Love Dose EP.05 วงการนี้ เล่น แล้วออกยาก

16 กันยายน 2020 84 ครั้ง

Love Dose EP.05 วงการนี้ เล่น แล้วออกยาก

ยาเสพติดน่ะ แค่ใช้เป็นครั้งคราว ไม่ได้ติด ไม่ใช้ก็อยู่ได้ จะเลิกตอนไหนก็ได้ คุณคิดแบบนั้นจริงหรือ? ติดตามเรื่องราวของเคสตัวอย่างที่เข้าไปข้องเกี่ยวกับยาเสพติด แต่เมื่อถึงเวลาอยากออก อยากหยุด ทำไมถึงทำไม่ได้อย่างที่ตั้งใจ พร้อมข้อมูลความรู้ในการบำบัดกับทฤษฎี MI (Motivational Interviewing) ที่จะใช้สำรวจและค้นหาแนวทางในการพูดคุยกับผู้ติดยา ทั้งหมดนี้พบคำตอบได้ใน Love Dose EP.05 วงการนี้ “เล่น” แล้วออกยาก

 

เคสตัวอย่างในครั้งนี้ เป็นเรื่องของคุณเจ (ติดตามเรื่องราวของคุณเจได้ ที่นี่) ซึ่งเป็นเคสที่เข้าไปข้องเกี่ยวกับยาเสพติด แต่เมื่อถึงเวลาอยากหยุด กลับหยุดไม่ได้อย่างที่คิด

 

 

อยากหยุดยาต้องตัดวงจร

 

ในการบำบัดจะมีการพูดถึงวงจรการใช้ยาเสพติด คือ จะมีการสอบถามกับคนไข้ว่า ในหนึ่งวันหรือหนึ่งสัปดาห์ได้ทำอะไรบ้าง เมื่อได้เห็นวงจรการใช้ชีวิต ก็จะทำให้ดูต่อไปได้ว่าจะตัดวงจรตรงไหนถึงจะง่ายที่สุด และทำให้ปัญหาจบเร็วที่สุด

 

 

การตัดวงจรคือการตัดตัวกระตุ้น

 

ตัวกระตุ้นมี 2 แบบ คือ ตัวกระตุ้นภายนอกและตัวกระตุ้นภายใน

 

ตัวกระตุ้นภายนอก คือ คน สัตว์ สิ่งของ สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวเรา เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้ แต่เราเลี่ยงได้ง่ายที่สุด

 

ตัวกระตุ้นภายใน คือ ความคิด พฤติกรรม ทัศนคติ ความเชื่อต่าง ๆ ที่อยู่ในตัวเรา อารมณ์ ความรู้สึก สิ่งเหล่านี้เราควบคุมได้ แต่ตัดยากที่สุด

 

คนที่ใช้ยาเสพติดจะมีสาเหตุ มีตัวกระตุ้นตั้งแต่หนึ่งตัวขึ้นไป หลาย ๆ คนอาจมีตัวกระตุ้นหลายตัว ฉะนั้นการจะตัดวงจรการใช้ยาของคนไข้ จึงต้องดูว่าตัวกระตุ้นของเขามาจากอะไร

 

ตัวกระตุ้นบางตัวก็มีตัวกระตุ้นซ้อนอีก จึงกลายเป็นว่า ยิ่งใช้ยานานขึ้นเท่าไร ตัวกระตุ้นอื่น ๆ ก็ยิ่งมีเข้ามามากขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งปล่อยไว้ ยิ่งทำให้ปัญหาลึกขึ้น ทำให้ยากต่อการเข้าใจมากขึ้น ส่งผลให้ใช้เวลาในการเลิกนานมากขึ้น นี่จึงเป็นอุปสรรคหนึ่งในการเลิกยา

 

 

แก้ปัญหาได้ด้วยการ “ไม่พูด” ถึงปัญหา

 

