Walk the Talk season 2 EP.10 โรงเรียนที่ไม่มีวันปิดเทอม Part 1

15 กันยายน 2020 110 ครั้ง

Walk the Talk season 2 EP.10 โรงเรียนที่ไม่มีวันปิดเทอม Part 1

เมื่อการศึกษาในระบบแยกกระบวนการเรียนรู้ออกไปจากการใช้ชีวิต การให้ลูกออกมาเรียนแบบ "โฮมสคูล" จึงเป็นทางเลือกที่ครอบครัว พ่วงศรีรักษา ตัดสินใจร่วมกันในแนวทางนี้ เรื่องราวจะเป็นอย่างไรติดตามได้ใน Walk the Talk season 2 EP.10 โรงเรียนที่ไม่มีวันเปิดเทอม Part 1

 

 

การศึกษาเป็นสิทธิ์พื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับ และอีกหนึ่งคำที่มักจะมาพร้อมกับการศึกษา คือ “การเรียนรู้” ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยไหนก็ตาม เพราะเราสามารถใช้ชีวิตเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ และนำมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ได้ตลอดเวลา 

 

แต่เมื่อคุณพ่อ “คุณพัฒนศักดิ์ พ่วงศรีรักษา” เห็นว่าการศึกษาในระบบได้แยกกระบวนการเรียนรู้ออกไปจากการใช้ชีวิต จึงตัดสินใจปรึกษาร่วมกันทั้งครอบครัวให้ลูกออกมาสู่ "โฮมสคูล" หรือบ้านเรียน เพื่อให้ลูก ๆ ได้เรียนตามศักยภาพของตัวเองกับหลักสูตรการเรียนการสอนให้ทุกคนใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

 

 

Love will set you free - ความรักจะไประเบิดการเรียนรู้

 

หลังจากที่ครอบครัวตกลงร่วมกันว่าจะให้เด็กที่บ้านเข้าสู่การเรียนรู้แบบโฮมสคูล คุณพ่อก็เริ่มศึกษาหาข้อมูลอย่างหนัก เป็นการเรียนรู้ไป ทำไป แก้ไปตลอดทาง แต่คุณพ่อก็ไม่เคยท้อแท้กับข้อมูลที่ท่วมท้นและหลายครั้งเกิดอาการจับต้นชนปลายไม่ถูก

 

“เรามีความเป็นครอบครัวมากขึ้น พอเรามีความสุขมากขึ้น ความรักจะไประเบิดการเรียนรู้ที่มันฝังอยู่ในตัว”

 

 

คุณผู้ปกครองหลายคนที่สนใจเรื่องบ้านเรียนอาจมีความสงสัยว่า เราจะสามารถทำหน้าที่ได้ครบถ้วนเท่าคุณครูที่โรงเรียนหรือไม่

 

 

“การที่เรามีเวลากับครอบครัว อยู่ใกล้ชิดกับลูก มันคือความสุข มันไม่ต้องอ้อมไปผ่านทางเรื่องเงินก็ได้ หรือ การสอนลูก ก็ไม่ต้องใช้เงินไปสร้างทักษะ สร้างสกิล หรือวุฒิภาวะให้เขาเติบโตก็ได้ จริง ๆ แล้วสัญชาติญาณของพ่อแม่ ความสัมพันธ์ในครอบครัวต่างหากเป็นเรื่องหลัก แค่เราศรัทธาในตัวเรา ในความเป็นพ่อแม่ ศรัทธาในตัวลูก ในความเป็นครอบครัว มันจะเปิดมุมมองเรา เราจะเห็นต้นทุนที่เรามีอยู่”

 

 

 

Let’s drop out of school! อย่างนี้ต้องลาออก

 

 

“อ้าวไม่ต้องไปโรงเรียนแล้ว แล้วเพื่อนเราล่ะ แล้วเราจะเรียนกับใคร ถ้าเราต้องเรียนที่บ้าน ต้องเรียนกับคอม อยู่กับน้องทั้งวันแบบนี้เหรอ”

 

ล้านคำถามวนเวียนอยู่ในหัวน้องบุ๊ค นางสาวษุภากร พ่วงศรีรักษา ที่ยิ่งคิดภาพตัวเองติดอยู่ที่บ้านทั้งวันยิ่งสับสน 

 

 

สิ่งที่คุณพ่อผู้ตั้งตนเป็น “กระทรวง” ต้องทำคือ การสร้างการเรียนรู้และความเข้าใจร่วมกัน คุณพ่อจึงหาห้องเรียนแห่งการเรียนรู้เพื่อเปิดประสบการณ์ให้น้องบุ๊ค

 

 

“ทุกคนต้องตื่นตีสี่ ตื่นมารำไปด้วย แต่งประโยคจากคำศัพท์ที่ได้รับไปด้วย หนูเลยไม่กล้าตื่นตีสี่ กลัวโดนเรียกไปรำศัพท์”

 

กิจกรรมแรกที่น้องบุ๊คไปลองเรียนซึ่งเธอไม่เข้าใจว่าจะให้รำไปทำไม ไหนจะต้องออกไปแต่งประโยคภาษาอังกฤษต่อหน้าผู้คนในค่ายอีกมากมาย ในขณะที่น้องบุ๊คพยายามหลบเลี่ยงการรำศัพท์ น้องบุ๊คก็ตั้งหน้าตั้งตารอคอยกิจกรรมช่วงบ่ายอย่างดนตรีไทย ที่เธอเพิ่งรู้ว่ามันสนุก

 

 

“วัตถุประสงค์ของโฮมสคูล คือ เอาเป้าหมายของตัวเด็กเป็นตัวตั้ง ว่าเขาเกิดมา เขาอยากเป็นอะไร ชอบอะไรเป็นหลัก สิ่งที่สำคัญคือมันตอบโจทย์เขาจริง ๆ ไหม”

