On the Way Home EP.31 Zen Story นิทานธรรมสะกิดใจ 1

25 กันยายน 2020 99 ครั้ง

On the Way Home EP.31 Zen Story นิทานธรรมสะกิดใจ 1

วันนี้มีเรื่องสนุก ๆ จากหนังสือ “Zen Story นิทานธรรมสะกิดใจ” มาเล่าให้ฟังค่ะ จากหนังสือที่รวบรวม 25 เรื่องเล่า พลิกมุมคิดให้ชีวิตเป็นเรื่องง่าย ๆ โดยชุติปัญโญ นามปากกาของพระมหาวีระพันธ์ ชุติปัญโญ จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ

 

ระวังความโลภเล่นงาน

 

เรื่องนี้เป็นเรื่องของช่างกุญแจชราคนหนึ่ง ที่มีความชำนาญในเรื่องของกุญแจมาก ไม่ว่าจะเป็นการสร้างระบบกุญแจ การไขกุญแจที่ล็อกเอาไว้ แม้แต่การเปิดตู้นิรภัยก็ถือว่าเป็นงานที่สบาย มากสำหรับเขา ที่สำคัญช่างกุญแจคนนี้เป็นคนที่มีคุณธรรมสูงในการรับงาน

 

ต่อมาได้รับลูกศิษย์มาอยู่ด้วย 2 คน ลูกศิษย์ทั้งสองต่างก็หมายมั่นปั้นมือว่าจะเป็นผู้ที่รับมรดกการเป็นช่างกุญแจที่เก่งเหมือนกับอาจารย์ของตน

 

ศิษย์ทั้งสองเรียนรู้และดูแลอาจารย์ด้วยความเอาใจใส่เสมอมา จนกระทั่งมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องกุญแจในทุกด้าน ฝ่ายอาจารย์ก็ต้องการหาผู้มาสืบทอดวิชา และเมื่อเห็นว่าทุกอย่างเหมาะสม ชายชราจึงเรียกลูกศิษย์ทั้งสองมาพบ และบอกวัตถุประสงค์ที่จะให้ทั้งคู่เป็นผู้สืบทอดวิชาสำคัญนี้โดยกล่าวกับลูกศิษย์ว่า

 

“ถึงเวลาที่อาจารย์จะวางมือแล้วนะ คงจะต้องให้พวกเธอสืบทอดวิชานี้ต่อไป และจะมีการทดสอบความสามารถ หากใครปฏิบัติตามที่อาจารย์เคยสอนไว้ได้ดีที่สุด อาจารย์ก็จะสอนสุดยอดวิชาช่างกุญแจขั้นสุดท้ายให้ แล้วจะให้คนคนนั้นสืบทอดหน้าที่สำคัญแทน”

 

ศิษย์พี่ก็ถามว่า “อาจารย์จะทดสอบอย่างไรครับ”

 

ศิษย์น้องก็นั่งฟังด้วยความตั้งอกตั้งใจ

 

อาจารย์บอกว่า “ปัญหามีอยู่ว่า มีตู้นิรภัยอยู่ 2 ใบในห้องที่เตรียมไว้ 2 ห้อง ให้พวกเธอไปอยู่คนละห้อง หากใครสามารถเปิดตู้นิรภัยได้ก่อน คนนั้นก็จะเป็นผู้ชนะการแข่งขันในด่านแรก”

 

เมื่อได้รับสัญญาณเริ่มการประลองวิชา ศิษย์ทั้งสองก็เข้าประจำที่ในห้องที่อาจารย์ได้กำหนดให้ โดยมีคนมาร่วมเป็นสักขีพยานจำนวนมาก ศิษย์พี่อยู่ห้องที่ 1 ศิษย์น้องอยู่ห้องที่ 2

 

เวลาผ่านไปเพียง 10 นาที ศิษย์พี่ก็เดินออกมาจากห้อง แล้วบอกกับอาจารย์ว่าเสร็จแล้ว เปิดตู้นิรภัยได้แล้ว ส่วนศิษย์น้องใช้เวลาเกือบ 2 เท่าของศิษย์ผู้พี่จึงเปิดตู้ได้สำเร็จ

 

บรรดากองเชียร์ต่างก็คิดว่าตำแหน่งช่างกุญแจเห็นทีจะตกเป็นของศิษย์ผู้พี่แน่นอนแล้ว

 

