พลิกแฟ้มคดีปวดใจ EP.14 สามีมาขอแบ่งมรดกที่เราได้รับจากพ่อแม่

26 พฤศจิกายน 2020 96 ครั้ง

พลิกแฟ้มคดีปวดใจ EP.14 สามีมาขอแบ่งมรดกที่เราได้รับจากพ่อแม่

Q : พ่อของหนูเสียชีวิต แล้วหนูได้รับมรดกจากพ่อ แต่สามีของหนูบอกว่าต้องแบ่งให้เขาครึ่งหนึ่ง ควรทำอย่างไรดี

 

A : ทางกฎหมายในกรณีที่สมรสกันแล้ว ปรากฏว่ามีผู้ยกทรัพย์สินให้กับคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือมีการได้รับมรดกมาให้กับคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่เพียงฝ่ายเดียว ต้องดูว่า “ผู้ให้ หรือ เจ้ามรดก” ได้ระบุหรือไม่ว่าที่ให้มาเป็นสินสมรส

 

ถ้าไม่ได้ระบุไว้ ทรัพย์สินที่ได้มาหรือที่ได้มาทางมรดกจะถือว่าเป็น "สินส่วนตัว" เพราะฉะนั้นต้องระบุว่าให้ทั้งคู่ ถึงจะเป็นของคนทั้งคู่ เรียกว่า “สินสมรส” แต่ถ้าไม่ได้ระบุเอาไว้จะเป็นของคนที่ได้รับเท่านั้น

 

ในกรณีนี้เมื่อถามว่าได้มรดกคุณพ่อมา ก็ต้องดูว่าได้ระบุไว้หรือไม่ว่าเป็นสินสมรส ถ้าไม่ได้ระบุก็จะเป็น “สินส่วนตัว” ไม่ต้องแบ่งให้สามีครึ่งหนึ่ง

 

ดังนั้น "สินส่วนตัว" เวลาได้รับมาจากการที่มีคนให้ หรือได้รับจากทางมรดก ถ้าเกิดเป็นทรัพย์สินประเภทมีทะเบียน เช่น บ้าน, ที่ดิน, รถยนต์, อาวุธปืน ในทะเบียนก็จะมีการระบุวันเวลาที่ได้มา ซึ่งเราจะสามารถนำไปเปรียบเทียบกับทะเบียนสมรสได้

 

เมื่อนำไปเปรียบเทียบก็จะสามารถรู้ได้เลยว่า ทรัพย์สินชิ้นนี้ได้มาหลังสมรส และถ้าไม่ได้มีการระบุว่าเป็นสินสมรส ก็จะถือว่าเป็นสินส่วนตัว

 

ส่วนทรัพย์สินประเภทอสังหาริมทรัพย์จะไม่มีหลักฐานทางทะเบียนว่าได้มาเมื่อไร อย่างไร  เพราะฉะนั้นหากได้มาระหว่างสมรสจากการที่มีผู้ยกให้ หรือจากการได้มาทางมรดก จึงต้องพยายามหาหลักฐานว่า ทรัพย์สินชิ้นนั้นเป็นสินส่วนตัว

 

เช่น ได้รับเงินสดเป็นมรดกมา 1 ล้านบาท แล้วนำมาฝากบัญชีธนาคาร หลังจากนั้นเมื่อมีการใช้จ่าย คือ ถอนเงินออกมาใช้แล้ว ก็มีเงินเข้า ๆ ออก ๆ ธนาคารอยู่บ่อย ๆ สุดท้ายจะแยกกันไม่ออกว่าเงินส่วนไหนเป็นเงินมรดก

 

เพราะฉะนั้นในทางกฎหมาย ถ้าเกิดทรัพย์สินของสามีภรรยาไม่สามารถแบ่งแยกได้ชัดเจนว่าเป็นสินเดิมหรือสินสมรส ให้สันนิษฐานว่าเป็นสินสมรส ซึ่งจะทำให้เกิดความยุ่งยาก วิธีการก็คือต้องป้องกันไว้แต่เนิ่น ๆ

 

วิธีการก็คือ จัดระเบียบให้ถูกต้อง  เช่น ถ้าเป็นมรดก เขาจะมีวีธีการจัดการมรดกในกรณีที่มีผู้รับหลายคน จะมีการจัดทำบัญชีแบ่งให้ นาย ก. นาย ข. นาย ค. ได้รับมรดกเท่าไร  แล้วก็จะมีการเซ็นบัญชีกันไว้ ใช้เป็นหลักฐาน เป็นเอกสารเพื่อแสดงว่าผู้รับเหล่านี้ได้รับทรัพย์ชิ้นนี้มาทางมรดก

 

ส่วนอีกวิธีหนึ่งคือ การไปเปิดบัญชีส่วนตัวขึ้นมา และนำเงินจำนวนนี้พักเอาไว้ ซึ่งในบัญชีนี้เองก็จะเกิดความชัดเจนว่า เงินจำนวนนี้ได้มาหลังสมรส จากบัญชีที่เกิดจากการจัดการทรัพย์มรดก และบัญชีที่เกิดจากการเปิดกับธนาคารไว้

 

แล้วหลังจากนั้น ถ้าเกิดนำเงินไปซื้อทรัพย์สิน เช่น ซื้อแหวานเพชรก็ควรทำให้ชัดเจน ถอนเงินล้านบาทนี้ออกไปซื้อแหวนเพชร สมมติว่าในราคา 5 แสน  ควรเขียนลงบัญชีไว้ว่า ไปซื้อแหวนที่ไหน อย่างไร แล้วเก็บใบเสร็จไว้ประกอบด้วยเพื่อเป็นหลักฐาน

 

เงินที่ได้มาทางมรดกนั้น เมื่อนำไปเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินอย่างอื่น ทรัพย์สินก็ยังเป็นส่วนตัวอยู่ และถ้าเงิน 1 ล้านบาท เก็บไว้ในบัญชีเงินฝากธนาคาร และไม่แตะต้องก็จะได้ดอกเบี้ย ซึ่งดอกเบี้ยนั้นจะถือว่าเป็นสินสมรสด้วย

 

และถ้าสมมติว่า นำเงิน 1 ล้านบาทที่ได้มาจากทางมรดกไปซื้อที่ดินที่เป็นไร่สวนทุเรียน ซึ่งจะถือว่าเป็นสินส่วนตัว เมื่อต้นทุเรียนออกลูกออกผล แล้วนำลูกทุเรียนนั้นไปขาย ก็ถือเป็นสินสมรส จะเรียกว่า “ดอกผลที่ได้มาจากสินส่วนตัว ดอกผลก็จะเป็นสินสมรส”  

 

ส่วนอีกกรณีคือ ถ้านำที่ดินไปให้คนเช่า ค่าเช่าก็จะถือเป็นสินสมรสด้วย เท่ากับว่า ทุกกรณีนั้นจะต้องมีการแบ่งกันคนละครึ่ง

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  อ.ชัยยง อัชฌานนท์ อดีตกรรมการสภาทนายความ และ คุณนฤมล พุกยม 

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ถอดเทปเสียง: เจษฎา สดครั่ง

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

OTHER