เคสของคุณเจ กำลังใจส่วนหนึ่งที่ทำให้ตัดสินใจก้าวออกมาจากจุดนั้น คือ ครอบครัว ซึ่งคุณแม่เหมือนจะรู้ว่าลูกไปเกี่ยวข้องกับยา บางทีหายไปกลับบ้านมา คุณแม่จะเตรียมอาหารที่มีรสชาติไม่เผ็ดไว้ให้ ทั้งที่ปกติคุณเจเป็นคนทานเผ็ด

 

สิ่งเหล่านี้เป็นการแสดงความรัก ความห่วงใยโดยไม่ต้องพูดถึงปัญหา แต่ใช้สัญลักษณ์หรือใช้คำพูดอื่นแทนที่จะบอกออกไปตรง ๆ ว่าห่วงเรื่องนี้อยู่ การแสดงออกแบบนี้ ทำให้เกิดผลกระทบทางจิตใจมากกว่าพูดตรง ๆ เป็นการแสดงความรักโดยไม่มีเงื่อนไขของเหตุการณ์ต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง

 

ในทางกลับกัน หากครอบครัวซ้ำเติม สร้างแรงกดดันเพิ่ม จะยิ่งทำให้ผู้ติดยาถลำลึกไปมากกว่าเดิม

 

การแสดงความรัก ความเป็นห่วง แสดงออกได้หลายทาง ทั้งภาษาพูด ภาษากาย รวมไปถึงไม่ต้องพูดปัญหานั้นตรง ๆ ก็ยังสามารถทำให้เห็นได้ว่า เรากำลังแสดงความรักกับเขาอยู่

ถึงแม้ตอนนี้ความพยายามของคุณเจยังไม่ถึงจุดที่ทำสำเร็จ แต่ก็เป็นแรงผลักดันให้เขาเริ่มใหม่ไปเรื่อย ๆ เริ่มใหม่ที่จะพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองไปถึงจุดที่ดีขึ้นหรือจุดที่ไม่ต้องพึ่งพายาอีก

 

 

เลิกได้ไม่ได้แปลว่าหายขาด

 

คนรอบข้างต้องตระหนักว่า การเลิกยาไม่ได้บำบัดครั้งเดียวแล้วเลิกได้หรือหยุดได้ ตามทฤษฎีประมาณ 60% ที่มาหาเพื่อบำบัดครั้งเดียวแล้วสามารถหยุดได้ (ใช้เวลาบำบัดประมาณ 4 เดือน / 6 เดือน / หรือ 1 ปี) ทั้งนี้อยู่ที่ทัศนคติของคนไข้ด้วย

 

การกลับมาใช้ยาอีกหลังจากการบำบัด แบ่งได้เป็น 3 ระดับคือ

 

1. Slip การเผลอใช้ยา 1 ครั้ง แล้วสามารถหยุดได้ ไม่ใช้ต่อ

 

2. Lapse การกลับไปใช้มากกว่า 1 ครั้ง ไม่ได้กลับไปใช้นาน และสามารถหยุดได้

 

3. Relapse การกลับไปติดซ้ำอีก

 

 

Motivational Interviewing ทฤษฎีวิเคราะห์เพื่อการบำบัด

 

ในการบำบัดจะมีทฤษฎีหนึ่งเรียกว่า MI (Motivational Interviewing) คือ การสัมภาษณ์เพื่อสร้างแรงจูงใจ มีทั้งหมด 5 ขั้น โดยนักจิตบำบัดจะนำมาใช้เพื่อวิเคราะห์ว่าคนไข้อยู่ในขั้นไหน และจะใช้วิธีการพูดคุยแบบไหนเพื่อชักชวนให้คนไข้มีการเปลี่ยนแปลงที่ดี

 

 

ขั้นที่ 1 เมินเฉย

 

คือการไม่เห็นความจำเป็นในการเลิกยา ไม่รู้สึกถึงผลกระทบหรือมีปัญหาในชีวิต ยังควบคุมได้ แนวทางการพูดคุยสำหรับขั้นตอนนี้คือ การให้ข้อมูล

 

 

ขั้นที่ 2 ลังเลหรือสงสัย

 

