Mom Gen 2 EP.51 เร่งสร้างจริยธรรมให้ลูกในยุคดิจิทัล

30 มิถุนายน 2021 43 ครั้ง

Mom Gen 2 EP.51 เร่งสร้างจริยธรรมให้ลูกในยุคดิจิทัล

สภาพสังคมยุคดิจิทัล ยิ่งเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากเท่าไร ยิ่งหล่อหลอมให้เด็กยุคนี้มีโอกาสที่จะสนใจแต่เรื่องของตัวเอง และมีปัญหาเรื่องการปรับตัวอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมยากขึ้น การฝึกให้ลูกอยู่ร่วมกับผู้อื่นแบบมีคุณภาพและมีคุณธรรมจึงเป็นเรื่องที่พ่อแม่ต้องให้ความสำคัญมาก แต่จะทำได้อย่างไร ติดตามแนวทางได้ใน Mom Gen 2 EP.51 เร่งสร้างจริยธรรมให้ลูกในยุคดิจิทัล

งานวิจัยของ ดร.เอมด์ (Dr. Emde) จิตแพทย์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ (Health Science Center) มหาวิทยาลัยโคโลราโด สหรัฐอเมริกา พบว่า เด็กวัย 2-3 ขวบจะหันมองหน้าแม่ ดูว่าแม่จะอนุญาตหรือไม่ ถ้าเขาเดินเข้าไปใกล้ของเล่น อากัปกิริยาของพ่อแม่เป็นส่วนหนึ่งที่บอกให้เด็กรู้ว่าเขาทำสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่

 

กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่พ่อแม่สอนเด็ก จะช่วยให้เด็กมีจริยธรรม มีความภาคภูมิใจในตัวเอง ถ้าเขาทำสิ่งที่ถูกต้อง แต่ถ้าเขาทำผิด ก็จะมีความละอาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตเป็นคนที่รู้จักผิดชอบชั่วดี

 

นอกจากนี้ แบบอย่างจากพ่อแม่ก็มีผลต่อการซึมซับและเรียนรู้ของเด็กด้วยเช่นกัน ดังนั้น พ่อแม่ต้องคำนึงอยู่ตลอดเวลาว่า ลูกเรียนรู้เรื่องจริยธรรมจากพ่อแม่เต็ม ๆ แล้วก็เรียนรู้ในการใช้ชีวิตประจำวันตลอดเวลาด้วย

 

 

การปลูกฝังจริยธรรมมีส่วนสัมพันธ์กับสมอง 3 ส่วน

 

1. ก้านสมอง

 

เป็นส่วนของการเอาตัวรอด ความอยาก การตอบสนองตามสัญชาตญาณ รวมไปถึงการควบคุมกล้ามเนื้อต่าง ๆ ให้เคลื่อนไหวได้ตามต้องการ เช่น ร้องเมื่อหิว ร้องเพราะป่วย ร้องเพราะปวดหัว หากสมองส่วนนี้ไม่ได้รับการกระตุ้นที่เหมาะสม อาจกลายเป็นการสะสมความอยาก หรือกิเลศของเด็กให้เพิ่มขึ้นได้  เป็นความอยากในสิ่งที่มากกว่าความต้องการพื้นฐาน ถ้าหากพ่อแม่ไม่ให้เหตุผล หรือตอบสนองลูกอย่างง่ายดาย  โอกาสที่จะทำให้เด็กเกิดกิเลสก็จะเพิ่มมากขึ้น

 

 

2.  สมองส่วนกลาง

 

เป็นส่วนที่จดจำ เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ควบคุมอารมณ์ต่าง ๆ เช่น รัก ชอบ โกรธ เกลียด ลูกจะมีอารมณ์อย่างไร ก็อยู่ที่สมองส่วนนี้ ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับการปลูกฝังอารมณ์จากพ่อแม่ ฉะนั้น ถ้าพ่อแม่สอนให้ลูกรู้จักยับยั้งชั่งใจ สอนให้ลูกมีเหตุผล ไม่ใช้อารมณ์ในการตัดสินใจเรื่องราวต่าง ๆ ก็จะทำให้การทำงานของสมองส่วนกลางได้รับการพัฒนา

 

 

3. สมองส่วนบน

 

เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเรื่องคุณธรรมจริยธรรม เป็นการสร้างกระบวนการคิดอย่างมีเหตุผล เข้าใจเหตุปัจจัยต่าง ๆ ถ้าสมองส่วนนี้มีการพัฒนามาตั้งแต่แรกเกิด แม้จะพัฒนาได้ค่อนข้างช้า เพราะต้องใช้เวลาในการสะสมความรู้ความเข้าใจค่อนข้างนาน แต่เป็นส่วนสำคัญที่นำไปสู่การคิดระดับสูง

 

 

