Walk the Talk season 2 EP.09 ไปน่าน หรือ ไปนาน ครูไทยงง ลูกศิษย์ฝรั่งก็งง

08 กันยายน 2020 98 ครั้ง

Walk the Talk season 2 EP.09 ไปน่าน หรือ ไปนาน ครูไทยงง ลูกศิษย์ฝรั่งก็งง

เมื่อครูสอนภาษาไทย...ต้องสอนภาษาไทยด้วย "ภาษาอังกฤษ" ความบันเทิงในการสอน ความสนุกสนาน และการพัฒนาเรื่องภาษาทั้งไทยและอังกฤษของทั้งคุณครูและนักเรียนจะเป็นอย่างไร ติดตามได้ใน Walk the Talk season 2 EP.09 ไปน่าน หรือ ไปนาน ครูไทยงง ลูกศิษย์ฝรั่งก็งง

 

“ภาษาไทยจำเยอะ ซับซ้อน วุ่นวาย เอะอะท่อง เรียนบางเรื่องก็ไม่ได้ใช้”

 

นี่คือส่วนหนึ่งของเหตุผลที่คนไม่ชอบภาษาไทย ภาษาที่เป็นภาษาแม่ (Mother Tongue) ของเราชาวไทย ที่ร่ำเรียนกันมาแต่อ้อนแต่ออก ที่หลายคนยังแทบจะตามอัพเดทศัพท์ สำนวนใหม่ ๆ กันแทบไม่ทัน และหากชาวต่างชาติคนไหนที่ต้องมาเกี่ยวข้องกับคนไทยในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการท่องเที่ยวหรือการทำธุรกิจ เขาอาจไม่จำเป็นต้องเรียนภาษาไทย และเลือกใช้ภาษาอังกฤษเป็นเครื่องมือในการสื่อสารแทน แต่สำหรับแวดวงการศึกษา เด็กนักเรียนอินเตอร์คงไม่มีทางเลือก นอกจาก “ต้องเรียนภาษาไทย” เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันในประเทศไทยให้ติดขัดน้อยที่สุด พร้อมสร้างสัมพันธภาพอันดีกับเพื่อนชาวไทยที่รายล้อมอีกด้วย

 

 

“ครูก้อย - นิศา บูรณภวังค์” สาวไทยใจสู้ที่เดินเข้าสู่สายการสอนและภาษาไทยเพียงเพราะเธอรักการอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ จึงอยากเข้าถึงการวิเคราะห์และวิจารณ์ภาษาวรรณกรรมที่เธอคิดว่ามัน “เท่ห์” ดี

 

 

“ภาษาไทยมันก็เป็นภาษาของเราเนอะ แล้วทำไมคนอื่นไม่ชอบ งั้นถ้าเกิดเราชอบมันน่าจะดูเท่ดี”

 

จบภาษาไทยมาก็ต้องสอนภาษาไทยแต่งานแรกก็ได้สอนภาษาไทยให้เด็กอินเตอร์เสียแล้ว โชคยังเข้าข้างเธอที่นักเรียนเป็นระดับประถม เนื้อหาการสอนภาษาไทยจึงอยู่ในระดับพื้นฐาน แต่สิ่งที่ทำให้เธอร้อน ๆ หนาว ๆ คือ ภาษาที่ต้องใช้ในการสอน นั่นคือ ภาษาอังกฤษ

 

“โชคดีว่าเป็นเรื่องที่ไม่ยากมาก เราก็ใช้ภาษาอังกฤษแบบงู ๆ ปลา ๆ แบบไม่เป็นทางการของเราไป แต่เราก็อยากทำให้มันดีนะ เลยไปตีซี้กับครูฝรั่งคนหนึ่งที่เขาอยากเรียนภาษาไทยพอดี เลยเหมือน win-win”

 

แต่แล้วเรื่องของระยะทางก็กลายเป็นอุปสรรคเมื่อการเดินทางไปสอนนั้นกินเวลาชั่วกัปชั่วกัลป์จนหม่อมแม่ต้องขอร้องว่า “หางานอื่นไหมลูก?”

 

 

Pull yourself together. You can do it! - นิศาทำได้...ก็ได้วะ

 

เธอได้รับโอกาสครั้งใหม่ที่วิทยาลัยในระดับอุดมศึกษาแห่งหนึ่งที่เรียกได้ว่าเป็นบ้านหลังที่สองของเธอมาถึงทุกวันนี้

 

“เขาเห็นว่าเราเคยสอนเด็กอินเตอร์ ก็เลยให้เราสอนควบอินเตอร์ของที่นี่ไปด้วย พี่ก็ไม่มั่นใจนะ นี่เป็นเด็กโตแล้วมาจากนานาชาติ ภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาที่ทั้งนักเรียนและคนสอนถนัดเลย แล้วจะรู้เรื่องไหมเนี่ย”

 

