Love Dose EP.09 เปลี่ยนสังคม เปลี่ยนชีวิต

25 พฤศจิกายน 2020 85 ครั้ง

Love Dose EP.09 เปลี่ยนสังคม เปลี่ยนชีวิต

เมื่อสภาพแวดล้อมที่วนเวียนอยู่มีแต่จะทำให้ชีวิตแย่ลง การก้าวออกมาจากจุดนั้น ด้วยการเปลี่ยนสังคม เปลี่ยนชีวิต จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้นได้อย่างไร หาคำตอบใน Love Dose EP.09 เปลี่ยนสังคม เปลี่ยนชีวิต

 

เรื่องราวในอีพีนี้ เกิดขึ้นจากเรื่องราวดี ๆ ของ “คุณสายป่าน” ที่เคยมีชีวิตวนเวียนกับการใช้สารเสพติด และในที่สุดก็สามารถออกจากวงจรนี้ได้เพราะการมีแฟน จากที่อยู่กรุงเทพฯ ก็ได้ไปอยู่ต่างจังหวัดกับแฟน การพลิกตัวเอง เปลี่ยนสังคม เปลี่ยนสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้คุณสายป่านเลิกข้องเกี่ยวกับยาเสพติดได้อย่างเด็ดขาด และล่าสุดข่าวคราวที่ทราบถึง คือ คุณสายป่านได้ไปเป็นผู้ช่วยในวัดแห่งหนึ่งของจังหวัดทางภาคเหนือ

 

คนใช้ยาเสพติด ถ้ายังอยู่ในวังวนการใช้ยา อยู่ในกลุ่มเพื่อน หรือกลุ่มที่มีการใช้อยู่ตลอดเวลาก็จะยิ่งมีตัวกระตุ้น ทำให้มีความอยากมากขึ้น แต่การก้าวข้ามปัญหาออกมา โดยการเปลี่ยนสังคมก็เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับบุคคลและบริบทของชีวิต

 

การเปลี่ยนสังคม ไม่ใช่การเปลี่ยนในเชิงโครงสร้างอย่างเดียว เช่น การย้ายบ้าน ย้ายโรงเรียน ย้ายงาน หรือต้องออกจากกลุ่มเพื่อนสนิท แต่เราอาจเปลี่ยนแค่กลุ่ม เปลี่ยนความสัมพันธ์ หรือเปลี่ยนรูปแบบการเข้าหาบุคคลอื่น

 

เช่น หลายคนติดแฟชั่น คอลเล็กชันใหม่ต้องมี คำถามคือสิ่งที่คุณต้องมี คุณมีเพื่ออะไร บางคนมีเพื่อใช้ประโยชน์ บางคนมีเพราะชอบ เพราะสะสม แต่บางคนมีเพราะคนอื่นมี นั่นเป็นเพราะคุณอยู่ในกลุ่มคนที่เขามี คุณเลยต้องมี ในทางกลับกันถ้าคุณไปอยู่ในกลุ่มคนที่ไม่มี คุณจะไม่มีก็ได้ ไม่ได้ผิดแปลก ฉะนั้น อยู่ที่การเลือกว่าจะมีปฏิสัมพันธ์อย่างไร

 

เคสคนไข้ที่คุณดินเคยเจอ คือ เลิกยาไม่ได้ เปลี่ยนสังคมไม่ได้ เลิกคบเพื่อนแล้วก็ยังใช้ยาอยู่ดี เมื่อถามว่าใช้กับเพื่อนกลุ่มไหน ก็ทราบว่าเป็นเพื่อนที่คุยกันผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ โดยคนที่เขามักเลือกทักคุยคือ คนที่ใช้รูปสัญลักษณ์ต่าง ๆ บนชื่อ เช่น รูปเครื่องบิน เข็มฉีดยา เกล็ดหิมะ รูปน้ำแข็ง (เป็นสัญลักษณ์ที่คนใช้ยามักขึ้นไว้ที่ชื่อ) คนไข้เองก็ไม่ได้รู้ตัว พอได้มาสังเกตว่าคนส่วนใหญ่ที่เขาทักหาล้วนใช้สัญลักษณ์เหล่านี้ จึงรู้เลยว่าเพราะอะไร นี่คือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า จริง ๆ แล้วเราเลิกยาไม่ได้ หรือเพราะเรายังเดินวนเข้าไปที่เดิม ๆ เอง แม้จะใช้แอปพลิเคชันเดิม แต่เลือกเส้นทางใหม่ ก็สามารถเปลี่ยนสังคมเดิม ๆ ที่เคยอยู่ได้

 

 

ทำไมบางคนไม่เล่นยา แม้คนรอบข้างมาชวนหรือใช้ให้เห็น

 

ในทางจิตวิทยา เรียกว่า “สิ่งยึดเหนี่ยว” คนคนหนึ่งมีสิ่งยึดเหนี่ยวอะไรอยู่ในจิตใจบ้าง อย่างคุณดิน ตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยก็มีเพื่อนที่เล่นยา จนเรียนจบก็มีเพื่อนที่ใช้ แล้วก็ชวน แต่เขาเลือกที่จะปฏิเสธ อาจเพราะตอนเด็ก เห็นญาติที่มีลูกติดยา คนคนเดียวทำให้คนทั้งบ้านทุกข์ไปเลย พ่อแม่ต้องร้องไห้ เขาเลยจำบรรยากาศเหล่านั้น คิดว่าวันหนึ่งถ้าคนที่ทุกข์คือแม่ของตัวเอง จึงเลือกที่จะไม่ข้องเกี่ยวดีกว่า

 

คนทุกคนล้วนมีสิ่งยึดเหนี่ยว ที่แน่ ๆ คือตัวเอง สิ่งยึดเหนี่ยว ไม่ต้องเป็นอะไรที่สูงสุด หรือสะอาดบริสุทธิ์ แต่สิ่งยึดเหนี่ยวคือ เป้าหมายที่คุณจะทำ เช่น ต้องทำงานเพราะต้องหาเงินให้ตัวเอง หรือปลูกต้นไม้ เป้าหมายเพื่อความสบายใจ หรือเพื่อหาเงินให้แม่ คือ ปลูกต้นไม้เหมือนกันแต่เป้าหมายต่างกัน สิ่งเหล่านี้เรียกว่า สิ่งยึดเหนี่ยว

 

นอกจากนี้ ฐานของความรักที่ครอบครัวมีให้ต่อกัน ก็เป็นเกราะป้องกันอย่างดี ที่จะทำให้คนปฏิเสธสิ่งยั่วยุต่าง ๆ ไม่ใช่แค่เรื่องยาเสพติด แต่อาจเป็นเรื่องที่หมิ่นเหม่ต่อศีลธรรม

 

ครอบครัวคนไทยมักสอนเรื่องทางลบ มากกว่าการสอนแบบเชิงบวก เช่น คนติดยา คนเป็นเอดส์จะมีสภาพแบบไหน อย่างไร เป็นการสอนให้กลัว ในขณะที่การสอนเชิงบวก คือ เราจะไปสอนข้อเสียของทุกอย่างในโลกมนุษย์ให้เด็กคนหนึ่งไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่สามารถปลูกฝังได้ คือ ทำอย่างไรให้เขารักตัวเอง ให้เขารักครอบครัว ถ้าเมื่อไหร่ที่เขารักตัวเอง รักครอบครัว อะไรที่มันไม่ดี เขาจะไม่เอาเข้ามาหาตัวเขาแน่นอน

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  เชาวน์พิชาญ เตโช และ อัครเษรต เชวงชินวงศ์

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

OTHER