เมื่อทั้งสองทำหน้าที่ของตนเรียบร้อย อาจารย์ก็เรียกให้มารวมตัวกันแล้วบอกว่า “เอาล่ะ ในการไขกุญแจตู้นิรภัยนั้น เห็นได้ชัดว่า ลูกศิษย์คนแรกทำเวลาได้เร็วกว่า แต่อาจารย์ยังต้องทดสอบอีกข้อหนึ่ง จึงจะสามารถมอบตำแหน่งอันสำคัญนี้ให้ได้”

 

“อะไรอีกเหรอครับอาจารย์ ท่านบอกมาได้เลย” ศิษย์พี่รีบบอกด้วยความกระตือรือร้น มั่นใจว่าตัวเองน่าจะได้รับเคล็บลับสุดยอดวิชาแห่งช่างกุญแจแน่ ๆ

“ถ้าเช่นนั้น ข้าขอถามคำถามเดียวกันกับเธอทั้งคู่ว่า เมื่อไขกุญแจได้แล้ว แต่ละคนมองเห็นอะไรบ้าง”

 

เมื่อถูกถามเช่นนี้ ศิษย์พี่ขอตอบก่อนว่า “ท่านอาจารย์ครับ ตอนที่ผมเปิดตู้นิรภัยออกมาได้ สิ่งที่เห็นตรงหน้า มันคือเงินจำนวนมหาศาลครับ เงินที่ผมคิดว่าชีวิตนี้คงไม่สามารถจะหาเงินได้มากขนาดนี้ ผมรู้สึกตื่นเต้นมากที่เปิดตู้ออกได้ แล้วก็เห็นเงินเหล่านั้นครับ”

 

หลังจากรับฟังคำตอบของลูกศิษย์คนแรกจบลง ศิษย์คนที่สองก็ขออนุญาตรายงานผลงานของตัวเองให้อาจารย์ฟังบ้าง ซึ่งเขาได้อธิบายวิธีการของตัวเองว่า “เหตุที่ผมเปิดตู้นิรภัยได้ช้า เพราะในขณะที่ผมเปิด ผมศึกษากุญแจนั้นไปด้วยว่ามันมีระบบการทำงานอย่างไร ใช้วัสดุคุณภาพดีแค่ไหน ทำให้ผมได้เข้าใจการทำงานของตู้นิรภัยนั้นอย่างแจ่มแจ้งครับ แล้วก็รู้ถึงคุณค่าของกุญแจที่ใช้เปิดนั้นด้วย”

 

“แล้วเธอเห็นอะไรในตู้นั้นบ้าง”

 

“ผมไม่เห็นอะไรเลย นอกจากเห็นว่าประตูตู้นิรภัยถูกเปิดออกแล้ว เพราะผมเข้าใจว่าหน้าที่ของผมก็คือการเปิดตู้ให้ได้ ไม่ใช่การดูว่าข้างในตู้มีอะไร เพราะนั่นไม่ใช่หน้าที่หลักของผม หากผมเปิดตู้แล้วเห็นสิ่งของที่มีค่า อาจจะทำให้เกิดความโลภขึ้นมาได้ ซึ่งไม่ได้ส่งผลดีต่อการทำหน้าที่ช่างกุญแจของผมเลย”

 

อาจารย์ได้ฟังคำตอบของศิษย์ทั้งสองเรียบร้อย ก็ประกาศผลการทดสอบให้ศิษย์ทั้งคู่ รวมไปถึงกองเชียร์ทุก ๆ คนที่มาเฝ้าดูว่า

 

“เอาล่ะ ข้าได้คนที่จะสืบทอดเคล็ดลับวิชาช่างกุญแจแล้ว คนผู้นั้นก็คือ ศิษย์คนน้อง”

 

เมื่อคำประกาศสิ้นสุดลง หลายคนในที่ประชุมต่างก็ส่งเสียงฮือฮาด้วยความประหลาดใจ เพราะว่าพวกเขาต่างคิดว่าคนที่เปิดตู้นิรภัยได้เร็วที่สุดคือผู้ชนะ แต่อาจารย์กลับประกาศสวนทางกับสิ่งที่ทุกคนคาดหวัง

 

