ปลดล็อกกับหมอเวช EP.33 โกรธอย่างไรไม่ต้องรู้สึกผิด

10 ตุลาคม 2020 121 ครั้ง

ปลดล็อกกับหมอเวช EP.33 โกรธอย่างไรไม่ต้องรู้สึกผิด

“ทำไมเวลาโกรธถึงต้องรู้สึกผิด?” มาทำความเข้าใจกับธรรมชาติของอารมณ์โกรธ พร้อมไขข้อสงสัยในประเด็นนี้และแนวทางในการจัดการเพื่อไม่ให้รู้สึกผิดเมื่อโกรธ ได้ใน ปลดล็อกกับหมอเวช EP.33 โกรธอย่างไรไม่ต้องรู้สึกผิด

 

ธรรมชาติของอารมณ์โกรธ

 

ความโกรธ เป็นตัวเชื่อมระหว่างการประเมินถึงสิ่งที่มาคุกคาม มาล้ำเส้น มาเป็นอันตราย กับการปลุกพลังงานภายในตัวเราเพื่อใช้ในการต่อสู้เพื่อปกป้อง

 

ฉะนั้นถ้าทำความเข้าใจความโกรธให้ดี จะเป็นประตูสู่ความเข้าใจในโลกที่อยู่ภายในใจเรา โดยทั่วไปเวลาโกรธมักเป็นเพราะมีใครมาทำอะไรบางอย่างให้เจ็บ ผิดหวัง มาล้ำเส้น หรือเอาเปรียบ

กลไกของความโกรธจึงมีประโยชน์ในการเป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ละคนโกรธง่าย โกรธยาก ไม่เท่ากัน

 

 

โกรธแล้วไม่ดีอย่างไร

 

คนไทยคุ้นกับคำว่า “โกรธคือโง่ โมโหคือบ้า” เวลาที่ความโกรธเป็นสิ่งไม่ดี เราก็ไม่อยากให้ตัวเองโกรธ แต่เวลาที่ไม่อยากให้ตัวเองโกรธ มันมีผลต่อกระบวนการภายในใจที่จะจัดการกับความโกรธ

 

ความโกรธ โดยเฉพาะความโกรธเรื้อรัง หงุดหงิด ขุ่นเคือง สัมพันธ์กันกับโรคหัวใจ และโรคอื่น ๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะปวดหัวแบบตื้อ ๆ ปวดแบบไมเกรนข้างเดียว ปวดท้อง ปวดโรคกระเพาะ ประจำเดือนรวน ทั้งหมดนี้สัมพันธ์กับอารมณ์โกรธที่ไม่สามารถจัดการได้อย่างเหมาะสม

 

จะจัดการความโกรธได้ เราต้องเรียนรู้ที่จะเห็นความโกรธของตัวเองได้ทันและลึกซึ้ง แทนที่จะรีบบอกว่า “ไม่ดี” ต้องบอกว่า “มาแล้วเหรอ เกิดอะไรขึ้น”

 

 

อะไรที่ทำให้เวลาโกรธแล้วรู้สึกผิด

 

กลไกที่ 1 กลไกของความรู้สึกผิด

 

เราตัดสินความโกรธว่าเป็นสิ่งไม่ดี ดังนั้น กลไกของความรู้สึกผิดก็เกิดตั้งแต่เรารู้ตัวว่าโกรธ เราเลยรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง เพราะเราผูกอารมณ์ของเราเข้ากับตัวตนของเรา โกรธเป็นสิ่งไม่ดี ฉันโกรธ ฉันจึงเป็นสิ่งไม่ดี ทั้ง ๆ ที่บางทีมันมีเรื่องให้เราต้องโกรธ

 

สิ่งเหล่านี้เป็นหลุมพรางในการจัดการอารมณ์โกรธที่พบบ่อย โดยเฉพาะในคนที่มีจิตใจดี คือเราตัดสินอารมณ์โกรธ แล้วมาตัดสินตัวเอง เราเลยรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง

 

 

กลไกที่ 2 จัดการอารมณ์โกรธไม่เป็น

 

เช่น บางครั้งเราโกรธ แล้วเราก็ระเบิด หรือบางทีก็เก็บไว้กับตัวเอง ทำให้รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง เหมือนกับว่าจัดการไม่ได้สักที เราไม่ชอบความโกรธ แต่จะเก็บอยู่ในใจก็ไม่ได้ จะปล่อยออกไปก็ไม่ได้ เลยเป็นความรู้สึกอึดอัด

 

 

กลไกที่ 3 มีผลกระทบต่อผู้อื่น เกิดปัญหาตามมา

 

เมื่อแสดงความโกรธออกไป ทำให้มีผลกระทบต่อผู้อื่น ก่อให้เกิดปัญหาบางอย่างตามมา เช่น ทำให้เสียสมรรถภาพ ทำให้เขาไม่พอใจแล้วไปก่อเรื่องราว หรือเกิดความขัดแย้งแล้วสร้างปัญหาตามมา เมื่อเกิดผลตรงนี้จึงทำให้เรารู้สึกผิด จริง ๆ แล้ว ไม่ใช่รู้สึกผิดอย่างเดียว แต่มีความกังวลใจ เสียใจปนอยู่ และยังตามมาด้วยความรู้สึกเศร้าได้ด้วย

