พลิกแฟ้มคดีปวดใจ EP.20 ได้เวลาแบ่งสมบัติทำพินัยกรรม

16 ธันวาคม 2020 146 ครั้ง

พลิกแฟ้มคดีปวดใจ EP.20 ได้เวลาแบ่งสมบัติทำพินัยกรรม

Q : อายุมากแล้วคิดอยากจะแบ่งทรัพย์สินให้กับลูก ๆ ต้องทำอย่างไร

 

A : ทรัพย์สินของเรานั้น เรามีอำนาจเต็มที่ในการที่จะจำหน่ายจ่ายโอน หรือจะมอบให้ใครยังไงก็ได้

 

ในกรณีที่มีอายุมากแล้วอยากจะแบ่งสมบัติให้ลูก ก็ทำได้ ทั้งให้เสร็จ ณ บัดนี้ (ควรเก็บไว้บ้างส่วน) หรือให้เกิดผลหลังจากที่เราเสียชีวิตแล้วก็ได้ โดยทำเป็นพินัยกรรมในกรณีที่เรามีความประสงค์จะแบ่ง เช่น ชิ้นนี้แบ่งให้ลูกคนโต ชิ้นนี้แบ่งให้ลูกคนรอง ก็ควรจะทำพินัยกรรมเอาไว้

 

ส่วนการทำพินัยกรรมนั้น ถ้าแบ่งให้ลูก ๆ ไม่เท่ากันจะไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะว่าถ้าไม่เขียนเป็นพินัยกรรมไว้ ลูก ๆ ก็จะได้ส่วนแบ่งเท่ากัน

 

การที่เราจะแบ่งให้ลูก ๆ ไม่เท่ากัน เนื่องจากเราเข้าใจนิสัยของลูกแต่ละคนดีว่าคนนี้ดูแลทรัพย์สินอะไรได้บ้าง คนนี้สามารถนำเอาทรัพย์สินประเภทไหนไปแล้วก็ทำให้เกิดผลประโยชน์ให้งอกเงยขี้นมาได้ เราก็ทำเป็นพินัยกรรมขึ้นมา แต่ถ้าไม่ทำ ในทางกฎหมายก็จะแบ่งให้เท่า ๆ กัน

 

 

การทำพินัยกรรมจะต้องทำให้ถูกต้องตามแบบ ซึ่งมีหลายแบบด้วยกัน คือ 

 

แบบที่ 1 สามารถเขียนด้วยลายมือตัวเองทั้งฉบับ

 

โดยระบุ วันที่ สถานที่ที่ตัวเองเขียนพินัยกรรม และมีสาระสำคัญว่า เมื่อเจ้าของทรัพย์สิน คือ ตัวผู้ทำพินัยกรรมตายลงแล้ว จะให้จัดการทรัพย์สินที่เป็นมรดกอย่างไร เช่น แบ่งที่ดินแปลงนี้ให้กับนาย ก.- นาย ข. เสร็จแล้วก็เซ็นชื่อโดยที่ไม่ต้องมีพยาน (ถ้าเขียนด้วยลายมือตัวเองไม่ต้องมีพยาน)

 

แล้วสุดท้ายอย่าเขียนเก็บไว้จนหาไม่เจอ หรือควรฝากไว้กับบุคคลที่ไว้ใจได้ เมื่อถึงเวลาก็เอามาเปิดโดยให้จัดการตามวัตถุประสงค์ที่เขียนเอาไว้

 

 

แบบที่ 2 คือ ให้คนอื่นเขียนหรือพิมพ์ให้

 

แล้วมีเงื่อนไขอยู่ว่า เมื่อผู้ทำพินัยกรรมเซ็นชื่อแล้ว ต้องมีพยานอย่างน้อย 2 คนเซ็นชื่อในพินัยกรรมด้วย โดยมีเงื่อนไขเกี่ยวกับผู้เป็นพยาน คือ คนที่เป็นพยานจะต้องไม่มีส่วนได้เสียในพินัยกรรม และต้องบรรลุนิติภาวะแล้ว รวมถึงต้องเป็นคนที่มีสติสมบูรณ์

 

เสร็จแล้วผู้ที่เป็นคนเขียนหรือคนพิมพ์ ต้องระบุชื่อว่าเป็นผู้เขียนหรือผู้พิมพ์ เสร็จแล้วก็เซ็นชื่อลงไปด้วย

 

ผู้เขียนหรือผู้พิมพ์นั้นก็สามารถเป็นพยานได้ คือ พยานอย่างน้อย 2 คน  คนหนึ่งเป็นพยาน อีกคนหนึ่งจะเป็นผู้เขียนหรือผู้พิมพ์ก็ได้ หรือผู้เขียนผู้พิมพ์จะเป็นอีกคนหนึ่งก็ได้ แล้วก็เซ็นชื่อในฐานะผู้เขียนหรือผู้พิมพ์

 

 

ส่วนแบบที่ 3 คือ ไปทำที่อำเภอที่ฝ่ายทะเบียนในกรณีที่อยู่ต่างจังหวัด ส่วนที่อยู่ กทม. ก็ไปทำที่สำนักงานเขต

