Love Dose EP.04 Say Hi คำทักทายมรณะ

02 กันยายน 2020 91 ครั้ง

Love Dose EP.04 Say Hi คำทักทายมรณะ

เมื่อคำว่า “HI” / “ไฮ” ไม่ใช่คำทักทายว่าสวัสดี แต่อาจเป็นคำที่เปลี่ยนแปลงชีวิตคุณไปตลอดกาล มาทำความรู้จักและทำความเข้าใจกับคำว่า HI ในอีกแง่มุมหนึ่งได้ใน Love Dose EP.04 Say HI ! คำทักทายมรณะ

 

Love Dose อีพีนี้ เป็นเรื่องราวของคุณเบียร์ที่เข้าไปพัวพันกับยาเสพติดแบบไม่รู้ตัวและเกือบเอาชีวิตไม่รอด ก่อนจะไปติดตามเรื่องของคุณเบียร์ มาทำความเข้าใจกับประเภทของผู้ใช้ยากันก่อน

 

ประเภทของผู้ใช้ยา

 

ผู้ใช้ คือ ผู้ที่ใช้แต่ยังไม่เกิดผลกระทบกับชีวิต ไม่ทำให้การใช้ชีวิตเสียไป

 

ผู้เสพ คือ ผู้ที่ใช้ไปสักพัก แล้วชีวิตเริ่มเสีย เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง แต่ยังสามารถใช้ชีวิตได้ ในกลุ่มของผู้เสพ สามารถแยกได้เป็น 2 ประเภท คือ ผู้เสพต่ำ และ ผู้เสพสูง

 

ผู้ติด คือ ผู้ที่ใช้ยาจนการใช้ชีวิตเริ่มเสีย หน้าที่การงานเสีย มีพฤติกรรมบางอย่างผิดแผกแปลกไป

 

หลายครั้งที่คนใช้ยาครั้งแรก เมื่อเจอตำรวจจับแล้วมีผลทางกฎหมาย คนผู้นั้นจะเปลี่ยนจากผู้ใช้เป็นผู้เสพในทันที ถึงแม้จะใช้เพียงครั้งแรกก็ตาม

 

ในกรณีคุณเบียร์ ตอนนี้ถือว่าเป็นอดีตผู้ใช้ เนื่องจากยังไม่มีผลทางกฎหมาย โดยส่วนใหญ่ผู้ที่โดนจับเพราะใช้ครั้งแรก 80-90 % มักมาจากสถานที่ท่องเที่ยวหรือสถานบันเทิง ซึ่งจะเรียกว่า Club Drug, Party Drug หรือ Recreational Substances (สารเพื่อใช้ในการผ่อนคลาย) ทั้ง 3 คำนี้ คือ การใช้ยาเพื่อความผ่อนคลาย ความบันเทิง ส่วนใหญ่จะเป็น ยาไอซ์ ยาอี โคเคน ยาเค แอลเอสดี หรือแมว (คล้ายยานอนหลับ) ยาเหล่านี้เป็นสารที่ใช้กระตุ้นให้ออกฤทธิ์ร่วมกับแอลกอฮอล์ ทำให้สนุกสนานมากขึ้น

 

เคสคุณเบียร์ไม่ได้เริ่มต้นที่คลับ แต่นัดเจอผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งก็คือการนัดเจอคน แต่เปลี่ยนจากการไปเจอแบบตัวต่อตัวตามผับมาเป็นใช้เทคโนโลยีในการเข้าถึงคน ซึ่งในแอปพลิเคชัน จะมีรูปภาพ มีข้อมูลส่วนบุคคล มีอายุ น้ำหนัก ส่วนสูง (ซึ่งมีทั้งข้อมูลจริงและไม่จริง) และมีแคปชัน (Caption) ข้อความ เช่น หาอะไร ทำอะไรอยู่แถวไหน รวมถึงบอกระยะทาง ทำให้ง่ายต่อการเข้าถึง ง่ายต่อการตัดสินใจที่จะพูดคุยกับคนแปลกหน้าได้มากขึ้น

