ปลดล็อกกับหมอเวช EP.25 วิธีลากเส้นเพื่อป้องกันคนล้ำเส้น

15 สิงหาคม 2020 261 ครั้ง

ปลดล็อกกับหมอเวช EP.25 วิธีลากเส้นเพื่อป้องกันคนล้ำเส้น

การถูกล้ำเส้นเป็นเรื่องปกติของทุกคน บางคนไม่รู้วิธีจัดการ และบางครั้งคนที่มาล้ำเส้นก็ไม่รู้ว่ากำลังล้ำเส้น อาจเป็นเพราะตัวเราเองที่ไม่ทำให้เส้นนั้นชัดเจน จะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร ติดตามได้ใน “วิธีลากเส้นเพื่อป้องกันคนล้ำเส้น” ปลดล็อกกับหมอเวช EP.25

หลายครั้งคนที่ลากเส้นไม่เป็นส่วนใหญ่จะคิดไม่ทัน บางคนเกิดมามีแนวโน้มขี้เกรงใจ ขี้กังวล พอจะปฏิเสธก็กลัวมีปัญหาตามมา ความขี้เกรงใจ ขี้กังวลไม่ได้มีมาแต่กำเนิดอย่างเดียว ส่วนหนึ่งเป็นปัจจัยของยีนส์ แต่อีกส่วนเป็นผลจากการเลี้ยงดู เช่น การเติบโตมาในบ้านที่พ่อแม่ขอให้ยอมน้อง หรือการถูกสอนว่าความโกรธเป็นสิ่งไม่ดี ไม่น่ารัก เมื่อเรียนรู้มาแบบนั้น เวลาโกรธ เราจึงใช้กลไกทางจิตกลบไว้ จนกระทั่งเราคุมไม่อยู่ก็จะกลายเป็นระเบิดออกมา

 

 

รู้ได้อย่างไรควรลากเส้นที่ตรงไหน

 

เส้นที่เราลากไม่มีสูตรสำเร็จ กับคนคนเดียวกันก็ไม่จำเป็นต้องลากแบบเดียวกันเสมอไป ดังนั้นเพื่อให้เข้าใจวิธีการจัดการการลากเส้นจึงต้องคำนึงถึง 3 ปัจจัย ดังนี้

 

 

ปัจจัยที่ 1 ตัวเราเอง

 

ต้องรู้ความต้องการของตัวเอง รู้ว่ามีเส้นแบ่งพื้นที่ส่วนตัวหรือขีดจำกัดอะไรที่ไม่ต้องการให้คนอื่นมาล้ำเส้น มีความสามารถในการสื่อสารเจรจาได้ดีเพียงใด คนที่ถูกล้ำเส้นบ่อย ๆ มักไม่รู้ความต้องการของตัวเอง

 

 

ปัจจัยที่ 2  คู่กรณีหรือคนที่เกี่ยวข้องกับเรา

 

เราเข้าใจความต้องการของเขามากน้อยเพียงใด มีต้นทุนความสัมพันธ์กับเขามากน้อยเพียงใด และแคร์ความรู้สึกเขามากแค่ไหน เรามีทักษะการจัดการอารมณ์เขา จัดการความคาดหวังของเขาให้รู้ข้อจำกัดได้ดีเพียงใด การให้รู้ข้อจำกัดคือ เราเข้าใจเขาแต่ไม่จำเป็นต้องทำตามใจเขา เข้าใจเรื่องหนึ่ง ทำหรือไม่ทำเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

 

 

ปัจจัยที่ 3  สถานการณ์

 

หากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นกรณีพิเศษ เขาต้องการความช่วยเหลือเฉพาะกิจ ฟังแล้วสมเหตุสมผล เราอาจยอมช่วยเขา ถ้าเขามีต้นทุนความสัมพันธ์ที่ดี เราแคร์เขา และการช่วยไม่เดือดร้อน ไม่เบียดเบียน เราก็อาจให้ความช่วยเหลือ เช่น เพื่อนตกงานกะทันหันหรือธุรกิจเกิดปัญหาชั่วคราว ตรงนี้อาจพิจารณาเป็นกรณี แต่ถ้าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นซ้ำ ๆ แล้วเราเห็นว่ากำลังเบียดเบียน เอาเปรียบกัน อย่างนี้เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะลากเส้นให้แข็งขึ้น

 

 

การใช้ 3 ปัจจัยนี้มาประกอบกันจะทำให้เราพิจารณาได้รอบด้านมากขึ้น แต่บางครั้งเวลาคุยกันเราอาจคิดไม่ทันจึงทำให้เผลอถูกล้ำเส้น ดังนั้นจึงต้องรู้แนวทางในการจัดการ โดยสามารถแบ่งวิธีการลากเส้นออกเป็น 2 ฝ่าย คือ 1. การจัดการภายในใจเรา 2. การจัดการภายนอก

 

 

การจัดการภายในแบ่งได้เป็น 3 ปัจจัย คือ

 

1. เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกและความสามารถในการจัดการอารมณ์ความรู้สึก อารมณ์ที่เกี่ยวข้องเวลาที่ถูกล้ำเส้น คือความไม่พอใจหรือความโกรธ เราต้องเรียนรู้ที่จะรับรู้ความโกรธ สามารถใช้ความโกรธเป็นตัวช่วยบอกความรู้สึกว่าเราเริ่มไม่พอใจเพราะกำลังถูกรุกเข้ามาในพื้นที่ส่วนตัว รับรู้ความโกรธโดยไม่ต้องระเบิดอารมณ์