ขั้นตอนนี้คือ ยังไม่ได้อยากเลิก แต่รู้สึกถึงผลกระทบ เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลง รู้สึกว่าเกิดอะไรขึ้น มีความสงสัย ลังเลเกิดขึ้น แนวทางการพูดคุยคือ ให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงเยอะ ๆ ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตถ้ายังไม่หยุด

 

 

ขั้นที่ 3 ตัดสินใจ

 

คือ จะเลิกแล้ว ต้องมีการพูดออกมาจากปากว่า อยากเลิก หรือตัดสินใจจะเลิก แนวทางการพูดคุยคือ ให้ข้อมูล ให้กำลังใจ พูดเสริมแรง เช่น มาถูกทางแล้ว เยี่ยมมาก ดีแล้ว เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เป็นต้น

 

 

ขั้นที่ 4 ลงมือปฏิบัติ

 

ขั้นตอนนี้คือ มีการเลิกมาได้แล้วเป็นวัน สัปดาห์ หรือเดือน แนวทางการพูดคุย คือ ให้กำลังใจ พูดถึงและสอบถามถึงเรื่องดี ๆ ที่เกิดขึ้น ให้แรงเสริมเยอะ ๆ

 

 

ขั้นที่ 5 คงสภาพ

 

คือ เลิกได้สำเร็จแล้ว 4 เดือน หรือ 6 เดือน ตามโปรแกรม คงสภาพคือการไม่ให้กลับไป Relapse หรือกลับไปใช้ยาซ้ำอีก แนวทางการพูดคุย คือให้กำลังใจ และสอบถามเพิ่มเติม เช่น มีแวบบ้างไหม อยากใช้ไหม ถามข้อมูลเพื่อจะได้จัดการให้ถูก นั่นคือ กลับไปที่ตัวกระตุ้น เช่น อยากใช้ตอนเครียดหรือตอนกลับไปเที่ยว ตัวกระตุ้นก็คือความเครียดและสถานที่ท่องเที่ยว

 

กรณีที่มีการ Slip หรือ Lapse นอกจากตัวกระตุ้นที่ต้องถามเพื่อให้ได้ข้อมูลแล้ว ก็จะมีการถามต่อว่า แล้วตอนนั้นอะไรทำให้หยุด เมื่อรู้ปัจจัยที่สำคัญ ก็ต้องป้อนข้อมูลไปเรื่อย ๆ เช่น กลับมาใช้แล้วไม่มีความสุขเหมือนเดิม รู้สึกผิด วิธีการพูดก็คือ บอกว่าให้มันเป็นบทเรียน เป็นต้น

 

ทั้ง 5 ขั้นนี้ สามารถกลับมา Relapse ได้หมด มันคือโรคเรื้อรัง มีวงจรของตัวเอง อยู่ที่เราจะตัดวงจรได้ไหม หรือทำให้คงสภาพได้นานแค่ไหน

 

 

ทำอย่างไรให้การเลิกยาสำเร็จ

 

อย่าล้มเลิกความพยายาม ที่สำคัญคนรอบข้างต้องเข้าใจ ให้กำลังใจ การมีความพยายามหรือคิดที่จะเลิก แค่นั้นก็เป็นเรื่องดีที่เกิดขึ้นแล้ว ถ้าวันหนึ่งเขากลับไปใช้อีก นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ไม่กล่าวโทษเขา แต่ให้มาจัดการดีกว่าว่าจะทำอย่างไร เพื่อไม่ให้เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นซ้ำอีก

 

ยาเสพติดเมื่อเข้าไปแล้ว ยากที่จะก้าวออกมา ฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดคือ ไม่เข้าไปตั้งแต่แรก หรือใครที่เข้าไปแล้ว ถอนตัวออกมาให้เร็วที่สุด จะได้ไม่มีปัญหาแบบที่หลาย ๆ เคสเจอ

 

หากต้องการปรึกษาเกี่ยวกับการเลิกยา สามารถติดต่อได้ที่ 08 2359 6245 หรือ Facebook Fanpage - KRUBB Bangkok

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  เชาวน์พิชาญ เตโช และ อัครเษรต เชวงชินวงศ์

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

OTHER