนเขาไม่มั่นใจ หรือท้อแท้ใจ ถ้าอยากเข้าใจลูกมากจริง ๆ ก็ให้ใช้การถามคำถาม เหมือนถามสารทุกข์สุกดิบทั่วไป เช่น วันนี้เป็นยังไงบ้าง แต่ไม่ต้องถามแบบเฉพาะเจาะจง เช่น วันนี้ดูหน้าเศร้าจังเลย ไปเจอเรื่องอะไรมาล่ะ แบบนี้เป็นต้น

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  รัฐนันท์ ฐาปนาประเสริฐ

แขกรับเชิญ: ชลธิชา แย้มมา

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

 

OTHER