ความกังวลใจของเธอทำให้เธออยู่ไม่สุข และตัดสินใจเดินเข้าไปปรึกษาอธิการบดีผู้ซึ่งทำให้เธอปลดล็อกตัวเองและเข้าใจบทบาทของตัวเองในห้องเรียน รวมถึงเข้าใจหัวใจของการสอนมากขึ้น นั่นคือ เรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติของผู้เรียนผ่านความสนุกสนาน

 

“ท่านอธิการบดีบอกว่า คลาสภาษาอังกฤษ ผู้สอนก็ใช้ภาษาอังกฤษในห้องเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมและฝึกฝนผู้เรียน คลาสเรียนภาษาไทยก็เช่นกัน และพี่เชื่อว่าก้อยทำได้ เอ๊า! เมื่อคนอื่นบอกว่านิศาทำได้ แล้วเราจะบอกว่าตัวเราทำไม่ได้ มันก็ยังไงไม่รู้”

 

 

From comfort zone to learning zone - บางทีเราอยู่ในเซฟโซนมากไปชีวิตก็ไม่มีสีสัน

 

ทุกครั้งที่สอน ครูก้อยจะจินตนาการว่า เธอคือตัวแทนประเทศไทยที่กำลังสร้างความเข้าใจและความประทับใจให้กับชาติต่าง ๆ แม้ว่าประสบการณ์การสอนของครูก้อยจะมีมากเป็นสิบกว่าปี ได้เจอชาวต่างชาติทั้งหลากหลายสัญชาติและอายุ ก็ไม่เคยทำให้เธอหยุดเรียนรู้ หรือ หายกลัวได้เลย

 

“กลัวทุกครั้งแหละ ยิ่งคลาสที่เป็นผู้บริหารระดับสูงยิ่งกลัว แล้วก็บอกตัวเองว่าเรากลัวได้นะ แต่ความกลัวมันถูกกลบหายไปทันทีในก้าวแรกที่เราเข้าไปทำ ถ้าเราไม่ลงไป บางทีเราอยู่ในเซฟโซนมากไปชีวิตก็ไม่มีสีสัน”

 

 

Just need to get closer. - ใกล้เข้าไปอีกนิด

 

ครูก้อยหัวเราะให้กับระดับทักษะภาษาอังกฤษของเธอที่เธอนิยามว่า “เหมือนเรียนดำน้ำ” แต่เพราะเธอรู้ว่าภาษาอังกฤษจะต้องเป็น และได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนของเธอไปแล้ว ดังนั้นเธอจึงพยายามหาเรื่องสนิทสนมกับภาษาอังกฤษ

 

“ในการเรียนภาษามันต้องทำตัวเองให้เข้าไปอยู่ในวงจรภาษานั้นให้ได้ จะด้วยวิธีการใดก็เลือกเอาตามความถนัด ตั้งใจและกล้าที่จะพูดสิ่งนั้น และมองว่ามันเป็นเรื่องสนุก ตั้งใจ จริงใจ ใส่ใจ คืออะไรที่ใส่ใจลงไป มันได้หมด”

 

 

เธอทิ้งท้ายเอาไว้ว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษาหรืออะไรก็แล้วแต่ ถ้าเป็นความรู้ มันคือสิ่งที่เรียนได้เรื่อย ๆ หาความรู้ได้เรื่อย ๆ ยิ่งเดี๋ยวนี้มีสื่อออนไลน์ยิ่งง่าย ทำให้รู้สึกว่าความรู้หรือทักษะที่เราอยากจะมี อยากจะพัฒนามันไม่ได้ไกลตัวมาก ถ้าเราเอาตัวไปใกล้มัน ทุกอย่างก็เป็นไปได้

 

“ถ้าคุณมีความสุขในสิ่งที่คุณทำ คุณจะหลงรักตัวเอง Johnny Carson บอกไว้ และแน่นอนเมื่อคุณมีความรักคุณก็มักจะดูเด็กลงไปนิดนึงงง” ครูก้อยยิ้มกว้าง ตาหยีภายใต้แว่นบ่งบอกถึงความสุขและความสนุกสนานในตัวเธอจริง ๆ

 

 

คำศัพท์

1.         Smile on chin up ยิ้มสู้

 

2.         Pull yourself together. รวบรวมสติและพลัง ฮึบ ๆ เราทำได้

 

3.         5 Tones วรรณยุกต์ไทย 5 เสียง

 

4.         Never continue in a job you don’t enjoy. อย่าทำงานที่คุณรู้สึกว่าไม่สนุก

 

 

If you’re happy in what you’re doing, you’ll like yourself, you’ll have inner peace. And if you have that, along with physical health, you will have had more success than you could possibly have imagined.

 

- Johnny Carson  -

 

ถ้าคุณมีความสุขในสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่คุณจะชอบตัวเอง คุณจะมีความสงบภายในไม่ร้อนรน แล้วถ้าคุณมีสุขภาพที่แข็งแรงด้วย คุณก็จะประสบความสำเร็จมากกว่าที่คุณคิดไว้เสียอีก 

 

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  รัฐนันท์ ฐาปนาประเสริฐ

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

OTHER