พลิกแฟ้มคดีปวดใจ EP.08 สามีกู้เงิน แล้วปลอมลายเซ็นภรรยา

05 พฤศจิกายน 2020 2,140 ครั้ง

พลิกแฟ้มคดีปวดใจ EP.08 สามีกู้เงิน แล้วปลอมลายเซ็นภรรยา

Q : สามีไปกู้เงินธนาคารแห่งหนึ่ง และได้นำใบยินยอมของคู่สมรสมาแสดงต่อพนักงาน เวลาผ่านไป ภรรยาพบจดหมายทวงนี้ จึงถามสามี สามียอมรับว่าปลอมลายเซ็น กรณีนี้ภรรยาไม่อยากรับภาระหนี้ด้วย จะทำอย่างไร

 

A : เรื่องของหนี้สิน “นิติกรรม” ที่คู่สมรสไปทำไว้กับบุคคลภายนอกจะผูกพันคู่สมรสอีกคนหนึ่ง ก็จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์

 

หลักเกณฑ์ข้อแรก คือ คู่สมรสฝ่ายที่ไม่ได้เป็นผู้ทำนิติกรรมให้ความยินยอม อย่างกรณีนี้ ฝ่ายผู้ชายเป็นคนไปกู้เงินธนาคาร แล้วเอาใบยินยอมของภรรยาว่า ยินยอมให้สามีไปกู้เงินธนาคารได้ ถ้าใบยินยอมเป็นของจริง ก็ถือว่าเป็นหนี้สินที่เกิดขึ้นโดยผูกพันกับผู้เป็นภรรยาให้ความยินยอมด้วย

 

อีกกรณีหนึ่ง คือ การไปก่อหนี้สร้างสินเพื่อประโยชน์ของครอบครัว ไม่จำเป็นต้องได้รับการยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งจะเป็นการผูกพันไปในตัว คำว่าผูกพันในที่นี้ คือ ในที่สุดแล้วหนี้สินรายนี้ ถ้าเกิดเป็นหนี้เสียขึ้นมา เจ้าหนี้เวลาเขามาติดตาม เขาสามารถไปบังคับเอาได้จากสินสมรส

 

แต่ถ้าคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งที่ไม่ได้เป็นคนไปทำนิติกรรม เขาไม่ได้ให้การยินยอม ความผูกพันของภาระการชดใช้หนี้ จะผูกพันเฉพาะสินสมรสในส่วนที่เขาจะต้องไปบังคับเอาจากสินส่วนตัวของลูกหนี้ก่อน (คนที่ไปกู้)

 

ถ้าบังคับจากสินส่วนตัวแล้วไม่พอ ค่อยไปบังคับเอาจากสินสมรส ซึ่งได้เพียงครึ่งเดียว

 

ตัวอย่างเช่น ถ้าภรรยาให้ความยินยอมโดยถูกต้อง ก็จะต้องรับผิดชอบด้วย ถือว่าเป็นการผูกพันโดยสินสมรส แต่ถ้าภรรยาไม่ได้ให้การยินยอม อย่างกรณีนี้ สามีเซ็นปลอมเอง ก็เท่ากับว่าไม่ได้ผูกพันในหนี้สิน

 

ผู้กู้ คือ สามี ก็จะต้องรับผิดชอบเต็มจำนวน รับผิดชอบสินส่วนตัว แล้วก็ในสินสมรสครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งที่เป็นของภรรยาที่เขาไม่ได้รู้เห็นด้วย ก็ต้องคืนเขาไป    

 

วิธีแก้ไขอันดับแรก ต้องศึกษาว่า หนี้สินรายนี้จะสามารถชดใช้ให้กับเจ้าหนี้ได้หรือไม่ ถ้าไม่สามารถชดใช้หนี้ให้ได้ เมื่อกู้มาแล้วไม่เคยชดใช้หนี้เลย และดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น ก็จะต้องแจ้งให้กับเจ้าหนี้ (ธนาคาร) ให้รับรู้ว่า ไม่ได้รู้เห็นด้วยกับการกู้เงิน

 

ส่วนกรณีที่มีหนี้สินมากมายจนไม่สามารถชดใช้ได้ สามารถทำให้ล้มละลายได้หรือไม่นั้น

 

คำว่า “ล้มละลาย” อันดับแรก คือ มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน (เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว) แล้วก็บุคคลธรรมดาต้องมีจำนวนหนี้ไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท ส่วนถ้าเป็นนิติบุคคลต้องมีหนี้ไม่น้อยกว่าสองล้านบาท ซึ่งเจ้าหนี้สามารถไปฟ้องคดีให้ลูกหนี้รายนี้เป็นบุคคลล้มละลายได้

 

อีกกรณีหนึ่งคือการที่ลูกหนี้ไปยื่นให้ตัวเอง นั่นคือ เป็นการฟื้นฟูกิจการบริษัท อันดับแรก คือ ธุรกิจของเขามีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน แต่ว่ากิจการของเขามีโอกาสที่จะฟื้นได้เพราะถ้าปล่อยให้ล้มลายจะมีความเสียหายมากกว่า คือ

 

1. เจ้าหนี้ไม่ได้รับการชำระหนี้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

 

2. ทำให้บุคคลที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ตัวลูกหนี้เอง ลูกจ้างของลูกหนี้ และบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหลายลำบากไปด้วย ถ้าเกิดลูกหนี้ล้มละลายไป

 

เพราะฉะนั้น ก็เปิดให้ลูกหนี้ที่จะสามารถฟื้นฟูกิจการของตัวเองได้ โดยการทำแผนเสนอขึ้นไป

 

ซึ่งอันดับแรกต้องร้องกับศาลก่อนว่า ประสบปัญหาอย่างไร ถ้าแผนสามารถที่จะฟื้นธุรกิจได้ศาลจะมีการไต่สวนแล้วเห็นชอบด้วยว่าแผนธุรกิจจะไปต่ออย่างไร และจะต้องมีการเสนอต่อเจ้าหนี้ด้วย

 

ซึ่งเจ้าหนี้ก็มีสิทธิร่วมพิจารณาด้วยว่า ที่ลูกหนี้เสนอแผนมาเป็นไปได้หรือไม่ ถ้าศาลเห็นชอบ เจ้าหนี้เห็นชอบ ก็จะมีการตั้งผู้บริหารแผน แล้วก็จะมีการบริหารกิจการต่อไป

 

ดังนั้น ในแผนที่เสนอมาก็ต้องมาดูว่า มีเจ้าหนี้ทั้งหมดกี่ราย ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง แล้วมีจำนวนหนี้เท่าไร และจะใช้หนี้อย่างไร

 

ในขณะเดียวกัน เขาจะมีวิธีหาเงินอย่างไรมาใช้หนี้ว่าธุรกิจของเขามีโอกาสฟื้น มีลูกค้าที่จะสั่งออเดอร์เข้ามาแล้วทำให้ธุรกิจสามารถเติบโตไปต่อได้ แต่ในขณะนี้ยังขาดสภาพคล่อง ก็จะทำให้สามารถทำธุรกิจต่อไปได้

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  อ.ชัยยง อัชฌานนท์ อดีตกรรมการสภาทนายความ และ คุณนฤมล พุกยม 

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ถอดเทปเสียง: เจษฎา สดครั่ง

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

OTHER