 

การเรียนรู้ในแต่ละวันไม่ได้เกิดแค่กับน้องบุ๊คเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงคุณพ่อด้วย กระทรวงคุณพ่อทำงานหนักมากในการค้นคว้าหาความรู้ หมั่นสังเกตพัฒนาการและการเรียนรู้ของลูกเพื่อนำมาปรับหลักสูตรและกิจกรรมให้สอดรับกับความชอบและศักยภาพของลูกทุกคน

 

 

 

Be open-minded to learn and grow - เปิดใจเพื่อเปิดหน้าต่างแห่งการเรียนรู้และเติบโต

 

 

“หนูต้องอ่านนิทานให้น้องอนุบาลฟังแล้วต้องอธิบาย ปกติแค่อ่านก็กลัวจะตายอยู่แล้ว มีชาวต่างชาติมานั่งฟังอีก เขาจะฟังเรารู้เรื่องไหม สำเนียงเราจะได้ไหม มันมีความกังวลเต็มไปหมดเลย”

 

ภาษาต่างประเทศเบื้องต้นที่เด็ก ๆ ควรเรียนรู้เพื่อเปิดโลกแห่งการเรียนรู้คงหนีไม่พ้นภาษาอังกฤษ ภาษาที่น้องบุ๊คไม่เคยรู้สึกสนุกด้วยเลย แถมสิ่งที่เรียนก็ไม่เคยได้นำไปใช้จริง แล้วจะเรียนไปทำไมกัน 

 

การมาเข้าค่ายภาษาอังกฤษที่เธอต้องอ่านออกเสียงให้คนอื่นฟังเป็นสิ่งที่ใหม่สำหรับเธอมาก เพราะที่โรงเรียนมีแต่ให้ท่องศัพท์และเรียนไวยากรณ์ แต่ด้วยความที่เธอได้ลองทำอะไรมามากมายหลังออกจากระบบการเรียนปกติ ทำให้เธอพร้อมจะ “ลอง” แม้ว่าจะกล้า ๆ กลัว ๆ

 

“มันก็ทำให้เรารู้ว่า เราทำเต็มที่ของเราแล้ว แล้วพอเราได้อธิบายตอนตอบคำถามน้อง ๆ มันทำให้บุ๊คจำ ทำให้เราเกตเลย”

 

การเรียนแบบโฮมสคูลทำให้น้องบุ๊ครู้ว่า ความผิดพลาดเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้และมันเป็นเรื่องสนุกมากกว่าน่าอาย

 

“เมื่อก่อนเรากลัวที่จะพูดมันออกมา จะผิดไหม จะมีคนหัวเราะเราไหม พออ่านออกไปมันเป็นการบอกว่าเราทำได้ พอเราพูดผิด คนอื่นเขามองว่ามันน่ารักดี เราเลยลองมองใหม่บ้าง”

 

 

 

I-Homeschool การเรียนรู้เริ่มต้นที่ “ตัวเรา”

 

 

“อยากเปิดมายเซทให้เขารู้ว่า คำว่าโรงเรียนหรือการเรียนรู้ มันไม่ใช่แค่อยู่ในระบบสถาบันหรือในอาคารอย่างเดียว มันอยู่ในตัวเรา โลกทั้งใบคือการเรียนรู้ เราไปอยู่ตรงไหนคือการเรียนรู้”

 

เมื่อคุณพ่อรับบทเป็นทั้งคุณพ่อและโรงเรียนอย่างใกล้ชิดแบบนี้ Walk the Talk เลยอดสงสัยไม่ได้ว่า คุณพ่อเคยรู้สึกผิดหวังบ้างไหมเมื่อนำหลักสูตรที่คิดมาอย่างดีมาจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้ลูก แต่ผลกลับไม่เป็นตามที่คิดไว้

 

“เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องปกติ เราก็เลยเข้าใจเลยว่า เราก็เป็นมนุษย์ธรรมดานี่แหละ มีความผิดพลาด มีอารมณ์ คาดหวัง ผิดหวัง สมหวัง แต่สิ่งสำคัญคือ มันคือการเรียนรู้ทั้งเราและเขา”

 

 

เรื่องราวของ “โฮมสคูล” ไม่ได้จบแค่นี้ ในตอนหน้าเราจะมาคุยกันว่า ตารางในหนึ่งวัน กระทรวงคุณพ่อวางอะไรไว้บ้าง ส่วนผู้เรียนอย่างน้องบุ๊ครู้สึกว่าการเรียนแบบนี้ทำให้เธอได้เรียนรู้จริงหรือไม่ แตกต่างจากการเรียนในระบบอย่างไร และสำหรับผู้ปกครองที่สนใจจัดการเรียนแบบโฮมสคูล บทบาทในฐานะ “โค้ช” ให้ลูก ๆ คืออะไร ติดตามได้ใน Walk the Talk season 2 EP.10 โรงเรียนที่ไม่มีวันเปิดเทอม Part 2

 

 

 

คำศัพท์

1.         why do parents choose to homeschool and how to get started? ทำไมผู้ปกครองถึงให้ลูกเรียนโฮมสคูล และจะสามารถเริ่มต้นได้อย่างไรบ้าง?

 

2.         How does homeschooling benefit the child? การเรียนแบบโฮมสคูลส่งผลดีต่อเด็กอย่างไร?

 

3.         Is it cheaper to homeschool than to send a child to public or private school? การเรียนแบบโฮมสคูลประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าการเรียนในระบบจริงหรือ?

 

4.         a certificate of completion วุฒิบัตร หรือ ใบแจ้งจบ

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  รัฐนันท์ ฐาปนาประเสริฐ

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

 

OTHER