เรื่องลับเจ้าตัวเล็ก EP.17 เด็กขี้กลัวกับเด็กที่ไม่กลัวอะไรเลย

18 มิถุนายน 2020 701 ครั้ง

เรื่องลับเจ้าตัวเล็ก EP.17 เด็กขี้กลัวกับเด็กที่ไม่กลัวอะไรเลย

เด็กขี้กลัว vs เด็กที่ไม่กลัวอะไรเลย ลูกคุณเป็นแบบไหน ? กลัวมากไปก็ไม่ดี กล้าเกินไปก็ไม่ควร แล้วจะปรับยังไงให้ลูกอยู่ตรงกลางแห่งความพอดี เรื่องลับเจ้าตัวเล็ก มีแนวทางและคำแนะนำดี ๆ มาฝากค่ะ

ความกลัวของเด็กเล็ก ๆ เด็กที่เห็นอะไรก็กลัวไปหมด กับเด็กบางคนที่ไม่กลัวอะไรเลย จะมีวิธีการจัดการกับเด็กสองลักษณะนี้ได้อย่างไร พ.ญ. วนิดา เปาอินทร์ มีคำตอบมาบอกเราค่ะ

 

 

เด็กที่กลัวมาก ๆ....

 

ถ้าต้องการให้เด็กหายกลัวกับสิ่งนั้น ๆ ก็ต้องให้เด็กได้ลองสัมผัส โดยมีคนที่เขาวางใจว่าปกป้องเขาได้อยู่กับเขา ไม่ใช่ให้เด็กเผชิญด้วยตัวเอง เช่น เด็กกลัวแกะ ไม่กล้าให้อาหารแกะ พ่อหรือแม่ควรอุ้มลูกแล้วให้อาหารแกะให้ลูกดู (ยังไม่ต้องให้ลูกให้เอง) เมื่อลูกเห็นแล้วว่าพ่อแม่ก็ไม่เห็นเป็นอะไร เราก็ลองถามลูกดูว่า “อยากลองให้ดูไหม” โดยอาจจะจับด้วยกันก่อน เมื่อลูกวางใจแล้วก็ให้เขาจับเอง เป็นต้น แต่ถ้าเขากลัวสิ่งนั้นมาก ๆ และเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นกับชีวิต เราอาจจะไม่ต้องผลักดันให้หายกลัวก็ได้

 

ในกรณีที่กลัวไปซะทุกอย่าง ก็ต้องค่อย ๆ แก้ความกลัวโดยการขยับวิธีการไปเรื่อย ๆ เช่น ถ้ากลัวของจริงก็อาจให้ดูรูปก่อนแล้วค่อยหาวิธีการไป อย่าใช้วิธีบังคับหรือให้อยู่กับสิ่งที่กลัวด้วยตัวเองเพราะจะทำให้เด็กฝังใจ และหายกลัวยากขึ้น

 

ความกลัวบางอย่างเป็นเรื่องของอายุด้วย เช่น อายุ 9-10 เดือน เริ่มกลัวคนแปลกหน้าอันนี้ปกติ ถ้าไม่กลัวเลยอาจจะต้องระวัง แต่ถ้าโตแล้วก็ยังมีปัญหาไม่สามารถอยู่กับคนอื่นได้เลย อันนี้ก็เป็นปัญหา ก็ต้องแก้เหมือนกัน

 

 

เด็กที่ไม่กลัวอะไรเลย...

 

ยกตัวอย่างเด็กที่ไม่กลัวสัตว์อะไรเลย เห็นหมา แมว ก็เข้าไปเล่นหมด แบบนี้พ่อแม่ก็ต้องสอนเหมือนกัน ให้สอนสิ่งที่ทำอันตรายกับเด็กได้ เช่น หมา เพราะอยู่ใกล้ตัว ถ้าลูกเรายังเล็กอยู่ เราจะใช้วิธีอุ้มออกมาก่อน ไม่ให้เข้าใกล้ แล้วสอนลูก เช่น ไม่ใช่หมาของเรา ถ้าจะเล่นก็ต้องถามเจ้าของหมาก่อนว่าเล่นได้ไหม (เจ้าของจะบอกได้ว่ามันดุหรือไม่) แล้วก็ต้องสอนวิธีการเล่น เช่น ลูบมันก่อน เล่นกับมันเบา ๆ ไม่เล่นไม่จับตอนมันกินหรือหลับ คือ ทำซ้ำ ๆ ให้เด็ก ๆ รู้ว่า ต้องเล่นยังไง

 

เด็กโตก็ต้องสอนวิธีการสังเกตอาการหมา เช่น กำลังขู่ไหม กำลังจะจู่โจมหรือไม่ และสอนวิธีว่าเราต้องทำตัวอย่างไร วิธีที่ทำให้หมาหยุดจู่โจมคือ นิ่งอยู่กับที่ไม่เคลื่อนไหว เรื่องนี้ค่อนข้างยากแต่เราก็ต้องสอนไว้ก่อน แต่ถ้าเป็นหมาข้างถนน หมาไม่มีเจ้าของ ต้องห้ามลูกเล่นไปเลย นั่นแสดงว่าหมาไม่ได้ฉีดวัคซีน

 

ส่วนเด็กที่มีความกลัวในเรื่องต่าง ๆ น้อย อาจจะได้เปรียบ จะทำให้เขาไปสู่สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ นานา ได้มากขึ้น การเลี้ยงดูมีส่วนให้เด็กกล้า เช่น กล้าที่จะลองไปทำอะไรใหม่ กล้าไปทำสิ่งต่าง ๆ 

 

เด็กโดยส่วนใหญ่สมองกับร่างกายอยากจะไปทำอยู่แล้ว แต่ที่ไม่กล้าไปทำ มักเกิดจากครอบครัวที่พ่อแม่ห้ามไปทุกเรื่อง เด็กก็จะถูกบล็อก

 

การให้เด็กกล้าที่จะเริ่มคิดก็ต้องใช้วิธีไม่ปฎิเสธ ต้องไม่มีคำว่า "ไม่" / "อย่า" ไปตัดสินเด็ก ให้ใช้วิธี “หนูว่ายังไง” “แม่ว่าเป็นความคิดที่ดี” เขาจะคิดต่อ แล้วก็เป็นคนฟังเป็นด้วย แล้วลูกก็ฟังคนอื่นด้วย อันนี้เรื่องสำคัญสำหรับอนาคตด้วย เป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกัน เพราะเป็นการยอมรับความเห็นต่าง

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  รศ.พญ.วนิดา เปาอินทร์ และ นันทิญา จิตตโสภาวดี

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย

นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

OTHER