 

 

สังเกตอย่างไรว่าคนในแอปพลิเคชันที่เราคุยด้วยใช้ยาหรือไม่ใช้

 

1. สังเกตจากการทัก ปกติคำแรกที่คนส่วนใหญ่ใช้ทักกันคือ “สวัสดี” แต่ถ้ามีคำว่า “HI” หรือ “ไฮ” อาจไม่ได้แปลว่าสวัสดี ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจเป็นเรื่องการใช้ยา

 

HI ปกติแปลว่า สวัสดี แต่ถ้าในแอปให้สงสัยไว้ก่อนว่า คน ๆ นั้นทักมาเพื่อถามว่า “เราไฮอยู่หรือเปล่า” หมายถึง เล่นยาอยู่หรือเปล่า หรือ มาเล่น(ยา)ด้วยกันไหม

 

คำว่า ไฮ มีอีกความหมายว่า เมา สะกดว่า HIGH ที่แปลว่า สูง ซึ่งอาจใช้คำนี้กับคนเมาเหล้าได้ ต่อมามีการตัดคำให้สั้นเป็น HI

 

 

2. สังเกตจากรูปหรือสัญลักษณ์ที่อยู่ในชื่อหรือแคปชัน

 

เช่น รูปเข็มฉีดยา น้ำแข็ง เกล็ดหิมะ เครื่องบิน* เป็นต้น บางคนอาจใช้คำว่า “บินกันไหม”

 

*รูปเครื่องบิน มาจากความรู้สึกเวลา HIGH

 

 

เมื่อคุณเบียร์ได้นัดเจอกับคนที่คุยในแอปพลิเคชัน ก็ได้เจอกับเหตุการณ์ที่เกือบเอาชีวิตไม่รอด ทั้งเรื่องสุขภาพและการถูกตำรวจจับ สุดท้ายโชคดีที่รอดมาได้ (ติดตามเรื่องราวของคุณเบียร์ได้ในลิงก์คอมเมนต์ด้านล่าง)

 

2 ครั้งแรกที่ได้นัดเจอ คุณเบียร์ได้ถูกชักชวนให้ลองยาไอซ์ ทำให้เกิดผลข้างเคียง คือ มือชักเกร็ง ตาลอย หัวใจเต้นแรงผิดปกติ อาเจียน จนถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล และครั้งสุดท้ายคือครั้งที่ 3 คนที่นัดเจอได้ชวนไปส่งของให้เพื่อน ซึ่งคุณเบียร์ก็มารู้ที่หลังว่า ของที่ไปส่งนั้นคือยาเสพติด โชคดีที่รอดมาได้ เมื่อกลับมาถึงห้องก็ถูกชักชวนให้ลองยา โดยที่ผ่านมาคุณเบียร์เข้าใจว่ายาที่ลองไปอาจเป็นของปลอม จนครั้งที่สามนี้ได้ถูกชักชวนและให้ลองแบบฉีด แน่นอนว่าเกิดอาการเช่นเดิม และโชคดีอีกเช่นเดิมที่คุณเบียร์รอดมาได้ แต่ผลของการลองในครั้งนี้กลับส่งผลอื่น ๆ ตามมานั่นคือ หลังจากถูกส่งตัวไปโรงพยาบาล วันรุ่งขึ้นคุณเบียร์มีอาการซึมเศร้า จนสุดท้ายต้องกลับไปหาคุณหมออีกครั้ง และถูกส่งตัวไปพบจิตแพทย์ และทำการรักษาโดยการกินยาต้านเศร้าตามที่คุณหมอสั่ง สมองจึงกลับมาสู่สภาวะปกติได้

 

 

ทำอย่างไรเมื่อเจอคนที่มีอาการ Overdose หรืออาการไม่ปกติจากการเล่นยา

 

1. ตั้งสติ แล้วจับชีพจรว่าปกติไหม ง่ายสุดคือ บริเวณต้นคอใต้คาง ถ้าชีพจรเต้นห่างหรือเต้นช้ากว่าปกติให้ปั๊มหัวใจได้เลย

