ปลดล็อกกับหมอเวช EP.41 ล้มแล้วลุกขึ้นใหม่ให้ดีขึ้น

05 ธันวาคม 2020 93 ครั้ง

ปลดล็อกกับหมอเวช EP.41 ล้มแล้วลุกขึ้นใหม่ให้ดีขึ้น

เป็นเรื่องธรรมชาติ ที่ชีวิตคนเรามักมีขึ้นมีลง มีโอกาสที่จะสะดุด และล้มได้มากกว่า 1 ครั้ง แต่อะไรคือสิ่งที่ทำให้เราลุกขึ้นได้เร็วเวลาที่มีเหตุสะดุดในชีวิต แล้วยังสามารถเรียนรู้และเติบโตได้ดีขึ้นด้วย หาคำตอบได้ใน ปลดล็อกกับหมอเวช EP.41 ล้มแล้วลุกขึ้นใหม่ให้ดีขึ้น

 

ธรรมชาติของวิกฤตเกิดขึ้นได้อย่างไร

 

1. เกิดจากตัวเราสร้างขึ้นเอง เช่น วิกฤตการเงินจากการใช้จ่ายเกินตัว วิกฤตสุขภาพจากการไม่ใส่ใจดูแลตัวเอง หรือวิกฤตความสัมพันธ์จากการไม่ใส่ใจคนรัก คนใกล้ชิด

 

2. เกิดจากปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ และคาดการณ์ล่วงหน้าไม่ได้ เช่น อุบัติเหตุมีรถคันอื่นขับมาชนรถเรา

 

ดังนั้น ในทุก ๆ เรื่องต้องมีการคิดล่วงหน้าเผื่อไว้ หรือที่เรียกว่า การประเมินความเสี่ยง” และควรมีแผนรองรับ เช่น เรื่องการเงิน การดูแลความเสี่ยงที่ดีที่สุดคือ การมีเงินออมไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน ถ้าเป็นในเชิงภาพรวมของชีวิต การใช้ชีวิตโดยไม่ประมาท การเข้าใจ และเรียนรู้สัจธรรมของชีวิต การไม่ยึดติด และผูกพันกับสิ่งต่าง ๆ มากเกินไป ก็จะเป็นการเตรียมตัวให้พร้อมกับการรับเหตุวิกฤต

 

 

ล้มแล้วลุกขึ้นใหม่ให้ดีขึ้นได้อย่างไร **

 

1. คิดทบทวน (Reflect)

 

เราทบทวนอะไรได้บ้างในช่วงเวลาที่เจอวิกฤต เช่น มีเหตุให้ธุรกิจไปต่อไม่ได้ มีเหตุให้ชีวิตไม่สามารถออกไปสังสรรค์ ออกไปท่องเที่ยวได้เหมือนเดิม มีเหตุให้ออกจากงาน หรือทำงานโดยได้รับเงินเดือนน้อยลง

 

คำถามทบทวนข้อแรก คือ “ที่ผ่านมาเราใช้ชีวิตอย่างไร เราเห็นอะไรเป็นบทเรียนในนั้นบ้าง” ซึ่งแน่นอนว่า เราจะเห็นการตัดสินใจต่าง ๆ และวิธีใช้ชีวิตของเราว่ามีจุดอ่อนที่ทำให้วิกฤตครั้งนี้ไปกระทบ แล้วก่อให้เกิดปัญหามากขึ้นเกินความจำเป็น เช่น ก่อหนี้ไว้ในระดับที่หมุนเงินได้แบบไม่มีเงินเหลือสำรอง

 

สิ่งที่น่าทบทวนอันดับสอง คือ “อะไรคือสิ่งสำคัญของชีวิต” การรู้จุดหมาย ความชัดเจนในสิ่งสำคัญของชีวิต เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญทางจิตวิทยาที่ทำให้คนเรามีความเข้มแข็ง

 

สิ่งที่ต้องคิดทบทวนลำดับต่อไป คือ “เรียนรู้ความเข้าใจของความเป็นจริงใหม่” เราต้องถามกับตัวเองว่า ความเป็นจริงใหม่แปลว่าอะไรสำหรับเรา มีนัยยะ มีความหมายอย่างไรสำหรับชีวิต หรือแผนการดำเนินชีวิตของเรา

 

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องและคำถามอีกมากมายที่สามารถนำมาทบทวนได้ เช่น วิธีการบริหารเงิน การดูแลความสัมพันธ์ การใช้ชีวิต การดูแลสุขภาพ ไปจนถึงการพัฒนาทางจิตวิญญาณ การค้นหาความหมายชีวิต เป็นต้น

 

 

2. จินตนาการใหม่ (Reimagine)

 

การจินตนาการในสถานการณ์ที่กำลังยากลำบาก หมายถึง การที่เราสามารถออกจากกรอบความคิดเดิม ๆ ได้ แล้วการจินตนาการจะทำได้ดีขึ้นมาก ถ้าเรามีข้อมูลเพิ่มเติมมากระตุ้นความคิด

 

คนที่จะจินตนาการได้ดีต้องเป็นคนที่สามารถจัดการอารมณ์และความเครียดของตัวเองได้ เพราะเวลาที่ร่างกายมีความเครียด สมองจะทำงานจดจ่ออยู่กับตัวปัญหา ไม่สามารถหลุดกรอบได้

 

ซึ่งวิธีจัดการความเครียดที่ดี คือ การวางเรื่องราวต่าง ๆ ลงชั่วคราว แล้วฝึกศาสตร์ผ่อนคลาย เช่น ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ อยู่ในที่ธรรมชาติ ฟังเพลง แล้วเราจะพบว่า ความคิดของเรามีขอบเขตที่กว้างออกไปได้ง่ายขึ้น