ศิษย์คนโตก็รู้สึกเช่นนั้นด้วย เลยถามอาจารย์ว่า “ท่านอาจารย์ขอรับ ทำไมผลการตัดสินถึงเป็นไปได้แบบนี้ขอรับ”

 

เพื่อคลายข้อสงสัยให้กับศิษย์ทั้งสองและเหล่ากองเชียร์ อาจารย์บอกว่า

 

“เหตุที่ข้ายกตำแหน่งผู้สืบทอดให้กับศิษย์ผู้น้อง เพราะว่าเขามีความละเอียด มีความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในวิชาที่เกี่ยวกับกุญแจ เขาไม่ได้ใช้แค่ความเร็วในการเปิดตู้อย่างเดียว และที่สำคัญเขาได้ทำในสิ่งที่สำคัญมาก คือ เมื่อเปิดตู้แล้ว เขาหยุดหน้าที่อยู่แค่การเปิดตู้เท่านั้น เขาไม่ได้มีความคิดที่จะมองสิ่งที่อยู่ข้างใน

 

เพราะเมื่อใดที่ต้องเปิดตู้ให้กับคนอื่น แล้วมีความรู้สึกพึงพอใจที่จะเห็นสมบัติที่คนอื่นมีอยู่ จิตก็จะเกิดความโลภ อันจะทำให้หลงเผลอใจ เป็นเหตุให้บางครั้งอาจใช้วิชาชำนาญด้านกุญแจนี้ไปในทางที่ผิด จากวิชาที่เป็นคุณก็อาจจะกลายเป็นสิ่งที่ก่อโทษได้ในทันที”

 

พอฟังคำชี้แจงจบลง ทุกคนก็เข้าใจในคำตัดสินและเจตนาแห่งความเป็นช่างกุญแจ ส่วนศิษย์พี่นั้นก็ยิ่งเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า ตัวเองยังเข้าไม่ถึงศิลปะของนายช่างกุญแจอย่างที่คิดไว้ ก็บอกกับอาจารย์ว่า “ท่านอาจารย์ครับ ผมขอโทษที่ยังไม่สามารถควบคุมจิตใจได้ ผมคงต้องอยู่ฝึกวิชากับอาจารย์ไปอีกนานเลย”

 

อาจารย์มองหน้าลูกศิษย์ทั้งสองด้วยความเมตตาและให้โอวาทแก่พวกเขาว่า

 

“เธอทั้งสองจงจำไว้ให้ดี หน้าที่สำคัญของการเข้าถึงความเป็นช่างกุญแจก็คือ จะต้องไม่ให้ความโลภเข้าครอบงำเรา หากพวกเธอสามารถเอาชนะความโลภได้ ชีวิตก็จะมีความสุข ไม่ว่าต่อวิชาชีพที่ได้ร่ำเรียนมา หรือต่อการใช้ชีวิตที่พวกเธอต้องเรียนรู้และต้องต่อสู้กับปัญหาต่าง ๆ ที่รออยู่

 

เพราะความโลภที่เกิดขึ้นในใจของเราจะคอยบีบคั้นให้เราต้องทำความผิดหลาย ๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด แต่ความพอใจตามความพอดีจะช่วยให้เรารู้จักแยกแยะว่าอะไรควร อะไรไม่ควร แล้วเราก็จะเป็นผู้ได้รับสิ่งที่ควรค่าตามความพอดี โดยมีความดีงามมาคอยประดับชีวิตของเราให้ทรงคุณค่าไม่เสื่อมคลาย”

 

 

--------------------------------------------------------------

 

 

สลับขั้วความคิด

 

หญิงสูงวัยคนหนึ่งมีลูกสาว 2 คน ต่อมาลูกสาวทั้งสองได้แต่งงานและแยกบ้านสร้างครอบครัวของตัวเอง ลูกสาวคนโตและสามีมีอาชีพเป็นช่างทำรองเท้า ส่วนลูกสาวคนเล็กและสามีมีอาชีพทำร่มขาย

 

หลังจากที่ลูกสาวแต่งงานออกเรือนไปแล้ว ทุก ๆ วัน ผู้เป็นแม่จะนั่งร้องไห้เพราะคิดถึงลูกทั้งสองเหมือนใจจะขาด

 