 

2. ชัดในจุดยืน ชัดในเป้าหมาย และสิ่งที่ต้องการ เช่น ถ้าเรามีจุดหมายว่าเรามีเส้นแบ่ง ขณะเดียวกันก็มีจุดหมายว่าจะช่วยเขาเท่าที่ได้ เพราะเราแคร์ในความสัมพันธ์นั้น เราก็มีใจพร้อมจะเปิดรับฟัง สามารถที่จะหาความลงตัวได้ง่ายขึ้น บางครั้งจุดหมายของเราอาจเปลี่ยนไปตามเวลา เช่นในวัย 20-30 ปี อาจรู้สึกว่าเรื่องบางเรื่องยอมไม่ได้เลย แต่ถ้าอายุสัก 50 ปี จุดหมายอาจเปลี่ยนรูปแบบไป

 

3. ตระหนักว่าการพูดคุยมีเป้าหมายเพื่ออะไร เพื่อพิจารณาคำขอของเขาหรือคุยเพื่ออะไร นี่คือความชัดเจนที่ต้องมี

 

 

3 ปัจจัยนี้คือ ความตระหนักภายในที่ต้องทำคู่กันไปกับการประเมินคู่กรณีและประเมินสถานการณ์ เมื่อการจัดการภายในชัดเจน เราตัดสินใจได้ว่าจะลากเส้นอย่างไร การจัดการภายนอกว่าจะสื่อสารอย่างไร ก็มีเทคนิคในการพูดมาแนะนำ ดังนี้

 

 

1. เลือกทางเลือกโดยไม่ต้องให้เหตุผลประกอบ เช่น มีเพื่อนถามว่า เย็นนี้ว่างไหม ไปช่วยทำนู่นทำนี่หน่อยสิ เราว่างแต่เราไม่ต้องการไป ทันทีที่เราหยิบเหตุผลมาเป็นข้ออ้าง จะกลายเป็นจุดอ่อนให้เขามาใช้ในการเจรจา และทำให้เราต้องยอม

 

การเลือกโดยไม่ให้เหตุผลประกอบมี 2 แบบ คือ 1. อาจบอกไปว่า วันนี้มีแผนว่าจะทำอะไรแล้ว หรือ 2. บอกว่าไม่อยากไป ใช้ความรู้สึก ไม่ต้องใช้เหตุผล ถ้าเขาถามต่อว่าทำไม ก็บอกว่า “ไม่รู้ไม่พร้อม” เขาก็จะไม่มีประเด็นมาต่อรองกับเรา

 

เราสามารถใช้ความรู้สึกในการบอกการตัดสินใจได้ และอย่ารู้สึกว่านี่เป็นสิ่งไม่มีเหตุผลและไม่ควรใช้ เรามีสิทธิที่จะอาศัยความรู้สึกประกอบการตัดสินใจในการใช้เวลาหรือเลือกเส้นทางชีวิตของเรา

 

 

2. เทคนิคแผ่นเสียงตกร่อง คือการพูดซ้ำโดยไม่ต้องขยายประเด็น เป็นการยืนยันจุดยืนเดิม เช่น พ่อแม่คะยั้นคะยอให้ทำอะไรสักอย่าง เราอาจบอกว่า “หนูรักคุณพ่อคุณแม่และเชื่อฟังมาตลอด แต่เรื่องนี้หนูขอตัดสินใจเอง” ถ้าท่านยังคงรุกเร้า เราก็พูดว่า “หนูรักพ่อแม่นะคะ แต่เรื่องนี้หนูขอตัดสินใจเอง” คนที่จะใช้เทคนิคนี้ได้ ต้องจัดการภายในใจตัวเองเรียบร้อยแล้ว คือ ต้องชัดในจุดยืน รู้ว่าคุยไปเพื่ออะไร แล้วจะต้องรู้ว่ารู้สึกอย่างไร แต่ไม่ต้องแสดงตามอารมณ์

 

 

3. เทคนิคการใช้คำว่า “ขอคิดดูก่อน” ข้อดี คือให้เวลากับตัวเรา ไม่รู้สึกถูกกดดันที่ต้องตอบรับในตอนนั้น เป็นวิธีชะลอการตัดสินใจ เป็นเทคนิคที่เราจะใช้เวลาที่เรายังไม่ชัด หรือไม่สามารถปฏิเสธได้ในเวลานั้น หรืออยากไปนั่งทบทวนก่อน

 

 

นี่คือภาพรวมของการลากเส้นเพื่อป้องกันคนล้ำเส้น จะเห็นว่า ทักษะการจัดการภายในใจต้องมาก่อน คนที่จัดการอารมณ์ได้ไม่ดีจะมีจุดอ่อนที่ทำให้ไม่สามารถฝ่าด่านนี้ไปได้ ถ้าเราจัดการภายในใจได้ดี การจัดการภายนอกก็จะง่าย แต่ถ้าทำได้ไม่ดี การจัดการภายนอกก็จะเขวตาม

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  นพ.ประเวช  ตันติพิวัฒนสกุล

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

OTHER