ทราบความสำคัญของสมองทั้ง 3 ส่วนนี้แล้ว พ่อแม่ก็ต้องพยายามสั่งสมบ่มเพาะ สร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกมาก่อน แรกเริ่มเด็กทุกคนจะนึกถึงตัวเองก่อนเป็นเรื่องปกติ และคิดว่าสิ่งที่เขาต้องการเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เด็กทุกคนจึงเรียกร้องก่อน ฉะนั้น จึงจำเป็นที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี พอลูกเริ่มเข้าใจมากขึ้นพ่อแม่ก็สามารถช่วยพัฒนาเรื่องจริยธรรมให้เกิดขึ้นได้

 

 

แนวทางการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม

 

 

-  สอนให้ลูกมีสัมพันธภาพที่ดีโดยมีพ่อแม่เป็นแบบอย่าง

 

เริ่มจากเรื่องง่ายๆ สอนลูกตามวัย ให้ได้เรียนรู้เรื่องการอยู่ร่วมกันในสังคม การปรับตัวเข้ากับสังคม การมีสัมพันธภาพที่ดีกับเด็กคนอื่น ค่อย ๆ ปลูกฝังโดยเริ่มจากให้เด็กเห็นแบบอย่างจากพ่อแม่

 

 

-  สอนให้ลูกพึ่งพาตัวเอง

 

ฝึกให้ลูกรู้จักรับผิดชอบตัวเอง ไม่ใช่พ่อแม่ทำให้ทุกเรื่อง อาจต้องสร้างสถานการณ์ให้ลูกฝึกฟันฝ่าอุปสรรค ให้เขาได้เรียนรู้ถึงการได้มาในสิ่งที่ต้องใช้ความพยายามอุตสาหะ เป็นการเรียนรู้คุณค่าที่ได้มา แล้วก็เรียนรู้คุณค่าของตัวเอง ข้อนี้เป็นเหมือนฐานสำคัญที่จะขยับไปสู่การเห็นคุณค่าของผู้อื่น คือ ต้องเริ่มจากการฝึกตัวเอง พึ่งพาตัวเองให้ได้ก่อน

 

 

-  เปิดโอกาสให้ลูกได้พูด ได้แสดงความรู้สึก

 

พ่อแม่ไม่ควรจ้องแต่จะสอนลูกอย่างเดียว แต่ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้พูด กระตุ้นให้ลูก ได้แสดงความรู้สึก เพราะการแสดงความรู้สึกจะนำไปสู่การคิดวิเคราะห์ พ่อแม่ต้องตั้งคำถามถามลูกอยู่เสมอตั้งแต่เล็ก ๆ ถ้าลูกเล็กก็ถามความรู้สึก พอโตขึ้นก็เริ่มถามคำถามที่ซับซ้อนขึ้น ถามความคิดเห็น การแสดงทรรศนะ เป็นต้น เพื่อช่วยให้ลูกได้ฝึกคิด มีวิจารณญาณ

 

 

-  สอนให้ลูกรู้จักละอายแก่ใจเมื่อทำสิ่งไม่ดี

 

เรื่องนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก การทำสิ่งไม่ดีแม้ไม่มีคนเห็น แต่เรารู้อยู่แก่ใจ พ่อแม่ต้องใส่ใจอย่างเต็มที่ ต้องฝึกฝนลูกอย่างสม่ำเสมอ เพราะเป็นการสร้างจิตสำนึก เป็นเรื่องที่ต้องสอนลูกตั้งแต่เล็กว่า ไม่ว่าจะมีคนเห็นหรือไม่ แต่ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่ดีก็ไม่ควรทำ

 

 

-  สอนลูกไม่ให้คุณค่ากับคนโกง

 

สังคมยุคนี้ให้ความสำคัญยกย่องคนเก่ง คนรวย โดยไม่ได้สนใจว่า เขาเก่ง หรือเขารวยมาด้วยวิธีใด เช่น เห็นเพื่อนโกงข้อสอบแล้วไม่มีคนจับได้ ก็จะมีแต่คนชื่นชมว่า เพื่อนคนนี้เจ๋ง ทำแบบนี้ไม่มีใครจับได้เลย กลายเป็นสิ่งที่ได้รับความชื่นชมไป ถือเป็นทรรศนะที่เป็นอันตรายมาก ดังนั้น พ่อแม่ต้องสอนลูกให้คุณค่ากับคนที่ทำความดีไม่ใช่คนที่โกง

 

 

การปลูกฝังให้ลูกมีคุณธรรมจริยธรรมทำได้ตั้งแต่เล็ก ๆ ถ้ารอให้ลูกโตแล้ว การแก้ปัญหาจะยาก กว่าการปลูกฝัง จึงควรค่อย ๆ บ่มเพาะไป เพื่อให้เมล็ดพันธุ์นั้นแตกดอกออกผล

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

 

OTHER