อยู่มาวันหนึ่ง หลวงพ่อที่หญิงผู้นี้เคารพสังเกตเห็นว่าเธอเอาแต่นั่งร้องไห้ทุกวัน เมื่อได้จังหวะเหมาะท่านเลยถามถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นว่า

 

“โยม ทำไมถึงร้องไห้ได้ทุกวันเล่า มีเรื่องทุกข์ร้อนอะไรกัน”

 

หญิงผู้นี้ก็เล่าให้ฟังว่า

 

“ก็ตั้งแต่ลูกสาวทั้งสองของอิฉันออกเรือนไป อิฉันก็ร้องไห้ทุกวันแหละค่ะ เพราะคิดถึงลูก กลัวว่าพวกเขาจะลำบาก อย่างในวันที่ฝนตก อิฉันก็จะร้องไห้เพราะสงสารลูกสาวที่ขายรองเท้า เพราะเมื่อฝนตกโอกาสที่จะขายรองเท้าแล้วได้กำไรก็จะน้อยลง ลูกอิฉันคงจะลำบากแน่นอน

 

ส่วนในวันที่ฝนไม่ตก อิฉันก็ร้องไห้อีก เพราะสงสารลูกสาวคนเล็กที่ทำร่มขาย เพราะเมื่อฝนไม่ตกคนที่ไหนจะไปใช้ร่มล่ะคะ เป็นเหตุให้ขายร่มไม่ได้ ซึ่งก็จะทำให้ครอบครัวพลอยลำบากไปด้วย นี่แหละค่ะความทุกข์ของอิฉัน”

 

พอหลวงพ่อได้ฟังเรื่องราวจบลง ท่านก็ยิ้มอย่างนึกขำกับวิธีคิดของเธอ ท่านเลยให้ข้อคิดกับหญิงผู้นี้ว่า

 

“ก็ไม่เห็นจะยากอะไรนี่โยม โยมก็เปลี่ยนวิธีคิดและเปลี่ยนมุมมองซะใหม่สิ เอาอย่างนี้นะ คิดอย่างนี้แทน ในวันที่ฝนตก แต่ก่อนเคยคิดถึงลูกสาวที่ขายรองเท้า ก็ให้เปลี่ยนมาคิดถึงลูกสาวคนที่ขายร่มแทน ว่าวันนี้เขาคงจะขายดีเพราะว่าฝนตก

 

ส่วนในวันที่ฝนไม่ตก จากที่เคยคิดถึงลูกสาวคนขายร่ม โยมก็เปลี่ยนมาคิดถึงลูกสาวคนที่ทำรองเท้าขายสิ ว่าวันนี้เขาคงจะขายรองเท้าได้ดี เมื่อสลับความคิดและมุมมองเช่นนี้ โยมก็จะเห็นสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นกับชีวิตของลูกสาวทั้งสองคน และด้วยวิธีคิดเช่นนี้ ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร ความสุขก็จะเกิดขึ้นแก่โยมได้ทุกเมื่อล่ะ”

 

พอได้ฟังคำสอนจากหลวงพ่อที่ตนศรัทธาและไตร่ตรองด้วยสติ เธอก็อมยิ้มเหมือนคนที่หาทางออกเจอ

 

“ขอบพระคุณหลวงพ่อมากเจ้าค่ะ ทำไมเรื่องเล็กน้อยแค่นี้ อิฉันถึงกับมืดบอดได้ ทั้งที่มันก็เป็นกรณีเดียวกัน แค่เปลี่ยนความคิดใหม่ เปลี่ยนวิธีมองเรื่องที่เกิดขึ้นใหม่ ก็จะสลับขั้วความยุ่งยาก ให้กลายเป็นเรื่องง่าย ๆ ได้”

 

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ไม่ว่าวันฝนตกหรือว่าวันไม่มีฝน หญิงผู้นี้ที่ผ่านการสร้างมุมมองใหม่ให้กับตัวเองก็สามารถมีความสุขโดยการคิดถึงลูกสาวทั้งสองคน ซึ่งทำให้เธอมีรอยยิ้มอยู่บนใบหน้าเสมอ วันฝนตกก็ดีใจกับลูกสาวขายร่ม วันแดดออกก็ดีใจกับลูกสาวขายรองเท้า

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  รัศมี มณีนิล

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

 

OTHER