 

2. โทรเรียกรถพยาบาล โดยสามารถโทรได้ที่เบอร์ 1669 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือ 1646 ศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร หรือโทรเบอร์โรงพยาบาลใกล้ที่เกิดเหตุ

 

หลายคนไม่กล้าพาไปโรงพยาบาลเพราะกลัวคุณหมอจะส่งตำรวจ ตรงนี้ไม่เป็นความจริง ถ้ารู้สึกไม่ดีให้ไปหาคุณหมอและบอกว่าใช้ยาเสพติดตัวไหนมา คุณหมอจะได้ดูแลได้ถูกต้อง

 

 

ทักษะการปฏิเสธ

 

ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น ถ้ารู้จักปฏิเสธ ซึ่งทักษะการปฏิเสธเป็นทักษะหนึ่งในชีวิตที่สำคัญมาก โดยหลักการปฏิเสธมี 3 อย่าง คือ

 

1. ให้ตอบรับและขอบคุณไปก่อน เช่น “ขอบคุณมาก” “ขอบคุณที่นึกถึง” คนฟังก็จะไม่รู้สึกแย่

 

2. ให้ปฏิเสธโดยการใช้ความรู้สึก อย่าอ้างเรื่องกายภาพ เรื่องเหตุผล การบอกความรู้สึกเป็น I message คือข้อความจากเรา ไม่ใช่การปฏิเสธเขาอย่างชัดเจนหรือทำให้เขารู้สึกไม่ดี แต่คือการบอกความรู้สึกที่เราไม่โอเค จะทำให้เขารู้สึกเจ็บน้อยลง เช่น เพื่อนชวนสูบบุหรี่

 

A : สูบบุหรี่ไหม

B : ไม่เอาอ่ะ เดี๋ยวแม่รู้

A : เฮ้ย อย่าให้แม่รู้สิ

B : ไม่เอาอ่ะ เดี๋ยวมันมีกลิ่น

A : อ้าว กลับไปก็ไปอาบน้ำ

B : ไม่เอาอ่ะ ไม่มีตังซื้อ

A : เดี๋ยวออกให้

 

แบบนี้คือพูดเท่าไรก็ไม่จบ แต่ถ้าบอกว่า

 

A : สูบบุหรี่ไหม

B : ไม่เอาอ่ะ ไม่ชอบ หรือ ขอบคุณมาก แต่ไม่ชอบว่ะ

 

แบบนี้คือจบเลย

 

3. ยืนยันคำเดิมให้หนักแน่นและแยกตัวให้เร็วที่สุด เช่น เพื่อนชวนไปกินหมูกระทะ

 

A : ไปกินหมูกระทะกัน

B : ขอบคุณพี่ แต่ว่าไม่ชอบกินอ่ะ

A : เอาน่า นิดนึง

B : มันไม่ชอบจริงๆ อ่ะ ขอบคุณมาก เดี๋ยวขอตัวก่อนนะ

 

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด เราควรฝึกทักษะการปฏิเสธให้เคยชิน เพื่อที่ว่าเวลาเกิดขึ้นจริง เราจะได้ตอบสนองได้ทันที

 

ในเรื่องการใช้ยาเสพติด ทุกคนไม่ได้โชคดีเสมอไป และหลาย ๆ  คนที่ใช้อยู่ ครั้งต่อไปอาจเป็นครั้งที่คุณซวย และอาจเป็นความซวยครั้งสุดท้ายของคุณก็ได้ เพราะคุณอาจไม่ได้กลับมาแก้ไขอีกทั้งเรื่องของการถูกดำเนินคดี หรือเรื่องทางร่างกายที่เกิดขึ้น รวมไปถึงสัมพันธภาพต่าง ๆ ที่จะตามมา และอาจเสียชีวิตได้

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  เชาวน์พิชาญ เตโช และ อัครเษรต เชวงชินวงศ์

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

OTHER