 

โดยในระหว่างการคิดเชิงจินตนาการนี้ อย่ากังวลถึงความถูกผิดหรือความเป็นไปได้ ปล่อยจินตนาการให้ล่องลอยไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วค่อยมาประเมินความเป็นไปได้เทียบกับความเป็นจริง

 

หรือถ้าเรามีความคิดที่เป็นหน่ออ่อน ความคิดดี ๆ ซึ่งยังไม่แน่ใจ ถ้าจะคุยกับคนอื่น อย่าคุยกับคนที่ชอบฆ่าความคิดจินตนาการของเรา แต่ไปคุยกับคนที่ทำให้เราได้อยู่กับความคิด ได้เจาะลึก ได้ตั้งคำถามให้ความคิดเราแตกยอดได้ดีขึ้น เปิดพื้นที่ให้ได้มีความคิดจินตนาการ

 

 

3. การเซตค่าใหม่ (Reset)

 

การตั้งค่าใหม่ของชีวิต เป็นการออกแบบระบบชีวิตใหม่ที่เราต้องการบนพื้นฐานของความเป็นจริงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรายได้ การงาน วิถีชีวิต การเงิน ความสัมพันธ์

 

การตั้งค่าชีวิตใหม่จะทำได้ดีก็ต่อเมื่อ เราตระหนักในแนวโน้มใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้น อย่างในสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ที่หลายคนกำลังประสบอยู่นี้ จากรายงานของ แมคคินซีย์ (Mc Kinsey) ได้นำเสนอข้อมูลไว้ 2 ชุด คือ 1. แนวโน้มใหญ่ 4 เรื่องที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก และ 2. การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในประเทศจีนหลังจากเริ่มเปิดระบบต่าง ๆ ภายในประเทศ

 

 

แนวโน้มใหญ่ 4 เรื่องที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก

 

1. ลูกค้าจะเปลี่ยนความชอบ ความเคยชิน และจะมีการย้ายไปสู่ระบบออนไลน์ แนวโน้มนี้จะยังคงอยู่ แม้โควิดจะหายไป

 

2. ที่ทำงานมีแนวโน้มจะ work from home แม้โควิดจะหายไป

 

3. จะมีแรงกดดันจากปัญหาสงครามการค้า

 

4. ความรู้เกี่ยวกับไวรัสโควิด -19 และวิธีจัดการ ซึ่งยังมีหลายเรื่องมากที่ยังต้องค้นหาเพิ่มเติม เช่น ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นหลังจากติดเชื้อจะเป็นอย่างไร หรือเรื่องวัคซีน

 

 

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในประเทศจีนหลังจากเริ่มเปิดระบบต่าง ๆ ภายในประเทศ

 

1. มีการซื้อของออนไลน์

 

2. มีการทำ Virtual Showroom คือ การทำร้านขายของที่เป็นภาพสมจริง ให้คนสามารถตัดสินใจซื้อของได้ เช่น ไปลองเสื้อผ้าแบบไม่ต้องหยิบมาใส่ เพราะมีโปรแกรมที่ทำให้เราดูได้

 

3. มีระบบ Video Streaming ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อโรงภาพยนตร์ในระดับใดระดับหนึ่ง เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงดิจิทัล

 

4. มีการย้ายฐานผลิตออกจากประเทศจีน

 

5. ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐมากขึ้น

 

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราจะต้องเอาข้อมูลมาตั้งคำถามทบทวน จินตนาการ และออกแบบระบบชีวิตใหม่ที่เราต้องการ เพื่อที่เราจะได้เดินหน้าไปสู่วิถีชีวิตใหม่ที่ควรจะดีขึ้นกว่าเดิม คำว่าดีขึ้นกว่าเดิมไม่ได้แปลว่าต้องมีเงินมากกว่าเดิม แต่อาจหมายถึง ในปี 2 ปีข้างหน้า เรามีเงินน้อยกว่าเดิม แต่เรามีความสุขมากขึ้น มีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น มีความเข้าใจชีวิตมากขึ้น

 

 

นี่คือแผนสำหรับการล้มแล้วลุกขึ้นใหม่ให้ดีขึ้น ซึ่งต้องการความเข้มแข็งภายใน ต้องการจุดหมายที่ชัดเจน ต้องการสายสัมพันธ์ที่เกื้อหนุนให้สามารถลุกได้ดีขึ้น แล้วก็ต้องการหลักคิดที่เป็นระบบ ที่แยกแยะระหว่างสิ่งที่เราจัดการได้ ควบคุม และรับผิดชอบได้ด้วยตัวเอง กับเรื่องที่เราต้องยอมรับ และปล่อยวาง หรือเดินไหลไปกับมัน เพื่อทั้งหมดเราจะได้ล้มแล้วลุกขึ้นใหม่ได้ดีขึ้น

 

 

** อ้างอิงหัวข้อ Reflect, Reimagine, และ Reset จากบทความของ Klaus Schwab ผู้ก่อตั้งและกรรมการบริหารของ World Economic forum ที่ได้พูดถึงประเด็นสำคัญของการแพร่ระบาดโควิด-19 ไว้ว่า “การแพร่ระบาดของไวรัสคราวนี้ เป็นหน้าต่างแห่งโอกาสที่หาได้ยาก และจะมีเพียงช่วงเล็ก ๆ แคบ ๆ สั้น ๆ ในการที่เราจะใช้เป็นโอกาสในการทบทวน (Reflect) จินตนาการใหม่ ๆ (Reimagine) แล้วก็ออกแบบระบบหรือตั้งค่าระบบต่าง ๆ ของโลกของเราใหม่ (Reset)”

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  นพ.ประเวช  ตันติพิวัฒนสกุล

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

OTHER