 

คนซึมเศร้ามักมีปัญหาการจัดการอารมณ์โกรธ เช่น มักแคร์ความรู้สึกของคนอื่น ขณะเดียวกันความซึมเศร้าก็เป็นแรงกดดันทำให้เครียดและควบคุมอารมณ์ได้น้อยลง ทำให้แสดงท่าทีและอารมณ์หลุดออกเป็นพัก ๆ พอหลุดออกไปก็ย้อนกลับมารู้สึกผิด แล้วก็ว่าตัวเอง แล้วก็ตัดสินตัวเอง มองตัวเองไม่ดี

 

จากนั้นยังก่อให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์ คนซึมเศร้าจำนวนไม่น้อยมักอ่อนไหวกับความสัมพันธ์มาก กลัวคนปฏิเสธ กลัวคนไม่ชอบ กลัวคนเกลียด กลัวคนไม่ยอมรับ

 

กลไกตัวนี้จึงหมายถึงว่า คนซึมเศร้าเป็นผลลัพธ์ของการจัดการความโกรธผิดวิธี ดังนั้นหนึ่งในวิธีการช่วยเหลือคือ ต้องให้เขาเข้าใจอารมณ์ของเขา และเรียนรู้วิธีการจัดการความโกรธให้เป็น

 

 

 

โกรธแบบไม่รู้สึกผิดทำได้อย่างไร

 

1. ต้องเชื่อก่อนว่า คุณมีสิทธิโกรธได้

 

ถ้าคุณโกรธแล้วไม่ต้องรู้สึกผิด ให้ฝึกยอมรับความโกรธของตัวเอง มองความโกรธใหม่ อย่าเพิ่งมองว่าเป็นสิ่งไม่ดีอย่างเดียว แต่มองว่าเป็นสัญญาณบอกสิ่งที่เกิดขึ้นภายในใจเรา ซึ่งเราสามารถสำรวจเพื่อทำความเข้าใจให้ดีขึ้น

 

ถ้าทำเองไม่เป็นต้องหาคนช่วย แต่ถ้าอยากทำเอง ให้ลองเขียนบันทึกสำรวจใจตัวเอง อย่าเพิ่งไปติดที่ตัวอารมณ์ ถามดูว่าตอนนั้นเราคิดอะไรอยู่ เราคาดหวังอะไร

 

 

2. เรียนรู้ที่จะแสดงความโกรธให้เป็น

 

ประโยชน์ของความโกรธ คือ เป็นการปกป้องพื้นที่ของเรา ปกป้องตัวเรา เรามีสิทธิแสดงอารมณ์โกรธ ความไม่พอใจได้อย่างเหมาะสม คือใช้เทคนิคการสื่อสารที่จะบอกให้รู้ว่าเรารู้สึกอย่างไร โดยที่ไม่ต้องระเบิดอารมณ์ออกไป ทักษะนี้คนที่ฝึกรับรู้อารมณ์ดีและสื่อสารได้ดีจะเป็นประโยชน์มากในตอนที่ปกป้องสิทธิของตัวเอง

 

 

3. รู้จักใช้ไม้แข็งไม้อ่อน

 

เป็นเรื่องจำเป็นที่เราจะต้องรู้จักการใช้ไม้แข็ง ไม้อ่อน เพราะคนแต่ละประเภท คนในความสัมพันธ์รอบข้างของเรา แต่ละคนต้องการวิธีจัดการไม่เหมือนกัน ถ้ามีทั้งไม้แข็ง ไม้อ่อน เราจะยืดหยุ่นมากขึ้นในการจัดการกับอารมณ์โกรธของตัวเอง และจัดการกับความสัมพันธ์ที่เรามีกับคนอื่น

 

สรุปได้ว่า ถ้าเราโกรธถูกคน ถูกที่ ถูกเวลา และมีเวลา มีวิธีแสดงออกอย่างเหมาะสม นั่นเป็นเรื่องที่ดี ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย เรามีสิทธิโกรธเพราะมันเป็นธรรมชาติหนึ่งของตัวเรา แต่อย่าละเลยการพัฒนาตัวเอง เพราะเราจะมีความสุขมากขึ้น ถ้าเราจัดการอารมณ์โกรธของเราได้ดีขึ้น

 

วิธีจัดการความโกรธที่ดีที่สุดในคำสอนทางพุทธ คือ ให้ใช้ความเมตตา โกรธคนอื่นให้เมตตาคนอื่น โกรธตัวเองให้เมตตาตัวเอง เมื่อเราพัฒนาใจของเราไปเรื่อย ๆ เราจะเข้าใจความเมตตาได้ง่ายขึ้น

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  นพ.ประเวช  ตันติพิวัฒนสกุล

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

OTHER