 

ในกรณีไปทำที่สำนักงานเขต เขาจะเรียกว่า “พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง” ถ้ามีพยานด้วยก็จะต้องพาไป แต่ถ้าไม่มีพยานไป  เขาก็จะมีเจ้าหน้าที่ในสำนักงานนั้นมาเป็นพยานให้ โดยมีการเก็บเงินค่าเป็นพยานด้วย

 

พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองนั้นพอทำเสร็จแล้ว  เราจะขอรับตัวสำเนามา ส่วนตัวต้นฉบับจะอยู่กับสำนักงานเขต และตัวพินัยกรรมจะเกิดผลก็ต่อเมื่อผู้ทำพินัยกรรมเสียชีวิตลง หลังจากนั้นทายาทก็ไปขอรับพินัยกรรมฉบับที่เก็บรักษาไว้ที่สำนักงานเขตได้

 

การที่จะยกทรัพย์สินตัวเองให้ลูกขณะยังมีชีวิตอยู่ จะเสียค่าธรรมเนียมใกล้เคียงกับค่าธรรมเนียมการโอนมรดก และผู้รับจะต้องเสียภาษี

 

ภาษีในที่นี้ ถ้าเกิดเป็นพ่อแม่ให้ลูกไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดจะไม่ต้องเสียภาษี แต่ถ้าจำนวนเกินคือ 50 ล้านบาทขึ้นไปโดยส่วนที่เกินนั้นจะต้องเสียภาษี

 

เมื่อถามว่ากรณีที่พ่อแม่เสียไปแล้ว และไปรับพินัยกรรมมาแล้ว แต่ว่าไม่สามารถแบ่งกันได้ตามพินัยกรรม เพราะมีคนไม่ยอมรับ ในกรณีนี้คือ เวลาผู้ที่จะมอบทรัพย์สินให้กับใคร ไม่ว่าจะมอบในขณะที่มีชีวิตอยู่ หรือมอบเป็นมรดก ต้องคำนึงด้วยว่าผู้รับมีคุณสมบัติที่จะรับด้วยหรือไม่ 

 

เช่น กรณีเป็นอสังหาริมทรัพย์ แม้ผู้รับจะเป็นลูกของตัวเองและตัวเองถือสัญชาติไทย แต่แล้วลูกตัวเองไปถือสัญชาติอื่น  เพราะฉะนั้นคนที่ไม่ได้มีสัญชาติไทยการจะถือครองอสังหาริมทรัพย์ก็ยาก

 

ตัวอย่างกรณีอาคารชุด ต่างชาติจะถือกรรมสิทธิ์ได้ไม่เกิน 49 เปอร์เซ็นของอาคารนั้น  ส่วนที่ดินนั้นจะไม่สามารถถือกรรมสิทธิ์ได้  เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย  ถ้ารัฐมนตรีอนุญาตให้ถือครองอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่ดินถึงจะได้ เพราะฉะนั้นจะต้องคำนึงถึงคุณสมบัติของเขาด้วย

 

การถือครองทรัพย์สินบางอย่างก็ต้องดูว่า เขาสามารถครอบครองได้หรือไม่ เช่น อาวุธปืน ถ้าเขาขาดคุณสมบัติที่จะครอบครองปืนก็ไม่ควรยกให้เขา

 

ถ้าเกิดทำพินัยกรรมเอาไว้แล้ว พอถึงเวลาผู้ทำพินัยกรรมเสียชีวิตลง และได้เปิดพินัยกรรมออกมา ปรากฏว่า คนที่ได้รับไม่พอใจ เพราะอาจจะได้รับน้อย  เขาก็สามารถที่จะสละสิทธิ์ได้ แต่กรณีที่อยากจะได้เพิ่มต้องอยู่ที่ว่า ทายาททุกคนที่มีสิทธิได้รับจะตกลงให้หรือไม่ แต่ถ้าจะไปบังคับว่าอยากได้เพิ่ม ทางกฎหมายไม่ได้อนุญาตให้บังคับได้  ได้เท่าไรก็ได้เท่านั้น

 

เพราะวินาทีที่ผู้ทำเสียชีวิตลงก็จะถือว่าพินัยกรรมมีผลทันที และกรรมสิทธิในทรัพย์เหล่านั้นก็จะตกไปยังผู้รับแล้ว ก็จะเท่ากับว่า เป็นของของเขา

 

ส่วนกรณีที่สละสิทธิ์ไม่ขอรับ ทรัพย์สินส่วนนั้นก็จะกลับไปเป็น “ทรัพย์มรดกนอกในพินัยกรรม” เมื่อไม่ได้อยู่ในพินัยกรรมก็ต้องมาดูว่า ใครมีสิทธิได้รับ ก็คือทายาท 6 อันดับ เริ่มตั้งแต่ พ่อ-แม่-ลูก-พี่-น้องต่าง ๆ ก็แบ่งกันไปตามกฎหมาย

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  อ.ชัยยง อัชฌานนท์ อดีตกรรมการสภาทนายความ และ คุณนฤมล พุกยม 

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ถอดเทปเสียง: เจษฎา สดครั่ง

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

OTHER