เรื่องลับเจ้าตัวเล็ก EP.14 คำพูดของพ่อแม่สร้างนิสัยของลูกได้นะ

28 พฤษภาคม 2020 192 ครั้ง

เรื่องลับเจ้าตัวเล็ก EP.14 คำพูดของพ่อแม่สร้างนิสัยของลูกได้นะ

หลายครั้งที่พูดออกไปโดยไม่ตั้งใจ แต่คำพูดเหล่านี้กลับฝังรากลึกส่งผลต่อพฤติกรรมและนิสัยของลูกได้ไม่น้อยเลย วาจาพ่อแม่ศักดิ์สิทธิ์แค่ไหน มาฟังความจริงในเรื่องนี้กันค่ะ

คำพูดของพ่อแม่ศักดิ์สิทธิ์ ถ้าพ่อแม่พูดในสิ่งที่ดีจะเป็นคำอวยพร เป็นมงคลให้กับลูก

 

คำกล่าวด้านบนเป็นเรื่องจริง ทำไมถึงเป็นเรื่องจริง พญ.วนิดา เปาอินทร์ จะมาบอกคุณพ่อคุณแม่กันค่ะ

 

คำพูดของพ่อแม่ศักดิ์สิทธิ์ ก็เพราะว่า ถ้าใครพูดว่าเราเป็นยังไงซ้ำ ๆ ตอนแรกอาจจะไม่เชื่อ แต่ถ้ามันซ้ำมาก และคนนั้นมีอิทธิพล เราก็จะเป็นอย่างที่เราเชื่อ แม้กระทั่งการที่เราพูดกับตัวเอง ถ้าเราเอาแต่พูดว่า “ทำไม่ได้” เราก็จะทำไม่ได้

 

การพูดกับลูกนั้นสิ่งแรกที่พ่อแม่ต้องระลึกถึง คือ การปรับ mind set ถ้าเราบอกตัวเองเสมอว่า “ลูกเราน่ารัก ลูกเราดี ลูกเราคือสิ่งที่เราพอใจ ภูมิใจ ลูกเรามีค่า เราไม่ต้องการตำหนิ ” เวลาเราพูดกับลูกก็มักจะเป็นคำในเชิงบวก แม้พฤติกรรมของลูกจะเป็นลบ แต่คำพูดก็ไม่ออกมาเป็นลบ เราจะหาคำพูดอื่น เพราะไม่มีทางที่เราจะคิดก่อนพูดทุกประโยค 

 

แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าเราไม่ค่อยพอใจลูกเลย หรือถ้าเราคาดหวังลูกในอีกแบบหนึ่ง เมื่อลูกทำไม่ได้แบบที่เราหวัง ประโยคที่เราพูดกับลูกมักจะเป็นด้านลบ

 

สรุปคือ ถ้า mind set เราดี สิ่งที่พ่อแม่พูดหรือแสดงออกไปก็ดีโดยอัตโนมัติ เพราะเราไม่ต้องการตำหนิ แต่ไม่ได้หมายถึงไม่ปรับพฤติกรรมที่ไม่ดีของลูก ถ้าลูกมีพฤติกรรมที่ไม่ดี เราก็ต้องหาวิธีปรับแก้เหมือนกัน แต่วิธีการก็จะไปตาม mind set ของเรา

 

ตัวอย่างคำพูดที่บั่นทอนใจเด็ก แต่มักออกจากปากพ่อแม่อย่างไม่รู้ตัว

 

พ่อแม่ : “ทำไมขี้เกียจ”

 

คุณหมอตอบ : ความจริงแล้ว ลูกอาจจะไม่ได้ขี้เกียจแต่เขาติดอย่างอื่นอยู่ ทำอย่างอื่นอยู่ บางทีเรามองว่าไร้สาระ แต่มันไม่ได้ไร้สาระสำหรับเด็ก แล้วเราไปบอกลูกว่าเขาขี้เกียจ ซึ่งเป็นการตัดสินพฤติกรรม แต่พ่อแม่ไม่ควรตัดสินแบบนั้น เราควรจะย้อนกลับไปดูว่า อะไรเป็นสาเหตุของการไม่ทำสิ่งนั้น

 

พ่อแม่ : “ทำไมชอบเถียง”

 

คุณหมอตอบ : ถ้าพูดแบบนี้ แปลว่า ผู้ใหญ่ไม่ชอบให้เถียง แต่ถ้าเราเปลี่ยนว่า ทำไมหนูถึงมีความเห็นต่าง ๆ นี่ก็มาจาก mind set ก่อน การที่เด็กมีความเห็นต่างจากผู้ใหญ่ได้ ไม่ง่ายนะ เพราะต้องผ่านกระบวนการคิดมาก่อนแล้วจึงพูดออกมา ถ้าเรามองว่าเป็นเรื่องดี ชอบแสดงความเห็นต่าง แล้วเราก็คุยต่อกับลูกว่า ทำไมหนูถึงคิดแบบนั้น ถึงแม้จะมีความรู้สึกว่ามันแปลกก็ตาม ถ้าเรามองว่า การเถียง คือ ไม่มีมารยาท แค่ความคิดเรา เด็กก็ผิดแล้ว

 

พ่อแม่ : “ทำไมโกหก”

 

คุณหมอตอบ : การโกหกคือ การไม่ได้บอกเรื่องจริง บางครั้งไม่ใช่ความเลวร้ายเสมอไป บางครั้งอาจมีความดีซ่อนอยู่ อย่าเพิ่งไปตัดสิน แล้วบอกว่าเด็กคนนั้นไม่ดี บางครั้งอาจเป็นเรื่องดีก็ได้ 

 

วิธีการที่จะจัดการก็คือ ให้ข้ามขั้นตอนสารภาพไป แล้วค่อยวกกลับเข้ามาถึงการพูดความจริงทีหลัง คือ ถ้าเรารู้แล้วว่าเด็กผิด เด็กอาจจะยังไม่รู้ว่าเรารู้ว่าเขาผิด เด็กคนนี้ก็อาจจะไม่บอก ส่วนใหญ่การยอมรับสารภาพคือ การยอมรับว่าตัวเองเป็นคนไม่ดี แต่เด็กส่วนใหญ่ถูกสอนมาว่า เราต้องเป็นคนดี ฉะนั้นการรับสารภาพจึงยากมากสำหรับเด็ก เราต้องทำให้เด็กรู้สึกว่าอยู่กับคนที่ไม่ได้มุ่งเน้นกับคนที่ลงโทษเขาอย่างเดียว แต่ทำให้เด็กอยากรู้สึกที่จะทำตัวดีขึ้น


พ่อแม่ : “ทำไมโง่”

 

คุณหมอตอบ : ถ้าลูกได้ยินคำนี้บ่อย ๆ จะส่งผลให้เขาไม่เชื่อว่าเขาฉลาด ทำให้ความภาคภูมิใจลดลง ความเชื่อมั่นในตัวเองลดลง แล้วก็อาจจะคิดว่า พ่อแม่ไม่ภาคภูมิใจในตัวเขาด้วย

 

ส่วนใหญ่ความหมายว่า “โง่” ที่พ่อแม่พูดออกมา มักเกิดจากการทำอะไรไม่สำเร็จ เราก็ควรไปเปลี่ยนคำอื่น เช่น ลูกทำเลขได้ไม่ดีเท่าวิชาอื่น แต่ไม่ใช้ คำว่าโง่

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  รศ.พญ.วนิดา เปาอินทร์ และ นันทิญา จิตตโสภาวดี

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย

นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

OTHER